"วิภา" ถล่มหนักไทยลุ้นน้ำท่วมเหนือ-อีสาน ฟิลิปปินส์อพยพค่อนแสน
วันนี้ (22 ก.ค.2568) พายุวิภา พัดขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของเวียดนามด้วยความเร็วลม 102 กม./ชม. ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน และมีความเสี่ยงดินถล่มในหลายพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย ฟิลิปปินส์ และลาว ประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน เตรียมรับมือฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเร่งเสริมคันกั้นน้ำและอพยพทรัพย์สินในพื้นที่เสี่ยง
เวียดนาม-ลาวฝนฟ้าคะนอง ฟิลิปปินส์อพยพหนัก
เวียดนาม พายุวิภาพัดขึ้นฝั่งตอนเหนือเมื่อเช้าวันนี้ ทำให้กรุงฮานอยเงียบเหงา ร้านค้าปิด ประชาชนถูกขอให้อยู่บ้านและย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยง คาดฝนตกหนักถึง 500 มม. ส่งผลให้ไฟฟ้าดับและสนามบินบางแห่งปิดชั่วคราว ทางการเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในหลายพื้นที่
ฟิลิปปินส์ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (18 ก.ค.) พายุวิภาทำให้ฝนตกหนักในกรุงมะนิลาและพื้นที่รอบ ๆ น้ำท่วมสูงถึงระดับเข่าหรือเอวในบางจุด ถนนหลายสายจมน้ำ การเดินทางลำบาก โรงเรียนและหน่วยงานราชการปิดเป็นวันที่ 2 หลังฝนตกทั้งคืนทำให้แม่น้ำล้นตลิ่ง มีผู้เสียชีวิต 6 คน สูญหาย 2 คน และประชาชนกว่า 67,000 คนต้องอพยพไปศูนย์พักพิง ฝนยังตกหนักต่อเนื่องตลอดสัปดาห์
ส่วนทางการลาว เตือนพายุฝนฟ้าคะนองและลมแรงในเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และพื้นที่อื่น ๆ ขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม
ไทยเร่งรับมือน้ำท่วมเหนือ-อีสาน
ภาคเหนือที่ จ.น่าน ชาวบ้านใน อ.เมืองน่าน บริเวณถนนสุมนเทวราช ริมแม่น้ำน่าน ได้รับความช่วยเหลือจากทหารมณฑลทหารบกที่ 38 ในการย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง เนื่องจากฝนตกหนักจากพายุวิภา ที่ อ.ท่าวังผา ซึ่งเป็นจุดรับน้ำ ชาวบ้านนำกระสอบทรายมากั้นหน้าบ้านและร้านค้า เพื่อป้องกันน้ำท่วมเข้าพื้นที่อยู่อาศัย
ที่ จ.เชียงราย ใน อ.แม่สาย ชาวบ้านและร้านค้าริมถนนพหลโยธิน ใกล้ด่านพรมแดนมิตรภาพแม่สาย-ท่าขี้เหล็กแห่งที่ 1 เตรียมกระสอบทรายกั้นน้ำ และพร้อมอพยพหากสถานการณ์รุนแรง จากประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2567 เทศบาลตำบลแม่สายติดตั้งจอแสดงระดับน้ำจากฝั่งเมียนมา และจัดตั้งศูนย์พักพิง 4 แห่ง เพื่อรับมือหากน้ำท่วม โดยเฉพาะในจุดที่ยังขุดลอกลำน้ำไม่ได้
จ.พะเยา บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ต.แม่กา ซึ่งเคยน้ำท่วมหนักเมื่อปี 2567 เจ้าของหอพักติดตั้งระบบวัดระดับน้ำและสัญญาณเตือนภัย เพื่อแจ้งนักศึกษาและผู้อยู่อาศัยให้อพยพไปยังจุดปลอดภัยได้ทันท่วงที
จ.อ่างทอง เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองอ่างทองใช้รถแบ็กโฮขุดเสริมคันดินและติดตั้งชีทไพล์พนังกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดสนามชัย ต.ตลาดหลวง เพื่อป้องกันน้ำล้นตลิ่ง หลังเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ 700-1,200 ลบ.ม./วินาที ระหว่างวันที่ 21-24 ก.ค. ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น 60-80 ซม. ศูนย์บัญชาการป้องกันอุทกภัยจังหวัดเตือนชาวบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เตรียมพร้อม
จ.เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, แพร่, อุตรดิตถ์ และตาก ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง โดย รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ คาดว่าฝนจะตกหนักวันละ 80-100 มม.
ที่จ.สุโขทัย สทนช.เตรียมตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าใน 1-2 วัน เพื่อประเมินสถานการณ์ฝนรายวัน
ภาคอีสาน จ.หนองคาย ชาวบ้านและร้านค้าบนถนนประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ ใช้กระสอบทรายและก่ออิฐบล็อกชั่วคราวเพื่อป้องกันน้ำท่วม เทศบาลเมืองหนองคายระดมเจ้าหน้าที่และชาวบ้านกรอกกระสอบทรายบริเวณชุมชนจอมมณี ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและมักถูกน้ำโขงล้นตลิ่งผ่านท่อระบายน้ำ
จ.นครพนม-บึงกาฬ มีฝนตกต่อเนื่องจากพายุวิภา แต่ระดับน้ำโขงยังต่ำกว่าตลิ่ง 3-4 เมตร คาดว่าน้ำฝนจะระบายได้ดี
จ.สกลนคร เร่งระบายน้ำจากบึงหนองหานลงแม่น้ำโขงล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยงน้ำท่วม
ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ติดตั้งที่คลองหมู่บ้านนาฏศิลป์ ต.ท่าช้าง ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังสูงกว่า 2 เมตร มีประชาชนราว 300 ครัวเรือน
จ.ตราด หลังคาอาคารอเนกประสงค์โรงเรียนวัดแหลมกลัด อ.เมืองตราด เสียหายจากลมแรงเมื่อบ่ายวานนี้ (21 ก.ค.) โชคดีที่ไม่มีนักเรียนอยู่ในอาคารและไม่มีผู้บาดเจ็บ นายนพดล พลเยี่ยม รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด ลงพื้นที่เพื่อเตรียมขอการจัดการฉุกเฉินซ่อมแซม ที่ ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ บ้านเรือน 36 หลังเสียหาย ชาวประมงต้องหยุดออกเรือชั่วคราว
ภาคใต้ จ.กระบี่ บ้านเรือนเสียหายกว่า 1,200 หลัง พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบหนัก อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง ปักธงแดงห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ เนื่องจากคลื่นสูง 2-4 เมตร เรือท่องเที่ยวในอ่าวนางหยุดให้บริการและจอดหลบคลื่นในอ่าว สนง.เจ้าท่าภูมิภาคกระบี่เตือนเรือเล็กยาวต่ำกว่า 13 เมตร งดออกทะเลจนถึง 26 ก.ค.
จ.พังงา ชาวบ้านเผชิญปัญหาขาดแคลนช่างซ่อมหลังคา หลังพายุผ่านไป 2 วัน เทศบาลเมืองพังงาตั้งศูนย์รับแจ้งความเดือดร้อนเพื่อช่วยเหลือประชาชน ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตกเตือนฝนตกหนักและคลื่นลมแรงสูง 2-4 เมตรในช่วงฝนฟ้าคะนอง
กรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องระวังน้ำทะเลหนุนระหว่างวันที่ 23-28 ก.ค. โดยเฉพาะจุดนอกคันกั้นน้ำและพื้นที่ฟันหลอ สทนช.แนะนำให้เสริมกระสอบทรายและสร้างสะพานชั่วคราวเพื่อช่วยประชาชนสัญจร
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า แม้พายุวิภาจะอ่อนกำลังลง แต่ยังทำให้ฝนตกหนัก คล้ายพายุยางิในปี 2567 แต่เชื่อว่ารับมือได้ สทนช.ตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าใน จ.เชียงรายและหนองคาย และเตรียมเปิดที่ จ.สุโขทัยใน 1-2 วัน พร้อมเร่งระบายน้ำจากบึงหนองหาน จ.สกลนคร และเขื่อนสิริกิติ์ลงแม่น้ำโขงและเจ้าพระยา ที่จ.เชียงราย เร่งขุดลอกลำน้ำรวกฝั่งไทยและลำน้ำสายฝั่งเมียนมาไปแล้วร้อยละ 20 และเตรียมกระสอบทรายบริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 หากน้ำล้นตลิ่ง
อ่านข่าวอื่น :
"พายุวิภา" ขึ้นฝั่งเวียดนามแล้ว ฝนตกหนักลมแรง เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน