ค้าชายแดนไทย-กัมพูชา จากเส้นเลือดเศรษฐกิจ สู่สมรภูมิเดือด
จากเหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2568 ที่เริ่มต้นจากข้อพิพาททางพื้นที่ กลับลุกลามบานปลายจนกลายเป็นการใช้กำลังอาวุธจริง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในพื้นที่ชายแดน จ.สุรินทร์ และอีกหลายจุดตลอดแนวพรมแดนตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
การเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังทหารของทั้งสองประเทศไม่เพียงสร้างความเสียหายทางด้านความมั่นคงเท่านั้น หากยังส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการค้าระหว่างไทย-กัมพูชา มูลค่าความเสียหายจากการชะงักของระบบโลจิสติกส์และการปิดด่านบางส่วน ประเมินแล้วสูงถึง 500 ล้านบาทต่อวัน
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกรมศุลกากร ระบุว่า ตลอดปี 2567 มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย–กัมพูชาอยู่ที่ 366,730 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 323,631 ล้านบาท และนำเข้า 43,098 ล้านบาท ทำให้ไทยเกินดุลการค้าถึง 280,532 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็น การค้าชายแดนกว่า 174,530 ล้านบาท (ส่งออก 141,847 ล้านบาท / นำเข้า 32,684 ล้านบาท)
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.–มิ.ย.) มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศลดลงถึง -18% เหลือเพียง 195,971 ล้านบาท โดยไทยส่งออกเพียง 171,133 ล้านบาท ลดลง -26% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 24,838 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 43% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยลดลง -37% อยู่ที่ 146,296 ล้านบาท
แม้ว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.–พ.ค.) กรมการค้าต่างประเทศจะรายงานว่าการค้าชายแดนมีมูลค่า 80,723 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขนส่ง การเปิด–ปิดด่าน และเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
สินค้าไทยที่ส่งออกไปกัมพูชาสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่
- อัญมณีและเครื่องประดับ
- น้ำมันสำเร็จรูป
- น้ำตาลทราย
- เครื่องดื่ม
- เคมีภัณฑ์
- รถยนต์และชิ้นส่วน
- เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว
- รถจักรยานยนต์
- เครื่องจักรกล
- อาหารสำเร็จรูป
สินค้านำเข้าจากกัมพูชาสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่
- ผัก ผลไม้ และของแปรรูป
- สินแร่และเศษโลหะ
- อัญมณี ทองคำ เงินแท่ง
- เสื้อผ้าสำเร็จรูป
- สายไฟ สายเคเบิล
- เครื่องจักรไฟฟ้า
- ชิ้นส่วนยานยนต์
- ผลิตภัณฑ์โลหะ
- เครื่องจักรกล
- รองเท้า
ด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่มีท่าทีคลี่คลาย พร้อมคำสั่ง “ปิดด่านบางจุดอย่างไม่มีกำหนด” ความหวังในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชายแดนยังคงสั่นคลอน