โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิกฤตการณ์ ครม. แพทองธาร ปัญหาและความท้าทาย 25 ประการ

THE STANDARD

อัพเดต 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • thestandard.co
วิกฤตการณ์ ครม. แพทองธาร ปัญหาและความท้าทาย 25 ประการ

เราเป็นรัฐบาลผสม และสิ่งนี้จำกัดทางเลือกของเราในทางหนึ่งทางใดเสมอ

Manmohan Singh

นายกรัฐมนตรีอินเดีย

(พฤษภาคม 2004 – พฤษภาคม 2014)

การสมคบคิดคือ อีกชื่อหนึ่งของรัฐบาลผสม

Robert Anton Wilson

นักเขียน นักจิตวิทยา และนักอนาคตวิทยาชาวอเมริกัน

ทุกรัฐบาลผสมมีความยุ่งยากของตัวเองเสมอ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ผู้ชายทุกคนที่แต่งงานแล้วย่อมรู้ดี

Arthur Hays Sulzberger

ผู้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ New York Times

ในที่สุด บัญชีรายชื่อคณะรัฐมนตรีใหม่ หรือ ‘โผ ครม.’ ที่ปรากฏขึ้นในสื่อต่างๆ ก่อนหน้านี้ ก็ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการในตอนตี 3 ของวันอังคารที่ 1 กรกฎาคม จากปรากฏการณ์โผที่เกิดขึ้นตามที่เป็นข่าวในสื่อครั้งนี้ เราจึงอาจพอตั้งข้อสังเกตได้บางประการ รวมถึงมีประเด็นเป็นข้อสังเกตที่เกี่ยวโยงกับปัญหาความมั่นคงด้วย ดังต่อไปนี้

ข้อสังเกตทางการเมือง

1. คณะรัฐมนตรีชุดนี้ ไม่น่าจะเรียกว่า ‘แพทองธาร 2’ แต่น่าจะเรียกว่า ‘แพทองธาร 1.5’ มากกว่า เพราะแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในทางการเมืองมากนัก และเชื่อว่า ก็จะไม่มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายด้วย

2. การจัดคนลงตำแหน่งรัฐมนตรี ยังมีสภาวะเป็น ‘โต๊ะหมุนทางการเมือง’ หรือ ‘Political Round-Table’ ที่หมุนไปมากับกลุ่มนักการเมือง หรือมุ้งการเมือง ที่ต้องหาตำแหน่งลงให้ได้ บางคนอาจเปรียบเทียบสภาวะเช่นนี้เป็นดัง ‘เก้าอี้ดนตรีทางการเมือง’ ที่มีนักการเมืองวิ่งหมุนไปมาเพื่อชิงเก้าอี้ให้ได้เท่านั้นเอง

3. การจัดบุคลากรทางการเมือง ถูกกำหนดจากการเมืองในแบบ ‘โควตาพรรค’ เพื่อให้เกิดการประนีประนอมทางการเมืองต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลผสม ซึ่งจะเป็นความยากลำบากสำหรับพรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ที่จะต้องประคองไม่ให้ความเป็นรัฐบาลผสมเช่นนี้ เกิดความแตกแยก จนอยู่ร่วมกันไม่ได้

4. ในอีกส่วน เห็นได้ชัดว่า การนำคนลงในตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า กระบวนการ ‘ต่อรองทางการเมือง’ ของผู้นำทางการเมืองในแต่ละพรรค หรือบุคคลแต่ละ ‘มุ้ง’ ที่อยู่ในพรรค การจัดรายชื่อจึงต้องดำเนินการเพื่อลดแรงเสียดทานให้ได้มากที่สุด และเพื่อไม่ให้รัฐบาลผสมแตกแยก จนสิ้นสุดลง

5. ในสภาวะที่ประเทศไทยมีปัญหาต่างๆ รุมเร้าทุกด้าน สังคมอยากเห็นคณะรัฐมนตรีที่จะเป็น ‘ประกายความหวัง’ ของการพาประเทศไปสู่อนาคต แต่ด้วยความเป็นจริงของการเมืองตามโควตาพรรคของรัฐบาลผสมนั้น คำว่า ‘ดรีมทีม’ เป็นเพียง ‘ฝันกลางวัน’ ที่ไม่เป็นจริง เพราะการจัดรายชื่อไม่ได้มีกระบวนการคัดสรรคุณสมบัติตามความเหมาะสมของบุคคลที่จะลงในตำแหน่งต่างๆ แต่คัดจากอำนาจและเส้นสายของบุคคลในทางการเมืองมากกว่า และคัดสรรด้วยวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการให้รัฐบาลผสมอยู่รอดได้

ข้อสังเกตด้านความมั่นคง

6. น่าสนใจว่าในขณะที่ประเทศมีปัญหาความมั่นคงด้านกัมพูชาอย่างมากนั้น ในบัญชีรายชื่อ ครม. กลับไม่มีการตั้งตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” ซึ่งต้องถือว่าการปล่อยให้ตำแหน่งนี้ว่าง เป็นประเด็นที่น่าสนใจทั้งในทางการเมืองและการทหาร ซึ่งอาจถูกตีความได้ว่า เป็นการเกลี่ยตำแหน่งในระดับรัฐมนตรีไปใช้สำหรับกระทรวงอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองเฉพาะหน้าของรัฐบาลผสม

7. ในกรณีของกระทรวงกลาโหมนั้น น่าสนใจที่เห็นถึงการสลับไปมาของรายชื่ออดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่ 2 นาย ที่สลับเปลี่ยนไปมาระหว่างนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 20 และ 21 แต่ก็จบลงในแบบ “หักมุม” ด้วยการไม่ตั้งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง แต่กลับมีรัฐมนตรีช่วยคนเดิมดำรงตำแหน่งต่อไป (รุ่น 20) และคาดได้ว่า จะให้รัฐมนตรีช่วยท่านนี้ทำการแทนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ซึ่งต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องแปลกในทางการเมือง

8. สภาวะเช่นนี้ น่าจะเป็นผลพวงจากปัญหา “การเมืองสนามไชย” ใน “ครม. แพทองธาร 1” ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีท่าทีชื่นชอบ และต้องการผลักดันให้ รัฐมนตรีช่วยว่าการขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการใน ครม. ใหม่ให้ได้ แต่ก็ดูจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำงานและระดับความสามารถ แรงสนับสนุนดังกล่าวจึงทำได้เพียงช่วยให้รัฐมนตรีช่วยท่านนั้น อยู่ที่เดิม

9. น่าสนใจว่า บุคคลที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น มาจากโควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เพราะกระทรวงนี้เป็นโควตาของพรรคเพื่อไทย แต่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงกลับมีท่าที “ผลักดัน-สนับสนุน” อย่างเต็มที่เพื่อให้รัฐมนตรีช่วยท่านนั้น บรรลุความฝันในการเป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง จนดูเสมือนกับการยกเก้าอี้นี้ให้พรรคการเมืองอื่น ทั้งที่เป็นกระทรวงสำคัญของความเป็นรัฐบาล เว้นแต่มีเหตุผลทางการเมืองของ “ผู้มีอำนาจสูงสุด” ของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งการผลักดันของรัฐมนตรีที่เป็นปัจจัยสำคัญ

10. การไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำให้เกิดข่าวลือต่างต่างนานา อันอาจตีความได้ว่าเป็นภาพสะท้อนถึงความไม่ความสนใจงานด้านความมั่นคงของประเทศของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดังเช่นที่ปรากฏให้เห็นในช่วงที่ผ่านมา จนกลายเป็นข้อวิจารณ์ในทางการเมืองเสมอว่า พรรคเพื่อไทยสอบตกวิชา “ความมั่นคงศึกษา”

11. แต่ในอีกด้านสำหรับปัญหาในเชิงตัวบุคคล การไม่ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ก็อาจทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายส่วน มีความเห็นตรงกันว่า การให้อยู่ในตำแหน่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้ว และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยับขึ้นไปมากกว่านี้

12. ในอีกด้านก็ปรากฏข้อมูลว่า ที่ไม่มีการตั้งรัฐมนตรีว่าการกลาโหมนั้น ก็หวังว่าจะรอให้อดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งพ้นจากข้อห้ามในเรื่องของการดำรงตำแหน่ง สว. มาก่อน และมาดำรงตำแหน่งนี้ในช่วงข้างหน้า ข้อมูลชุดนี้ดูจะน่าตื่นเต้น แต่ดูจะไร้ความเป็นไปได้อย่างมาก เหมือนเป็นการ “ปั่นกระแส” ในโลกออนไลน์เสียมากกว่า เพราะทิศทางการเมืองในอีก 3 เดือนข้างหน้านั้น ยังไม่ใช่สิ่งที่จะคาดเดาได้ง่ายๆ

13. แต่การหารายชื่อของรัฐมนตรีกลาโหมใน ครม. ครั้งนี้ ก็กลายเป็น “ความสนุกสนาน” ทางการเมืองอีกแบบ เพราะปรากฏให้เห็นถึง “ปฏิบัติการข่าวสาร” ที่ดึงเอาส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทหารเข้ามาเพื่อทำให้การคาดเดาที่เกิดขึ้นของสื่อและบรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลาย มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ชัดว่า ข้อมูลเหล่านี้มีความจริงเพียงใด

14. น่ามองในอีกทางว่า ปกติแล้วในทางการเมือง การไม่แต่งตั้งรัฐมนตรีกลาโหมเป็นประเด็นสำคัญ เพราะไม่ชัดเจนว่า อะไรคือเหตุผลหลักของผู้มีอำนาจของพรรคเพื่อไทยในเรื่องนี้ ถ้าไม่ตั้งเพียงเพราะต้องรอใครบางคนอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อ ก็ไม่น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดี เพราะในสภาวะที่ประเทศมีปัญหาความมั่นคงเช่นปัจจุบัน ตำแหน่งนี้มีนัยสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้

หรือในอดีตของการเมืองไทย ถ้ามีปัญหาในกระทรวงที่มีความสำคัญเช่นนี้ ก็อาจใช้วิธีให้นายกฯ ลงมารักษาการ แต่การกระทำเช่นนั้น (คือเป็น “ยิ่งลักษณ์โมเดล”) ก็ไม่น่าเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนายกฯ คนปัจจุบัน เว้นแต่ที่ไม่ตั้งนั้น คิดเหตุผลแบบบ้านๆ คือ “หาคนถูกใจไม่ได้ … ที่มีอยู่ก็ไม่ใช่ … ให้เลือกใหม่ก็ไม่เอา” เลยจบลงแบบ “คาราคาซัง” เช่นนี้ไปก่อน

ข้อสังเกตการประเมินผลงาน

15. ในช่วงที่ไทยต้องเผชิญกับปัญหาความตึงเครียดเรื่องกัมพูชานั้น กระทรวงความมั่นคงที่สำคัญ 2 ส่วน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความล่าช้า และความอ่อนแอในการรับมือกับปัญหากัมพูชา คือ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งดูเหมือนว่า รัฐบาลอาจจะไม่ได้มีการพิจารณาประเด็นนี้ในการปรับ ครม. กล่าวคือ ไม่ว่าจะมีเสียงวิจารณ์เพียงใด ฝ่ายการเมืองทั้ง 3 คน ก็จะต้องได้อยู่ตำแหน่งกันต่อไป เพราะเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจจาก ‘ผู้มีอำนาจที่แท้จริง’ ของพรรคเพื่อไทย

16. แม้จะมีเสียงวิจารณ์อย่างมากต่อบทบาทของ 3 บุคคลากรทางการเมืองหลัก คือ “รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม-รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหม-รัฐมนตรีต่างประเทศ” แต่การปรับ ครม. ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลเหล่านี้ หลุดออกไปจาก ครม. แต่อย่างใด เพราะ รัฐมนตรี 3 ท่านนี้ คือ ‘3 ทหารเอก’ ด้านความมั่นคงของนายกฯ แพทองธาร เพราะความใกล้ชิด/ความเชื่อใจในทางการเมือง (ส่วนทหารเอก จะรบได้เป็นเอกหรือไม่ สังคมและสื่ออาจต้องเป็นผู้ที่ช่วยตอบคำถามนี้ในอีกทางหนึ่งด้วย)

17. การดำรงอยู่ของตัวบุคคลในมิติความมั่นคงเช่นนี้ ไม่ได้เป็นสัญญาณเชิงบวกอะไรกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชาแต่อย่างใด ดังจะเห็นถึงทิศทางการแก้ปัญหา ที่เป็นไปในแบบ ‘โควิดโมเดล’ ด้วยการอาศัยการแถลงข่าวไปวันๆ เป็นภาพโฆษณาสำหรับการแก้ไขปัญหา หรือเป็นการใช้งาน ‘PR’ เพื่อสร้างภาพของการแก้ปัญหา

18. ในขณะที่ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ปัจจุบัน เริ่มทวีความเข้มข้นมากขึ้น การก่อเหตุรุนแรงมีมากขึ้นนั้น การปรับ ครม. ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นสัญญาณเชิงบวกกับแนวทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้แต่อย่างใด และในระหว่างที่กำลังมีการจัดทำโผ ครม. ใหม่นั้น ก็เห็นถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเป็นเสมือนการ ‘โชว์ความรุนแรง’ ให้ฝ่ายการเมืองชุดใหม่ได้เห็น หรืออาจเรียกได้ว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธในภาคใต้กำลังแสดง ‘การข่มขู่’ ทางการเมืองต่อรัฐบาลใหม่อย่างชัดเจน

ข้อสังเกตด้านจิตวิทยาการเมือง

19. น่าสนใจในอีกส่วนที่นายกรัฐมนตรี “สวมหมวก 2 ใบ” หรืออาจเป็นการนำเอา ‘ประยุทธ์โมเดล’ เข้ามาเตรียมการรองรับ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับนายกฯ เพราะหากเกิดเช่นนั้นจริงแล้ว ก็จะยังมีกระทรวงวัฒนธรรมรองรับบทบาทของนายกฯ โดยไม่ต้องหลุดออกไปหมดจากเวทีการเมือง (เช่นในกรณีของ พล. อ. ประยุทธ์ ในอดีต ที่ต้องถอยจากทำเนียบรัฐบาลไปอยู่ที่กระทรวงกลาโหม)

20. ปัญหาสำคัญอีกส่วนเป็นเรื่องของคดีในทางการเมือง ที่โยงกับอนาคตของ ครม. ใหม่ 3 ประการ คือ

1.นายกฯ จะถูกคำตัดสินให้ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และหยุดแล้วในที่สุด จะถูกถอดถอนหรือไม่?

2.จะมีรัฐมนตรีคนใดในรัฐบาล ถูกฟ้องร้องในทางกฏหมาย และมีผลกระทบต่อสถานะของตัวนายกด้วยหรือไม่?

3.ตัวรัฐบาลเองมีคดีที่ถูกร้องเรียนอยู่ จะถูกสั่งให้พ้นสภาพจากกรณีนี้หรือไม่?

ปัญหาคดีการเมือง 3 เรื่องนี้ เป็นเดิมพันความอยู่รอดของรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญกับความเป็นไปของการเมืองไทยในอนาคต

21. คนที่ติดตามการเมืองหลายคน อาจจะรู้สึกว่า การปรับ ครม. มีจุดหมายหลักอีกส่วนคือ การดำรงเสียงในสภาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันสภาวะของการเป็นรัฐบาลผสมในแบบเสียงข้างน้อยในสภา ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผิดในทางการเมือง เพราะทุกรัฐบาลล้วนต้องการความอยู่รอดในรัฐสภาทั้งสิ้น แต่ก็จะต้องระมัดระวังไม่ให้การกระทำเช่นนี้ ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่า รัฐบาลโดยเฉพาะตัวนายกฯ สนใจแต่ความอยู่รอดของตนเอง จนละเลยสิ่งที่เป็นปัญหาวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศ

22. รัฐบาลโดยตัวนายกรัฐมนตรี ต้องระวังผลในเชิงจิตวิทยาการเมือง ที่คนในสังคมอาจจะไม่ตอบรับกับการปรับ ครม. เช่นนี้ อันอาจส่งผลโดยตรงต่อสถานะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งต้องยอมรับว่า การจัด ครม. ครั้งนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมาก จนอาจกลายเป็นโอกาสให้พรรคฝ่ายค้านนั่ง ‘เก็บแต้ม-ตีกิน’ ทางการเมืองอย่างสบายๆ แต่ถ้าจะบอกให้รอดูผลงานของ ครม. ใหม่นี้ เป็นเครื่องตัดสินในอนาคต ก็เกรงว่า คนจะตัดสินด้วยความรู้สึกทางการเมืองในภาวะปัจจุบันไปก่อนแล้ว

23. ต้องยอมรับว่า การปรับ ครม. ครั้งนี้ เป็นความยากลำบากที่สุดที่พรรคเพื่อไทยเคยเผชิญมาทั้งหมด เพราะรัฐบาลมีปัญหาและ/หรือวิกฤตรุมเร้าอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ วิกฤตกำแพงภาษีทรัมป์ และวิกฤตความมั่นคงในภาคใต้ ทั้งยังถาโถมด้วยวิกฤตศรัทธาที่กำลังเกิดกับตัวนายกฯ วิกฤตรัฐบาลผสม และยังตามมาด้วยปัญหาคำแถลงของรัฐบาลเรื่อง “ตึก สตง. ถล่ม” … ตกลงปัญหาคุณภาพเหล็กเส้นเกี่ยวข้องกับการถล่มของตึกหรือไม่

คำตอบของนายกฯ ดูจะขัดใจกับความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง จนทำให้เกิดการตีความว่า รัฐบาลไม่กล้าเผชิญหน้าที่จะจัดการปัญหาเรื่องความไร้คุณภาพเหล็กเส้นจีน หรือ ‘เหล็กเส้น’ กำลังกลายเป็น ‘เด็กเส้น’ ในกรณีนี้

24. การปรับ ครม. ครั้งนี้ ต้องระมัดระวังอย่าให้กลายเป็นความ ‘อึดอัดในใจ’ ของประชาชน ที่วันนี้ ผู้คนในสังคมต้องเผชิญปัญหาต่างๆ รอบด้าน ในแบบที่แทบจะไม่มีทางออกในชีวิตเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาค่าครองชีพ กระนั้น ประชาชนหลายส่วนก็ยังมีความหวังอยู่สักหน่อยว่า การเมืองจะเป็นปัจจัยในการแก้ปัญหาชีวิตของพวกเขาได้บ้าง และไม่ใช่การใช้นโยบายในแบบของการแจกสตางค์เป็นครั้งคราวเท่านั้น ว่าที่จริง สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นนโยบายทางเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิตของพวกเขาต่างหาก

25. การปรับ ครม. เกิดในภาวะที่ไทยกำลังมีปัญหากัมพูชา พร้อมกับมีการจัดการชุมชนขนาดใหญ่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก อันเป็นผลจากการปล่อยคลิปเสียงสนทนาของผู้นำ 2 ฝ่าย และปัญหานี้กำลังมีลักษณะเป็น ‘วิกฤตศรัทธา’ ที่เกิดกับตัวนายกฯ อย่างมาก และอาจกลายเป็นอาการ ‘วิกฤตยืดเยื้อ’ กับสถานะของตัวรัฐบาลอีกด้วย เพราะฝ่ายต่อต้านจะนำมาเป็นประเด็นโจมตีไม่หยุด

ดังนั้น ครม. ใหม่จึงต้องเผชิญหน้ากับการประท้วงของกลุ่มชาตินิยม ที่อาจจะเน้นโจมตีตัวนายกฯ และครอบครัวเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนจะเกิด ‘สงครามยืดเยื้อ’ บนถนนอีกหรือไม่ อาจต้องติดตามดูในอนาคต

ระวังน้ำผึ้งขม !

ในอีกด้าน ความเป็นจริงของธรรมชาติการเมืองไทยที่มีความเป็นรัฐบาลผสมเป็นสภาวะพื้นฐานนั้น ทำให้การปรับ ครม. มีความยุ่งยากในตัวเอง เพราะธรรมชาติของรัฐบาลผสมไทยคือ การต่อรองตำแหน่ง และความอยู่รอดของรัฐบาลผสมคือ การประนีประนอมในเรื่องของตำแหน่ง และการต่อรองในเชิงตัวบุคคล ดังเช่นที่เราเห็นการปรากฏตัวของนักการเมืองหน้าใหม่ ที่ไม่ได้มีชื่อหลุดออกมาในช่วงทำโผแต่อย่างใด

แต่กระบวนการปรับ ครม. เช่นนี้ ก็เป็นเหมือนกับการเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคม ที่มีความคาดหวังเป็นพื้นฐานว่า รัฐบาลจะเป็นปัจจัยในการแก้ไขปัญหาชีวิตของพวกเขา แต่ความหวังเช่นนี้ในความรู้สึกของพวกเขา กำลังถูกทำลายลงจากสภาวะของการจัด ครม. ที่เกิดขึ้นในความเป็นรัฐบาลผสม และจะส่งผลอย่างมากกับแกนนำรัฐบาลคือ พรรคเพื่อไทยเอง ซึ่งน่าคิดว่า พรรคเพื่อไทยจัดวางอนาคตของตนเองอย่างไร หรือในความเป็นรัฐบาลผสมนั้น ทำให้มีคำตอบประการเดียว คือ ‘ขอให้อยู่รอดในวันนี้ไปก่อน’

ขณะที่ปีกพรรคฝ่ายค้าน ก็เหมือนกับการ ‘เก็บแต้ม-ตีกิน’ เพื่อรอให้ถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า และเปิด ‘ยุทธการขย่มรัฐบาล’ ไปเรื่อยๆ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ฉะนั้น ทางออกของพรรคเพื่อไทยและอนาคตของรัฐบาลผสมคือ ในระยะเวลา 6 เดือนสุดท้ายของปี 2568 จึงมีคำถามสำคัญ ได้แก่

  • รัฐบาลจะมีอะไรเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม?
  • จะมีอะไรที่เป็นผลงานที่โดนใจประชาชน?
  • จะมีอะไรเป็นผลงานที่สร้างศรัทธากับประชาชน?

ซึ่งรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยคงต้องตอบคำถามนี้ให้ได้

อย่างไรก็ตาม เราอาจต้องยอมรับความเป็นจริง … ที่จริงที่สุดในการเมืองปัจจุบัน คือ สำหรับรัฐบาลแล้ว คำถามทางการเมืองเฉพาะหน้ามีเพียงว่า ทำอย่างไรก็ได้ที่รัฐบาลผสมจะต้องอยู่ต่อไป และเดินต่อไปให้ได้นานที่สุด แต่ปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบันคือ ความเป็นรัฐบาลผสมเช่นนี้จะไปต่อได้อีกนานเท่าใด และจะสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่างไรในเวลาที่เหลือน้อยเช่นนี้

สุดท้ายนี้ จากปัญหาและประสบการณ์ในทางรัฐศาสตร์ เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า รัฐบาลผสมคือ ‘การสมรส’ ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ตกลงจะอยู่ร่วมรัฐบาลกัน (ภายใต้ชายคาเดียวกัน) จะด้วยมีคำสัญญาหรือปฏิญญาใดๆ (เสมือนเป็นทะเบียนสมรส) หรือไม่ก็แล้วแต่ … หากกลับพบว่า ปีที่ 3 ของรัฐบาลผสมนั้น มักจะเป็น ‘ปีของการหย่าร้าง’ มากกว่าจะเป็น ‘ปีของน้ำผึ้งพระจันทร์’ เสมอ

ดังนั้น แม้การจัดตั้ง ครม. ใหม่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นทางการ แต่ก็คงต้องระวังภาวะ ‘น้ำผึ้งขม’ ในทางการเมือง เพราะเงื่อนไขของความเป็นรัฐบาลผสม ที่มีปัญหาในตัวเองอยู่แล้วนั้น ยังมีภาวะวิกฤตต่างๆ รุมเร้า ที่แม้จะมีรัฐบาลใหม่ ก็มิได้ทำให้ภาวะวิกฤตดังกล่าวหมดไปแต่อย่างใด!

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก THE STANDARD

ย้อนมองประเทศไทยในวัน ‘ตลาดหุ้น’ ย่ำแย่สุดในโลก วาทะเด็ด ‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ – ‘บรรยง พงษ์พานิช’

27 นาทีที่แล้ว

FENDI ICONSIAM บูติกที่ผสมการตกแต่งระหว่างไทยกับอิตาลี

51 นาทีที่แล้ว

ศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำร้องณฐพร กล่าวหาภูมิใจไทย-เนวิน เอี่ยวฮั้วเลือก สว.

58 นาทีที่แล้ว

BALENCIAGA เปิดร้านสาขาที่ 6 ในไทย ณ ICONSIAM กับขนาด 375 ตารางเมตร

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความทั่วไปอื่น ๆ

ข่าวดี! พรุ่งนี้น้ำมันลดราคา มีผล ตี 5 วันที่ 2 ก.ค. 68 เป็นต้นไป

มุมข่าว

ติดสนั่น! หลังฝนถล่ม ติดตามกับ คู่หูจราจร : 1 กรกฎาคม 2568

สวพ.FM91

โรงเรียนสีเขียว ครูศิลปะเยี่ยวม่วง! รับดูดวันละ 3 ตัว มา 20 ปี

Khaosod

ครม.ขยาย ‘คุณสู้ เราช่วย’ ค้าง 1 วันเข้าร่วมได้ หนี้ 30,000 จ่าย 10% ปิดหนี้ทันที

ไทยพับลิก้า

ทีทีทีบีทุ่ม 2,062 ล้านบาท เข้าถือหุ้นใหญ่ บล.ธนชาต เป็นทางการ 99.97%

สำนักข่าวไทย Online

นึกว่าผีหลอก ที่แท้งูเหลือมรัดไก่ห้อยหัวลงจากต้นไม้

สำนักข่าวไทย Online

สามเณรีคืออะไร? รู้จักนักบวชหญิงในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง

TNN ช่อง16

(คลิป)"เท้ง"ย้ำจุดยืน ปชน.เรียกร้องยุบสภา โยงนิติสงครามทำ"อุ๊งอิ๊งค์" ถูกสั่งยุติหน้าที่นายกฯ

Manager Online

ข่าวและบทความยอดนิยม

‘สว.สวัสดิ์’ มือยื่นคำร้องถอดนายกฯ มั่นใจศาลรับไว้พิจารณา แต่จะสั่งหยุดทำหน้าที่หรือไม่ ขอไม่ก้าวล่วง

THE STANDARD

นายกฯ งดแถลง หลังประชุม ครม. เพียง 1 ชั่วโมง แจงไม่ตั้ง รมว.กลาโหม เชื่องานชายแดนไม่สะดุด ลุ้นคำสั่งชี้ชะตาปมคลิปเสียงบ่ายวันนี้

THE STANDARD

ณัฐพลบอก รอนายกฯ-ครม. ตั้งรักษาการหลังเก้าอี้ รมว.กลาโหมถูกปล่อยว่าง ‘สุริยะ-วราวุธ-สุชาติ’ เชื่อ รมต.ใหม่เหมาะสม

THE STANDARD
ดูเพิ่ม
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...