CEO แบงก์ กังวลพิษภาษีสหรัฐฯ รีด “ไทย” ทุบเศรษฐกิจ “ทรุดแรง”
ผ่านมาแล้วกับครึ่งปีแรกของปี 2568 ถือว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวผิดฟอร์มจากที่ “รัฐบาล” ตั้งเป้าหมายว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะเติบโตได้ที่ 3% อาจจะลดเหลือเพียง 1% นับจากเกิดปัจจัยที่เป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีมากขึ้น ตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหว ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของไทยชะลอตัวลงชัดเจน
จากแรงสั่นสะเทือนนี้ยังไม่ทันหาย ทั่วโลกกลับต้องเผชิญกับ “ภาษีสหรัฐฯ” ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกเก็บในอัตราสูลลิบลิ่ว ซึ่งไทยก็โดนเก็บภาษีส่งออกไปสหรัฐฯ ถึง 36% โดยระหว่างนี้ “ทีมรัฐบาล” กำลังพยายามเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอลดอัตราภาษี โดย “ทรัมป์” ได้ขีดเส้นตายให้เจรจาสำเร็จก่อนวันที่ 1 ส.ค.68
สำหรับกรณีเลวร้ายที่สุด “รัฐบาล” ทำไม่สำเร็จ สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ “การส่งออก-ภาคอุตสาหกรรม” จะได้รับผลกระทบหนัก จนถึงขั้นเป็นระเบิด “เศรษฐกิจไทย”
สะท้อนผ่านมุมมองของผู้บริหารกลุ่มสถาบันการเงิน นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2568 มีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการใช้จ่ายของภาคเอกชน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งสอดคล้องกับการปรับลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นทั้งในฝั่งผู้บริโภคและภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งในส่วนของรายจ่ายประจำและรายจ่ายเพื่อการลงทุนหดตัวลง เพราะเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อนที่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 เริ่มมีผลต่อเศรษฐกิจ
นางสาวขัตติยา กล่าวว่า สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตในระดับต่ำกว่าครึ่งแรกของปีค่อนข้างมาก หรือมีความเสี่ยงที่จะไม่เติบโต เนื่องจากการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวลึกหลังจากขยายตัวสูงไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรก ประกอบกับอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่จะเก็บจากสินค้าไทยอาจสูงกว่าคู่แข่งสำคัญหลายประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อบรรยากาศการลงทุน
“ขณะที่แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอลงแรง แต่เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทำได้เพียงในระดับจำกัด นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะมีผลกดดันต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2569 ด้วยเช่นกัน”นางสาวขัตติยากล่าว
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความท้าทายของปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบ โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ธนาคารสนับสนุนมาตรการภาครัฐอย่างเต็มที่ เช่น โครงการคุณสู้เราช่วย และมาตรการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่ลดลงเพื่อแบ่งเบาภาระของลูกค้า สนับสนุนให้ลูกค้าสามารถดำเนินชีวิต และธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 2568 ยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะจากการเร่งส่งออกสินค้า ก่อนสหรัฐฯ ปรับอัตราภาษีศุลกากรสูงขึ้น ส่วนในครึ่งปีหลัง ต้องเตรียมรับมือกับภาษีศุลกากรที่อาจจะสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว กระทบกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยคาดว่าจะทำให้การส่งออกสินค้าไทยชะลอตัว และสินค้าที่มีอุปทานส่วนเกินในต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในประเทศ เพิ่มขึ้น กระทบผู้ประกอบการ ห่วงโซ่อุปทานและแรงงานที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอตัว
“นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความเปราะบางจากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและเศรษฐกิจนอกระบบที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางพายุแห่งการ เปลี่ยนแปลงของโลกครั้งใหญ่ที่มีผลกระทบกับชีวิตผู้คน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและประเทศ”นายผยงกล่าว
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน การบริโภค และความต้องการสินเชื่อ กรุงศรียังคงสามารถรักษาระดับผลการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงครึ่งแรกของปี 2568
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 มีแนวโน้มอ่อนแรงต่อเนื่อง ภายใต้บริบทความเสี่ยงจากมาตรการเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย
“นอกจากนี้ ความท้าทายจากการฟื้นตัวที่ช้ากว่าคาดการณ์ในภาคการท่องเที่ยว ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับที่สูง และประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ต่อเนื่องในปี 2569 ทั้งนี้ สำหรับปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับ 2.1%”นายเคนอิจิกล่าว