ทำไมคนเรารู้สึกสมน้ำหน้า เมื่อเห็นคนอื่นล้ม
ทำไมคนเรารู้สึก “สมน้ำหน้า” เมื่อเห็นคนอื่นล้ม
จิตวิทยาความรู้สึกที่เห็นใครดีกว่าตัวเองไม่ได้
"คนพลาดอย่าซ้ำ คนล้มอย่าข้าม"
วลีโลกสวยสำหรับเอาไว้พูดเท่ห์ๆ เมื่อเห็นคนที่ล้มเหลวหรือทำผิดพลาดบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็อาจจะมีคนที่คิดแบบนี้จริงๆ แต่ก็จะมีคนอีกจำนวนมากที่รู้สึกสะใจ สมน้ำหน้า ที่เห็นคนอื่นซึ่งเราอาจจะรู้จักหรือไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวเกิดล้มเหลวผิดพลาด แล้วมันดันแสดงออกมาด้วยสันชาตญาณของมนุษย์ที่เห็นคนอื่นตกต่ำ แล้วรู้สึกฟินรู้สึกมีความสุข
จริงๆ แล้วเรื่องแบบนี้ในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เองก็มีชื่อเรียกว่า เรียกว่า "Schadenfraude" (อ่านว่า ชาเดินฟร็อยเดอ) มีที่มาจาก schaden แปลว่า ความเสียหายหรืออันตราย กับ freude ที่แปลว่าความสุข ซึ่งมีรากของคำมาจากภาษาเยอรมันเป็นหลักจิตวิทยาของความสะใจเวลาเห็นคนอื่นเป็นทุกข์ ปรากฏครั้งแรกในงานเขียนภาษาอังกฤษในปี 1853 ใช้พูดถึงอาการที่คนเราแอบดีใจ สะใจ หรือมีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น ทั้งที่เราก็รู้ดีว่ามันเป็นความรู้สึกอันตราย เป็นความรู้สึกที่ไม่ดี แต่ก็ถือเป็นความสุขเล็กๆ ของคนเราอยู่ดี
อารมณ์สมน้ำหน้าคนอื่นเป็นเรื่องที่มีการวิจัยมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์กําลังคลี่คลายรากฐานทางระบบประสาทอย่างช้าๆ พวกเขาใช้ทฤษฎีกว้างๆ 3 ข้อเพื่ออธิบายสภาวะ Schadenfraude ซึ่งรากฐานของมันเกิดจากความ "อิจฉาริษยา"
หากคุณอิจฉาความสำเร็จของใครบางคน ก็มีแนวโน้มที่จะได้รู้สึกอยากจะให้เขาสูญเสียความสำเร็จนั้นไป บางคนมีอาการนี้เมื่อพวกเขารู้สึกว่าคนอื่นสมควรได้รับความโชคร้าย
ยกตัวอย่างสังคมมีประเด็นข่าวที่จะต้องมีทั้งเหยื่อหรือผู้เสียหาย บรรดาผู้รับสารจะแบ่งเป็น 2 พวกเสมอ คือ พวกที่เห็นใจและพร้อมให้กำลังใจ
กับอีกพวกคือพวกแอนตี้ คือ พวกที่มาเพื่อเหยียบซ้ำ (แม้จะแค่ในใจ) คนกลุ่มนี้มักจะแอบเหลือบตามองบนแล้วยิ้มอย่างสะใจเหมือนตัวร้ายในละคร เวลาที่เห็นคนที่รู้สึกไม่ชอบหน้า ไม่ถูกชะตา หรือเกลียดขี้หน้าตกที่นั่งลำบาก
ความรู้สึกที่เหมือนเป็นตัวร้ายที่แอบยิ้มเยาะเวลาเห็นคนอื่นตกที่นั่งลำบากนั้น อธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยา ที่สำคัญมันไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรถ้ามนุษย์ปุถุชนจะมีความรู้สึกแบบนี้ เพียงแต่มันเป็นความคิดและความรู้สึกที่อันตรายมากเท่านั้นเอง หากเราปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ
ในการศึกษาเมื่อปี 2011 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Emotion นักวิจัยพบว่า ผู้ที่รู้สึกดีเกี่ยวกับความล้มเหลวของคนอื่นอาจมีปัญหาในการนับถือตนเอง เป็นคนที่มีความนับถือตนเองต่ำ รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกตัวเองไม่มีค่า และรู้สึกอิจฉารุนแรงมากขึ้นต่อผู้ประสบความสำเร็จสูง เพราะไม่สามารถพาตัวเองไปถึงจุดนั้นได้ จึงขอแค่ให้เขาล้มก็พอเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าไม่ได้เป็นคนเดียวที่ล้มเหลว
เมื่อเขาล้มเหลว เราจะรู้สึกว่าเขาที่เคยอยู่เหนือกว่า กลายเป็นอยู่ต่ำกว่าหรืออยู่ในระดับเดียวกัน ความรู้สึกที่ว่านี้จะเรียกว่าอิจฉาริษยาก็ได้ แตกต่างกันเล็กน้อยคือ อิจฉาริษยา เราไม่เพียงแต่ไม่อยากเห็นเขาได้ดีกว่า หรือเห็นเขาได้ดีแล้วจะไม่พอใจ แต่จะแฝงไปด้วยความรู้สึกอยากจะมีหรือเป็นอย่างเขาบ้าง หรือทนนิ่งดูเขาได้ดีกว่าไม่ได้
Simone G. Shamay-Tsoory ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของ University of Haifa อธิบายว่าสิ่งนี้คือกลไกการป้องกันตัวเองของมนุษย์ในทางจิตวิทยา เมื่อเห็นคนที่เกลียดพลาด จะทำให้รู้สึกว่าเขาลงมาอยู่ในระดับเดียวกับเรา เราจึงรู้สึกดีที่ได้เห็นเขาได้ลิ้มรสความโชคร้ายเสียบ้าง รสชาติที่เราได้รับมันมาตลอดนั่นเอง
อันที่จริงมันจะไม่อันตรายเลยหากว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นเกิดอยู่ภายในจิตใจ แล้วก็ลืมๆ จบๆ ไป แต่ถ้าหากมันแสดงออกมาไม่ว่าจะทั้งวาจา การกระทำ หรือแม้แต่บนโซเชียลมีเดียถึงบุคคลที่เราต้องการจะสมน้ำหน้านั้น มันอาจเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก ทั้งแต่สภาวะจิตใจของผู้ที่รู้สึก หรือแม้แต่คนที่โดนกระทำ เพราะว่ากำลังมีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น แสดงออกว่าสะใจคนที่กำลังตกทุกข์ เห็นเป็นเรื่องสนุก มีความสุข
จึงไม่แปลกที่เวลามีคนดังตกเป็นข่าวฉาว แล้วจะมีอีกฝั่งที่แสดงออกชัดเจนว่ากำลังเหยียบซ้ำ ด้วยความที่คนเหล่านี้ไม่มีในสิ่งที่คนดังเหล่านั้นมี ฉะนั้น หากคนดังทำอะไรที่ผิดกติกาของสังคมเพียงนิดเดียว จะมีดราม่าทัวร์ลงตามมามหาศาล เริ่มมาจากความไม่พอใจส่วนตัว ที่รอให้คนดังเหล่านี้ล้มแล้วเหยียบซ้ำ
มีผลวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Science เมื่อปี 2009 ระบุว่าความรู้สึก Schadenfreude มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการทำงานของสมองด้วย จากการทำงานของสมองส่วน Ventral Triatum ซึ่งเป็นส่วนที่มักคิดว่าเราควรให้รางวัลตัวเองเมื่อประสบความสำเร็จ ในกรณีนี้ที่สมองสั่งให้เรามีความสุข เพราะเรารู้สึกอยู่เหนือกว่าเขา ทั้งที่เราไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไร แต่มันเป็นเพราะเขาล้มต่างหาก
แต่ Dr. Mina Cikara นักจิตวิทยาจาก Harvard University ก็มองว่า Schadenfreude ไม่ได้เป็นการทำงานของสมองเสียทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากสัญชาตญาณดิบที่อยู่ในก้นบึ้งของหัวใจ หรือจะเรียกว่าเป็นตัวตนด้านมืดอีกด้านที่มนุษย์ซ่อนไว้ในจิตใต้สำนึก
โดยสรุปแล้วสภาวะนี้ก็เป็นกลไกการป้องกันความเจ็บปวด ผิดหวังของมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหากว่าความรู้สึกนั้นไม่ได้แสดงออกมาจนทำร้ายผู้อื่น โดยพื้นฐานแล้วความอิจฉาริษยาคนที่เรารู้สึกว่าเขาอยู่เหนือกว่าเป็นธรรมชาติของคน
แต่ถ้าเรารู้สึกคล้อยตามไปกับมัน รู้สึกเสพติดไม่สามารถคิดในแง่บวกได้ มันก็ส่งผลกระทบ่อสุขภาพจิตในระยะยาวได้เช่นกัน ที่สำคัญมันจะยิ่งลดทอนความเป็นคนในจิตใจของเราให้ค่อยๆ หายไป แล้วกลายเป็นคนที่น่ารังเกียจที่จะแสดงพฤติกรรมที่ไร้ความน่าคบหาออกมาในทางใดทางหนึ่งให้คนอื่นได้สัมผัสได้