สว.สีน้ำเงินรอสัญญาณโหวต 2 ตุลาการศาล รธน.-1 กกต.
โครงสร้างการเมืองยุคปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่า “อำนาจที่ 4” ต่อจากฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการก็คือ “องค์กรอิสระ-ศาลรัฐธรรมนูญ”
ดูได้ง่ายๆ จากตอนนี้ “แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็นนายกฯ ส่วนเก้าอี้นายกฯ ก็ถูกมองว่าง่อนแง่น เจียนอยู่เจียนไป เสี่ยงต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ หากศาล รธน.มีคำวินิจฉัยในคดีคลิปเสียง ด้วยการให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ หรือการสอบสวนคดีฮั้วการเลือก สว.ที่กกต.สอบอยู่ หากสุดท้าย กกต.มีมติว่าการเลือก สว.ที่ผ่านมาเป็นไปโดยไม่ชอบ มีการเอาผิด สว.ชุดปัจจุบันจำนวนมากอาจถึง 138 คน รวมถึงพรรคการเมืองบางพรรคที่เกี่ยวข้อง จนส่งคำร้องไปที่ศาลฎีกาฯ ที่เมื่อศาลรับคำร้องก็ต้องสั่งให้ สว.หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำตัดสินออกมา จนทำให้วุฒิสภาอาจอยู่ในสภาพ “สุญญากาศ” ไปหลายเดือน
อันนี้แค่ “ศาล รธน.-กกต.” เท่านั้น และยกมาแค่สองเคส ที่ชี้ให้เห็นถึง “พลานุภาพขององค์กรอิสระ-ศาล รธน.” ว่า “สามารถชี้เป็น-ชี้ตาย” การเมืองไทยได้ด้วยอำนาจที่มีในมือ จนฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติอาจถึงขั้นล้มทั้งยืน วอดวาย-ราพณาสูร
จึงไม่แปลกที่ การสรรหา-โหวตเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระ-ตุลาการศาล รธน. แต่ละครั้งจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นในช่วงที่การเมืองขับเคี่ยว-วางแผนช่วงชิงอำนาจและล้มฝ่ายตรงข้ามอย่างเข้มข้น กลไกองค์กรอิสระและศาล รธน.ก็อาจถูกฝ่ายการเมืองใช้เป็น “ดาบสังหารฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง”
ทำให้ต้องติดตามการประชุมวุฒิสภา สัปดาห์นี้คืออังคารที่ 22 ก.ค. มีวาระที่น่าสนใจ เพราะ สว.จะลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน และกรรมการการเลือกตั้ง 1 คน ที่เป็นการประชุมลับ
ในส่วนของ ตุลาการศาล รธน. จะเป็นการลงมติสองรายชื่อ แยกเป็น ชื่อแรกอยู่ในสาขาผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อมาแทน ศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาล รธน. ที่ก็คือ ศาสตราจารย์ ร้อยตำรวจเอกสุธรรม เชื้อประกอบกิจ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ผ่านการคัดเลือกจากกรรมการสรรหาฯ ที่ลงมติสองรอบ
และอีกหนึ่งคนคือ “สราวุธ ทรงศิวิไล อดีตอธิบดีกรมการขนส่งทางราง และอดีตอธิบดีกรมทางหลวง” ที่ผ่านการคัดเลือกในสาขารับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าไม่น้อยกว่าห้าปี เพื่อมาแทน ปัญญา อุดชาชน โดยชื่อนี้ กรรมการสรรหาฯ โหวตสามรอบ
สำหรับ สราวุธ เป็นชื่อที่ถูกจับตามองไม่น้อย เพราะสมัยยังรับราชการอยู่ ก.คมนาคม ขยับจาก ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม มารับตำแหน่ง อธิบดีกรมการขนส่งทางรางเมื่อมิถุนายน 2562 โดยอยู่ในตำแหน่งเพียงแค่สี่เดือน คือถึงเดือนกันยายน 2562 ก็ผงาดขึ้นเป็นอธิบดีกรมทางหลวง ที่เป็นกรมใหญ่ของกระทรวงคมนาคม โดยขึ้นมาแทน อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ที่ถูกจับไปแขวนเป็นรองปลัดฯ คมนาคม พบว่า สราวุธอยู่ในตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงยาวนานถึง กันยายน 2567 ซึ่งช่วงที่เป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางราง-อธิบดีกรมทางหลวง เป็นช่วงที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย น้องชายนายเนวิน เป็น รมว.คมนาคม
จึงไม่แปลกที่หลังจากสราวุธถูกเสนอชื่อเป็นตุลาการศาล รธน. สภาสูง ก็วิจารณ์กันขรมว่า ชื่อนี้ สว.โหวตผ่านฉลุยแน่ เพราะกลุ่ม สว.สีน้ำเงินที่คุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา เป็นที่รู้กันแนบแน่นกับบ้านใหญ่บุรีรัมย์และบิ๊กการเมือง ซอยรางน้ำ จึงไม่พลาดที่จะโหวตให้เข้าไปเป็นตุลาการศาล รธน.
ขณะที่ ศ.ร.ต.อ.สุธรรม พบว่าโปร์ไฟล์ การศึกษาและการทำงานถือว่าโดดเด่น เคยเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐหลายปี-เป็นอดีต ผอ.องค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ช่วงปี 2559-2560
แต่ที่น่าสนใจคือ ในใบสมัครที่ ศ.ร.ต.อ.สุธรรมยื่นตอนสมัครรับการสรรหา พบว่าเขียนในช่องประวัติการเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา หรือผู้ทรงคุณวุฒิไว้ตำแหน่งหนึ่งว่า เป็น “คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม” ตั้งแต่ 28 ก.ย.2566 จนถึงปัจจุบัน (วันที่ยื่นใบสมัคร) รวม 1 ปี 6 เดือน ในสังกัดหน่วยงาน กระทรวงยุติธรรม และยังเป็นที่ปรึกษาในคณะทำงานกำหนดนโยบาย เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนภารกิจ กรมสอบสวนคดีพิเศษอีกด้วย
ที่มันน่าสนใจก็เพราะ รมว.ยุติธรรมไม่ใช่ใครที่ไหน ก็ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง คู่แค้นฝังหุ่น ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ ของกลุ่ม สว.สีน้ำเงิน 138 คนที่ถูกอนุ กกต.และดีเอสไอไล่บี้อยู่ จนตอนนี้เป็นคู่กรณีกันด้วย เพราะ สว.สายสีน้ำเงินยื่นคำร้องถอดถอน พ.ต.อ.ทวีออกจากตำแหน่งต่อศาล รธน.พร้อมกับภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ด้วยข้อหาแทรกแซงดีเอสไอในการสอบสวนคดีฮั้ว สว. รวมถึงยังยื่นเรื่องเอาผิดภูมิธรรม พ.ต.อ.ทวี และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
เท่ากับว่า พ.ต.อ.ทวีจึงเป็นคู่กรณีอยู่กับ กลุ่ม สว. โดยเฉพาะ สว.สีน้ำเงินโดยตรง จึงต้องดูกันว่าในการประชุมลับก่อนโหวตจะมี สว.สีน้ำเงิน ซักถาม กมธ.ฯ สอบประวัติฯ ของวุฒิสภา ถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง ร.ต.อ.สุธรรมกับ พ.ต.อ.ทวีอย่างไรหรือไม่ และหากติดใจเรื่องนี้จะส่งผลต่อการโหวตของสว. หรือไม่ แต่หากสว.ไม่ติดใจเพราะเห็นว่าเป็นการไปช่วยงานด้านวิชาการเพื่อปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ทีมงานการเมือง สว.สีน้ำเงิน ก็อาจโหวตเห็นชอบให้ก็ได้
นอกจากนี้วันเดียวกัน สว.ยังต้องโหวตว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ “ณรงค์ กลั่นวารินทร์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา” ให้เข้าไปเป็น กกต.คนใหม่ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะชื่อนี้ไม่ธรรมดาเนื่องจากได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่มีผู้พิพากษาศาลฎีกา 190 คน ตั้งแต่ประธานศาลฎีกาฯ ลงมา เข้าประชุมโหวตส่งชื่อมาให้วุฒิสภา
หากชื่อนี้ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาถูกตีตก มองดูแล้วคงไม่เป็นผลดีกับ สว.สีน้ำเงินและคนที่สั่งให้ สว.สีน้ำเงินโหวตคว่ำ
ลือกันเช่นเคยว่า กลุ่ม สว.สีน้ำเงินอาจหารือกันภายในและรอสัญญาณการเมืองบางอย่างจากผู้มากบารมีที่ สว.สีน้ำเงินเกรงใจ ถึงจะมีความชัดเจนว่าจะลงมติผ่านทั้งสามชื่อ หรือบางชื่ออาจไม่ผ่าน ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงเย็นวันจันทร์ที่ 21 ก.ค. ก่อนการโหวตในวันที่ 22 ก.ค.
สำหรับคดีสำคัญๆ ที่อยู่ในการพิจารณาของศาล รธน.ที่อาจทันให้ตุลาการศาล รธน.ใหม่สองคนหรืออาจแค่คนเดียว หากผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเข้าไปร่วมวินิจฉัยก็เช่น คดีถอดถอน แพทองธาร-คดี สว.ยื่นถอดถอนภูมิธรรม-พ.ต.อ.ทวี เป็นต้น.