“ฮักเห็ดฟาร์ม” ภารกิจขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์สู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
อัพเดต 11 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • กองบรรณาธิการ วารสารพระสยามย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน ตอนที่คุณแพตตี้-ปิตุพร ภูโชคศิริ เชฟร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เพื่อพักผ่อนในช่วงสั้น ๆ ก่อนจะเริ่มต้นงานที่ร้านอาหารแห่งใหม่ในประเทศสิงคโปร์
เธอไม่รู้เลยว่าการตัดสินใจครั้งนั้นจะเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง
ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด 19 เศรษฐกิจโลกพังพินาศ ธุรกิจล้มละลาย ผู้คนตกงาน ทำให้คุณแพตตี้มองเห็นสัจธรรมชีวิตว่าการสร้างความมั่นคงด้านอาหารคือหนึ่งในความยั่งยืนของมนุษย์ และเกษตรอินทรีย์คือทางเลือกที่ตอบโจทย์ทุกข้อ ไม่ว่าจะรายได้ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือความสงบสุข หลังจากลองผิดลองถูกปลูกพืชผักนานาชนิดโดยไม่พึ่งพาสารเคมี ควบคู่กับการแสวงหาองค์ความรู้ผ่านคอร์สอบรมการทำเกษตร ในที่สุดก็สามารถสร้างอาณาจักรเกษตรอินทรีย์ชื่อ “ฮักเห็ดฟาร์ม” (Hug Hed Farm) บนพื้นที่ 7 ไร่ในบ้านเกิดตัวเองได้สำเร็จ
ล่วงเลยมา 5 ปีจนถึงวันนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย นอกจากฮักเห็ดฟาร์มจะปลูกผักออร์แกนิกที่ได้คุณภาพ ผ่านมาตรฐานระดับสากลภายใต้เครื่องหมาย Organic Thailand เธอยังจับมือกับชาวบ้านในขอนแก่น ก่อตั้งเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เพื่อรวบรวมผลผลิตส่งไปจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
วารสารพระสยาม BOT MAGAZINE ชวนไปรับฟังเรื่องราวความสำเร็จอันเป็นต้นแบบของคุณแพตตี้ ที่นอกจากจะช่วยยกระดับรายได้ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้น ยังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนที่อยากกลับคืนสู่ภูมิลำเนาเพื่อทำการเกษตรที่ยั่งยืนอีกด้วย
5 ปีแห่งการล้มลุกคลุกคลาน
ก่อนที่ฮักเห็ดฟาร์มจะโด่งดังมีชื่อเสียงอย่างทุกวันนี้ คุณแพตตี้ยอมรับว่าไม่มีอะไรง่ายเลย เธอพานพบความล้มเหลวหลายครั้ง เหน็ดเหนื่อยตรากตรำอยู่หลายฤดู เผชิญกับภัยธรรมชาติ เงินทุนร่อยหรอ เสียงวิจารณ์เชิงลบ แต่ยังยืนหยัดสู้จนกระทั่งเมล็ดพันธ์ุที่หว่านลงไปเริ่มออกดอกออกผล
“ถามว่า 5 ปีที่ผ่านมา อุปสรรคท้าทายที่สุดของการทำเกษตรอินทรีย์คืออะไร เรามองว่าแต่ละปีอุปสรรคความท้าทายแตกต่างกันไป ปีแรกเป็นปีแห่งการลองผิดลองถูก เพราะเรายังไม่รู้และไม่เข้าใจว่าพืชผักแต่ละชนิดมีวิธีปลูกอย่างไร ไหนจะสภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ต้องปรับตัวเยอะมากในปีแรก พอเข้าปีที่ 2 เริ่มผลิตได้แล้ว ความยากอยู่ที่การบริหารจัดการว่าหลังเก็บเกี่ยวต้องทำอะไรบ้าง ปีที่ 3 เริ่มให้ความสำคัญกับการตลาด เมื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกมาแล้วเราจะส่งของไปถึงมือลูกค้ายังไง จะเอาไปขายที่ไหน ทำยังไงให้คนรู้จักเรามากขึ้น ปีที่ 4 และปีที่ 5 คือการรักษาความต่อเนื่อง ทำยังไงให้เรารักษามาตรฐานที่ทำมาดีแล้วให้ดีต่อไป”
Mindset คือสิ่งสำคัญที่เกษตรกรต้องมี — เราเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำมากแค่ไหน
“ทำเกษตรอินทรีย์จิตใจต้องหนักแน่น เวลาเห็นผักสวย ๆ ที่ใช้สารเคมีก็อาจเผลอใจอยากเปลี่ยนไปทำแบบคนอื่น อยากให้ผักงาม โตไว ผลิตได้มาก ๆ ขายได้เยอะ ๆ สุดท้ายก็ไขว้เขว เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจการทำเกษตรอินทรีย์อย่างถ่องแท้ หาทิศทางที่ชัดเจนว่าจะเดินไปทางไหน ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เหมาะสม มั่นคงแน่วแน่ แล้วลงมือทำด้วยความเชื่อมั่น”
ใส่คำบรรยายภาพ
สร้างจุดเด่นให้แบรนด์ด้วย Storytelling
แนวคิดในการทำเกษตรอินทรีย์ของคุณแพตตี้ นอกจากความใส่ใจเรื่องคุณภาพ การสร้าง branding ให้คนจดจำและการหาช่องทางการตลาดให้เจอเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งคนทำเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่มักตกม้าตายเรื่องนี้
“ถึงแม้เราจะผลิตของดีมีคุณภาพจนได้มาตรฐาน Organic Thailand แต่ถ้าสังคมไม่รับรู้มันก็ขายไม่ได้ การที่เราพาฮักเห็ดฟาร์มไปออกอิเวนต์ ขึ้นเวทีเสวนา หรือสร้างเพจเฟซบุ๊ก เพราะอยากให้คนเห็นสินค้าเราบ่อย ๆ จนอยากรู้จักว่าเราเป็นใคร ทำอะไร ทำไมไปไหนก็เจอ การทำให้ลูกค้าเห็นเราในทุกที่ที่ไปจะทำให้เขารู้สึกว่าสินค้าเราเข้าถึงง่าย หาซื้อง่าย”
“การทำ branding ถือเป็นเรื่องจำเป็นในการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะเราไม่ได้มีคู่แข่งแค่ภายในประเทศ ผักจากต่างประเทศที่นำเข้ามาก็เป็นคู่แข่งเหมือนกัน ทำยังไงให้ผู้บริโภครับรู้ว่านี่คือผักของไทย ปลูกโดยเกษตรกรไทย ด้วยกรรมวิธีที่ดีและได้มาตรฐาน เราจึงใส่ storytelling ลงไปในผลิตภัณฑ์เราทุกชิ้น ลูกค้าจะได้เห็น story ตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่เตรียมดิน เพาะปลูก เก็บเกี่ยว บรรจุหีบห่อ จนเขาเกิดความเชื่อมั่น รู้สึกถึงคุณค่าที่เราถ่ายทอดออกไป”
ใส่คำบรรยายภาพสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ยกระดับชีวิตชาวบ้าน
นิยามความสำเร็จมิได้จำกัดความหมายเพียงแค่เรื่องรายได้ ชื่อเสียงเกียรติยศ หรือรางวัลเท่านั้น แต่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเคยทำเกษตรแบบดั้งเดิม ให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
ที่ผ่านมาคุณแพตตี้ร่วมกับเกษตรกรรุ่นใหม่ใน จ.ขอนแก่น ก่อตั้งเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เพื่อรวบรวมผลผลิตกระจายไปขายตามที่ต่าง ๆ รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ให้ชาวบ้านที่สนใจ จนกลายเป็นกลุ่มที่มีความสมัครสมานสามัคคี และมีแนวโน้มว่าจะขยายเพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ
“ตอนแรกไม่ได้คิดเรื่องการรวมกลุ่มเลย เราอยากทดสอบตัวเองก่อนว่าการทำเกษตรอินทรีย์มันยั่งยืนจริงหรือเปล่า พูดง่ายๆ ว่า ควรทำให้สำเร็จเป็นตัวอย่างก่อนแล้วค่อยคิดไปช่วยเหลือคนอื่น ช่วงแรกเริ่มชักชวนกันมาทำไม่ถึงสิบคน แต่ทุกวันนี้เรามีเกษตรกรในเครือข่ายนับร้อยชีวิตแล้ว มีช่องทางการขายเพิ่มขึ้น มีตลาดที่มั่นคง เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าปลูกเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย (หัวเราะ) อนาคตอยากให้เครือข่ายมีความยั่งยืนมากขึ้น เรามองถึงขั้นว่าทุกฟาร์มจะต้องมีแบรนด์ของตัวเอง มีชื่อฟาร์ม มีโลโก มีีเฟซบุ๊กเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคทั่วประเทศเข้าถึงได้”
ความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกสร้างความภาคภูมิใจให้คุณแพตตี้อย่างมาก อะไรจะน่าชื่นใจไปกว่าการได้เห็นพี่น้องเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เสริม มีองค์ความรู้ทันสมัยสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลายคนลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง มีเงินทุนสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน บางคนสามารถปลดหนี้บางส่วนได้ ยังไม่นับความสุขที่ได้กลับบ้านมาอยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา
“ก่อนหน้านี้ไม่รู้สึกเลยว่าเราเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับใคร ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมถึงมีคนที่ลุกขึ้นมาทำเพื่อคนอื่น แต่พอได้มาเห็นตัวเองในตอนนี้ก็รู้สึกดีมาก วันนี้ค้นพบแล้วว่าสิ่งที่ได้กลับมามันล้ำค่าเหลือเกิน”
ชีวิตใหม่บนเส้นทางสู่ความยั่งยืน
ว่าที่ ร.ต.หญิง นฐกมล แน่นอุดร หรือ “คุณแหวว” เจ้าของฟาร์มปันดี อ.ชนบท จ.ขอนแก่น หนึ่งในเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ แรงบันดาลใจที่ทำให้เธอเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์คือเรื่องสุขภาพของคนในครอบครัว
“จุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดว่าถ้าเราจะขายผักให้ลูกค้า เราก็ต้องกินผักในสวนของเราด้วย ถ้าอยากให้พ่อแม่มีสุขภาพดี อาหารที่เราให้พ่อแม่กินก็ต้องมีคุณภาพ อร่อย และปลอดภัย โจทย์สำคัญน่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ เราเชื่อว่าถ้าสุขภาพดี การลงมือขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม ก็จะมีชัยไปกว่าครึ่ง”
ปัจจุบันฟาร์มปันดีเป็นสวนเกษตรผสมผสานบนพื้นที่กว่า 10 ไร่ ทั้งเลี้ยงปศุสัตว์ ทำประมง ปลูกข้าวอินทรีย์ ปลูกผักปลอดสารพิษ ผักทุกชนิดในฟาร์มล้วนได้มาตรฐาน Organic Thailand
“การปลูกผักออร์แกนิกต้องใช้ความขยันและความใส่ใจเพิ่มขึ้น 3-5 เท่าจากปกติ ซึ่งผักอาจไม่ได้สวยเหมือนผักเคมี แต่รับรองว่าสดกรอบ อร่อย และปลอดภัยแน่นอน ทุกวันนี้ฟาร์มปันดีเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ด้วย จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้าน พร้อม ๆ กับการอุทิศตนทำงานเพื่อชุมชน ถ้าเราทำสำเร็จก็จะสามารถสร้างแหล่งอาหารที่มั่นคง คุณภาพดี ปลอดภัย ทำให้ครอบครัวกินดี อยู่ดี มีสุขภาพดี”
ขณะที่คุณกรุณาพร วงษ์ละคร หรือ “คุณใหม่” เจ้าของสวนกตัญญู อ.เมือง จ.ขอนแก่น อดีตพนักงานบริษัทเอกชนที่เลือกกลับคืนสู่ภูมิลำเนาเพื่อทำการเกษตร เธอต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อโน้มน้าวครอบครัวให้ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์
“6 ปีก่อนเรายังเป็นพนักงานออฟฟิศ ส่วนพ่อแม่ทำไร่อ้อยและไร่มันสำปะหลัง พอตัดสินใจลาออกกลับบ้านมาทำเกษตรในวิถีที่เราเชื่อ ความยากอยู่ตรงการพูดคุยทำความเข้าใจกับพ่อแม่ เพื่อขออนุญาตเปลี่ยนจากการทำพืชไร่อย่างเดียวมาเป็นเกษตรผสมผสาน
“แนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์เริ่มจากการอยากมีสุขภาพที่ดี ทุกวันนี้อาหารการกินของเราปนเปื้อนสารเคมีเยอะ นำมาด้วยโรคภัยไข้เจ็บ การตัดสินใจปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมีเต็มไปด้วยความยากลำบากและใช้เวลาพอสมควรกว่าจะสำเร็จ”
อาณาจักร 27 ไร่ของสวนกตัญญูประกอบด้วยนาข้าวอินทรีย์ ฟาร์มปศุสัตว์ บ่อเลี้ยงปลา หอย กุ้งฝอย แปลงผักผลไม้ออร์แกนิก รวมถึงพืชไร่ก็ยังคงทำควบคู่ไปด้วย คุณใหม่ยอมรับว่าเกิดมาเป็นลูกหลานเกษตรกรที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย ต้องแบกรับมรดกหนี้ต่อมาจากรุ่นบรรพบุรุษ แต่ใครจะเชื่อว่าเกษตรอินทรีย์สามารถช่วยชี้ทางสว่างให้แก่ชีวิตได้
“เราวางแผนการทำเกษตรออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือการทำไร่ เรายังทำไร่อ้อยกับไร่มันสำปะหลังอยู่ ปีนึงถ้าขายผลผลิตได้ก็จะเอาเงินก้อนนั้นไปชำระหนี้ อีกส่วนหนึ่งเราทำสวนเกษตรผสมผสาน เงินที่ได้จากส่วนนี้จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายรายวัน ค่ากินอยู่ ค่าน้ำ ค่าไฟ แม้จะยังไม่สามารถปลดหนี้ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยเราก็สามารถแบ่งสันปันส่วนได้ชัดเจนขึ้น”
คำแนะนำสำหรับใครที่ฝันอยากกลับบ้านเกิดมาทำเกษตรอินทรีย์ สิ่งสำคัญคือต้องวางแผนอย่างรอบคอบ
“ถ้าอยากกลับบ้านมาทำการเกษตรอินทรีย์ ก็ควรศึกษาว่าพื้นที่เราเหมาะจะปลูกอะไร และปลูกในช่วงสภาพภูมิอากาศแบบไหน ข้อต่อมาคือเงินเก็บถือเป็นเรื่องสำคัญมาก การทำเกษตรอินทรีย์ต้องลงทุนค่อนข้างเยอะ แนะนำให้เริ่มจากกำลังที่เรามี อย่าพึ่งทุ่มทั้งหมด ให้ลองแบ่งเงินทุนมาลองทำดูก่อนว่าทำได้ไหม ไปไหวไหม ถ้ามองเห็นหนทางก็ค่อยเติมเงินใหม่ลงไปเรื่อย ๆ”
“เมื่อดูจากสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งภัยพิบัติ โรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ การเลือกทำเกษตรอินทรีย์ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เราอยู่ในสวนของเรา ชอบกินอะไรเราก็ปลูกอย่างนั้น ยิ่งทำเกษตรผสมผสาน ยิ่งไม่มีวันอด ถ้าพูดตรง ๆ อาชีพเกษตรกรไม่ใช่อาชีพที่จะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำถึงขั้นร่ำรวย แต่สิ่งที่ทำให้เห็นชัดเจนคือต่อให้เกิดภาวะใดก็ตาม เราก็ยังสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้”
วอนภาครัฐช่วยเหลือหนี้สินเกษตร
คุณประสพ คนทา ประธานกองทุนหมู่บ้าน อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ฉายภาพรวมของปัญหาหนี้สินภายในชุมชนให้ฟังว่า
“ส่วนใหญ่พี่น้องเกษตรกรชาวอีสานมีหนี้สินด้วยกันทั้งนั้น เวลากู้เงินก็มักจะเอาไปลงทุนทำอ้อย ไร่มันสำปะหลัง คนทำเกษตรอินทรีย์ยังมีไม่เยอะ หน้าที่ของเราคือการลงพื้นที่เชื่อมประสานในแต่ละชุมชน ให้คำแนะนำชาวบ้านเกี่ยวกับการกู้หนี้ยืมสินจากภาครัฐหรือภาคเอกชน รวมถึงวิธีจัดการหนี้และการออมเงินสำหรับเป็นทุนสำรองฉุกเฉินยามประสบปัญหาต่าง ๆ”
“ที่ผ่านมาเราสนับสนุนให้ชาวบ้านทุกคนสมัครสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือกองทุนฌาปนกิจเพื่อออมเงินเข้าสู่ระบบ เมื่อถึงเวลาเสียชีวิตลง เงินทั้งหมดจะถูกส่งคืนกลับไปสู่ครอบครัวให้ลูกหลานไว้ใช้จ่าย นำไปใช้หนี้ หรือจะเก็บไว้ลงทุนสร้างเนื้อสร้างตัว”
สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรระยะยาว คุณประสพฝากส่งเสียงไปถึงรัฐบาลว่า อยากให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนงบประมาณลงมาสู่ประชาชนเรื่อย ๆ เพื่อให้ชาวบ้านมีเงินหมุนไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จะได้ไม่ต้องเอาหลักทรัพย์ไปจำนองจำนำหรือกู้หนี้ยืมสินเพิ่ม ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถออกจากวังวนของหนี้ได้
เป้าหมายต่อไป ส่งเสริมเกษตรกรสูงวัยปลูกผักออร์แกนิก
กลับมาที่อนาคตของฮักเห็ดฟาร์มในมุมมองของคุณแพตตี้ คือการสร้าง Organ Hub ซึ่งเป็นศูนย์กลางของคอมมิวนิตีของเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร สร้างเครือข่ายเกษตรกรที่ปลูกผักออร์แกนิกให้ได้คุณภาพตรงตามมาตรฐาน รวบรวมผลผลิตของฟาร์มต่าง ๆ ในเครือข่าย สร้างช่องทางการตลาด กระจายไปให้ถึงมือผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด From Local to Global
อีกหนึ่งเป้าหมายที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้เข้ามาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างรายได้หลังเกษียณ ทั้งยังสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจในตัวเองด้วย
“เป้าหมายในสิบปีนี้ เราพยายามผลักดันให้คนสูงวัย คนวัยเกษียณ ให้มีกิจกรรมยามว่าง มีคอมมิวนิตี บางคนเคยทำงานมาทั้งชีวิตพอเกษียณปุ๊บก็รู้สึกตัวเองว่างเปล่า ถึงขั้นป่วยเป็นโรคซึมเศร้าก็มี ถ้าเราชักชวนให้มาทำเกษตร เขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ดังนั้นเราก็จะเอาของไทบ้าน ซึ่งคำว่า ไทบ้านในที่นี้หมายถึงผักพื้นบ้าน เพื่อให้คนบ้าน ๆ วัยเกษียณ โดยเฉพาะเกษตรกรที่เคยทำไร่ขนาดใหญ่ให้หันมาทำไร่แบบเล็ก ๆ เรียกว่าเกษตรประณีต เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีทักษะพิเศษคือความอดทนและความละเอียดประณีต ถือเป็นจุดเด่นของการทำเกษตรอินทรีย์ ถ้าเราพาคนกลุ่มนี้เข้ามาทำ แล้วเอาผลผลิตที่ได้ไปขายในเมือง เชื่อว่าความภาคภูมิใจมันจะเกิดขึ้นทั้งคนซื้อ และคนขาย ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุข”
ในฐานะคนคืนถิ่นที่ตัดสินใจกลับบ้านเกิดเพื่อแสวงหาความยั่งยืนของชีวิต คุณแพตตี้ถ่ายทอดความรู้สึกปลาบปลื้มใจให้ฟังว่า
“สิ่งสำคัญคือต้องหาจุดยืนให้ชัดเจนว่าเรากลับมาเพื่ออะไร หลายคนอยากกลับมาทำธุรกิจที่บ้านให้ร่ำรวย ซึ่งเศรษฐกิจทุกวันนี้พูดเลยว่ามันยาก ลำพังแค่คิดในหัวว่าจะทำอะไร เช้าวันต่อมาเผลอ ๆ มีคนทำแบบที่เราคิดไปแล้ว โลกหมุนเร็วมาก สำหรับตัวเองแล้วไม่ได้คาดหวังว่าจะกลับมาทำธุรกิจให้ร่ำรวย แต่อยากกลับมาอยู่กับครอบครัว ได้เห็นลูกหลานเติบโต ได้ดูแลพ่อแม่ ยิ่งพอมาทำเกษตรอินทรีย์มันเหมือนเป็นศูนย์รวมจิตใจของครอบครัว พ่อแม่ญาติพี่น้องทุกคนมาช่วยกันทำคนละไม้ละมือ รู้สึกว่าความสุขมันอยู่ตรงนี้เอง ไม่ได้อยู่ไหนไกลเลย
“ที่สำคัญที่สุดคือ อย่าไปกลัวว่ามันจะประสบความสำเร็จไหม หรือจะล้มเหลว เพราะในชีวิตเราไม่ว่าจะทำอะไรก็จะเจอทั้ง 2 อย่างนี้ตลอดอยู่แล้ว คือไม่สำเร็จก็ล้มเหลว เราแค่ใช้ชีวิตอยู่กับมัน มองให้เป็นเรื่องธรรมชาติ วันนี้แดดออก พรุ่งนี้ฝนตก ทุกนาทีมันสามารถเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราอยากให้เขามีเป้าหมาย มีจุดยืน อดทนและพยายาม ความพยายามจะนำพาเราไปสู่สิ่งดี ๆ ในอนาคตได้แน่ ๆ”
เสียงสะท้อนจาก ธปท.
ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส และทีมงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเชิญคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลงพื้นที่เยี่ยมฮักเห็ดฟาร์มว่า อยากให้ทุกคนเห็นตัวอย่างเกษตรกรคืนถิ่นของภาคอีสานที่ประสบความสำเร็จ สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอง ทั้งยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ ได้ด้วย
“ที่ผ่านมา ธปท. มีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองทางเศรษฐกิจกับผู้ประกอบการมาโดยตลอด ภายใต้โครงการ Business Liaison Program หรือ BLP เพื่อนำข้อมูลจริงเหล่านี้มาประกอบการทำนโยบายการเงิน โดยสำนักงานภาคต่าง ๆ ถือเป็น node สำคัญที่ใกล้ชิดและเข้าถึงผู้ประกอบการ เกษตรกรในท้องถิ่น และหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง
“ครั้งนี้เราได้พาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มาร่วมลงพื้นที่เพื่อให้เห็นมุมมองจากภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมากยิ่งขึ้น เพราะคนอีสานส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และมักมีมรดกหนี้ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น การแก้หนี้อย่างยั่งยืนไม่ใช่เพียงการแก้ไขหนี้เดิม แต่ต้องเพิ่มรายได้ ฮักเห็ดฟาร์มเป็นตัวอย่างที่สามารถปรับตัว พัฒนาการทำเกษตรกรรมให้มีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้มีรายได้มากขึ้น และสามารถบริหารจัดการหนี้ได้อย่างยั่งยืน”
ขณะที่คุณรพี สุจริตกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กนง. ถ่ายทอดความรู้สึกหลังจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม กนง. สัญจรขอนแก่นว่าถือเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง
“ผมว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก เพราะว่าเวลาเราประชุม กนง. มักจะเห็นแต่ตัวเลข ซึ่งทุกอย่างมันไม่สามารถจะจับต้องได้ แต่พอได้มาลงพื้นที่พบปะกับผู้ประกอบการ เราได้เห็นเรื่องการต่อสู้อุปสรรคปัญหาที่พวกเขาต้องพบเจอ การปรับตัว รวมถึงแผนที่เขาต้องทำต่อไปเพื่อให้รอดพ้นจากสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ ทั้งหมดนี้ทำให้ กนง. ได้เข้าใจถึงภาพเศรษฐกิจเฉพาะด้านมากกว่าภาพรวม
“สิ่งที่ประทับใจมากอีกอย่างคือ คนท้องถิ่นเขามีความรักซึ่งกันและกัน อยู่กันเป็นชุมชน และมีสุขภาพค่อนข้างดี ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่เราอาจไม่ได้เจอในเมืองหลวง ซึ่งทุกอย่างมันถูกขับเคลื่อนด้วยการเงิน แต่ที่นี่เขามองผลประโยชน์ระยะยาวของชาวบ้านจริง ๆ และความรู้ที่เขามีก็สามารถจะต่อยอดได้อีกไม่รู้จบ”