สรุป 8 ปีแห่งการต่อสู้ ไทม์ไลน์คดี "น้องเมย" สิ้นสุดชั้นฎีกา
มหากาพย์คดี "น้องเมย" นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ซึ่งเสียชีวิตหลังจากการถูกรุ่นพี่ ธำรงวินัย ภายในโรงเรียนเตรียมทหาร เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 เดินทางมาถึงชั้นฎีกา โดยวันนี้ (22 ก.ค. 2568) ศาลมณฑลทหารบกที่ 12 จ.ปราจีนบุรี พิพากษายืนตามศาลชั้นอุทธรณ์ จำเลยมีความผิดทำร้ายร่างกาย ทำโทษโดยฝ่าฝืนคำสั่งกลุ่มนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร
ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทันทีนั้น ศาลเห็นว่าด้วยอายุจำเลยไม่เคยได้รับโทษ การจะลงโทษจำเลยไปก็ไม่เป็นประโยชน์ ให้จำเลยปรับปรุงตัวรับราชการรับใช้ชาติต่อไปจะเป็นประโยชน์มากกว่า จึงให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท และให้รอลงอาญา 2 ปี
"คมชัดลึกออนไลน์" ชวนย้อนไทม์ไลน์ การต่อสู้ของครอบครัว เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ "น้องเมย" ระยะเวลาเกือบ 8 ปี เกิดอะไรขึ้นบ้าง?
จุดเริ่มต้นในโรงเรียนเตรียมทหาร และช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุ
- เดือน เม.ย. 2560 น้องเมย ได้เข้าศึกษาเป็น นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 (นตท. ปี 1) ที่โรงเรียนเตรียมทหาร
- 18 พ.ค. 2560 น้องเมย เขียนบันทึกว่า อยู่ในรั้วจักรดาวครบ 4 อาทิตย์
- 21 พ.ค. 2560 น้องเมย จดบันทึกบอกว่า "อบรมกันแต่เช้า วันนี้มีเวรโดนพุ่งหลังไป 300 ยก" การพุ่งหลังก็คือการทิ้งตัวลงไปกับพื้นด้านหลังนั่นเอง 300 ครั้ง ถือว่าเยอะ ทำไปทำมาอาจศีรษะกระแทกพื้นได้
- 26 พ.ค. 2560 ช่วงเช้าถูกต่อยท้องไปหนึ่งมัดจุกมากเลย แถมตกกลางคืนมี "ลงนรก"อีก เหนื่อยมาก การลงนรกในที่นี้ก็หมายถึงการถูกซ่อมหรือฝึกซ่อมตลอดทั้งคืน ส่วนมากจะถูก "ลงนรก" กันเป็นหมู่คณะ กลุ่มใหญ่ทั้งห้องเรียน
- 23 ส.ค. 2560 ช่วงกลางดึก ถูกรุ่นพี่ซ่อมให้ปักหัวลงพื้นห้องน้ำ
- 24 ส.ค. 2560 น้องเมย ถูกหามส่งโรงพยาบาล ร้องไห้บอกกับพ่อ ว่าเจ็บหัว
- 25 ส.ค. 2560 น้องเมย กลับเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร และถูกสั่งซ่อมอีกครั้ง
ช่วงเวลาเกิดเหตุ
- 15 ต.ค. 2560 น้องเมย ถูกลงโทษจนสลบ และถูกหามส่งกองพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือ
- 17 ต.ค. 2560 ช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. กองพยาบาล โรงเรียนเตรียมทหาร โทรมาแจ้งพ่อกับแม่ ให้รีบไปโรงพยาบาล จนเวลา 20.00 น. น้องเมย เสียชีวิต แพทย์ลงความเห็น ว่า "หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน"
กระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรม และตรวจสอบข้อเท็จจริง
- 20 ต.ค. 2560 ครอบครัวรับศพน้องเมย จากสถาบันพยาธิวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบางบุญนาค จ.ชลบุรี แต่เมื่อครอบครัวนำศพไปทำพิธีล้างและเปลี่ยนเสื้อผ้า พบร่องรอยฟกช้ำหลายจุด จึงตัดสินใจส่งศพกลับไปให้สถาบันพยาธิวิทยาอีกครั้งเพื่อทำการชันสูตรซ้ำ
- 17 พ.ย. ผลการชันสูตรครั้งที่ 2 จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า พบบาดแผลหลายแห่งตามร่างกายของน้องเมย เช่น ซี่โครงหัก กกหูช้ำ เลือดคั่งในช่องท้อง และที่สำคัญคืออวัยวะภายใน (สมอง หัวใจ กระเพาะอาหาร ลำไส้) หายไป ซึ่งขัดแย้งกับผลชันสูตรครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นของข้อสงสัยและคดีความ
- 15 ธ.ค. 2560 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สรุปสาเหตุการเสียชีวิต จากปัญหาสุขภาพร่างกาย ประกอบกับอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
การพิจารณาของศาล
มี.ค. 2562 พนักงานสอบสวน สน.พญาไท สรุปสำนวนคดีส่งให้อัยการ มีการสั่งฟ้อง 2 นักเรียนเตรียมทหาร ข้อหาทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และ ครูฝึก ในข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยคดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของ ศาลมณฑลทหารบกที่ 12 (มทบ.12) จังหวัดปราจีนบุรี
ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้รอการกำหนดโทษนักเรียนเตรียมทหารที่ถูกฟ้อง ส่วนคดีแพ่ง ที่ครอบครัวฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากกระทรวงกลาโหม และกองทัพไทย ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนให้ชดใช้ค่าเสียหายบางส่วน ซึ่งครอบครัวปฏิเสธที่จะรับ และยืนยันว่าจะต่อสู้เพื่อหาความจริงต่อไป
22 ก.ค. 2568 ศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นอุทธรณ์ จำเลยมีความผิดทำร้ายร่างกาย ทำโทษโดยฝ่าฝืนคำสั่งกลุ่มนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทันทีนั้น ศาลเห็นว่าด้วยอายุจำเลยไม่เคยได้รับโทษ การจะลงโทษจำเลยไปก็ไม่เป็นประโยชน์ ให้จำเลยปรับปรุงตัวรับราชการรับใช้ชาติต่อไปจะเป็นประโยชน์มากกว่า จึงให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท และให้รอลงอาญา 2 ปี
ระยะเวลา 8 ปีแห่งการต่อสู้ ยังไม่ได้รับค่าชดเชย
นางสุกัญญา ตัญกาญจน์ แม่ของน้องเมย ซึ่งเดินทางมาฟังคำพิพากษา กล่าวว่า ผ่านมา 8 ปี ที่ตนต่อสู้เพื่อลูก เพราะต้องการให้สังคมเห็นว่า ลูกชายไม่ได้ทำผิดระบบเกียรติศักดิ์ เขาไม่ได้โกหก แม้จะเสียชีวิตแล้ว ซึ่งไม่มีโอกาสได้พูด แต่ยังถูกใส่ร้าย วันนี้จึงขอฟังผลการตัดสินของศาลก่อน หากผลออกมาดี จะช่วยคืนความยุติธรรมให้กับลูกชาย กู้ศักดิ์ศรีให้กับลูกชายด้วย
"ระยะเวลาของการสู้คดี 8 ปี ยังไม่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากกระทรวงกลาโหม และกองทัพไทย ไม่เคยเจรจา อีกฝ่ายไม่เคยให้เกียรติครอบครัวเราเลย โดยการสู้คดีที่ผ่านมา ลำพังมาขึ้นศาลทหาร ก็รู้สึกอยู่คนละชั้นกันแล้ว เพราะศาลทหาร พลเรือนไม่สามารถแต่งตั้งทนายความได้ อัยการจะเป็นผู้ดูแลคดี แต่ฝ่ายจำเลยที่เป็นทหารในกองทัพ สามารถตั้งทนายได้ ซึ่งเราไม่สามารถทำอะไรได้เลย"
นางสุกัญญา กล่าวอีกว่า ครอบครัวยังติดใจประเด็นอวัยวะบางส่วนของลูกชาย ที่ยังไม่ได้รับกลับคืนมา เช่น สมอง หัวใจ และกระเพาะอาหาร ครอบครัวแจ้งความนายแพทย์ที่ผ่าตัดคนแรก แต่ไม่นำอวัยวะมาคืน โดยตั้งข้อสังเกตว่าทำไมตำรวจออกหมายเรียกนายแพทย์คนดังกล่าวถึง 2 ครั้ง แต่ไม่ออกหมายจับ ทั้งที่นายแพทย์คนนี้ไม่ไปพบพนักงานสอบสวน
หลังจากนั้นครอบครัวประสานขออวัยวะจากโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ก่อนนำไปตรวจดีเอ็นเอที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และทราบผลจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่า ดีเอ็นเอเข้ากันไม่ได้ ครอบครัวจึงไม่ได้นำอวัยวะกลับ เพราะไม่ทราบว่าเป็นอวัยวะของใคร