ชัวร์ก่อนแชร์ : ประโยชน์ของ “องุ่นดำ” จริงหรือ ?
บนสื่อสังคมออนไลน์แชร์ว่า องุ่นต่างสีมีคุณประโยชน์แตกต่างกัน เช่น องุ่นดำ กินแล้วป้องกันมะเร็งลำไส้ หลอดเลือดหัวใจ หรืออัลไซเมอร์ จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ดร.ภรัณยา ธิยะใจ นักปฏิบัติการวิจัย (ชำนาญการพิเศษ) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
ในท้องตลาดมีองุ่น 3 สี คือ องุ่นสีเขียว องุ่นสีแดง และองุ่นสีดำ (ม่วง)
องุ่นทั้ง 3 ชนิด (3 สี) บางส่วนมีความแตกต่างกัน เช่น สารพฤกษเคมี โดยสารสำคัญที่เป็นตัวบอกความแตกต่างก็คือ สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารสีธรรมชาติชนิดหนึ่งให้สีแดงหรือสีม่วง ซึ่งจะพบในองุ่นแดงและองุ่นดำ (ม่วง) เป็นหลัก แต่โดยภาพรวมอื่น ๆ องุ่นทั้ง 3 ชนิดมีความใกล้เคียงกัน
องุ่นดำ มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น คาเทชิน และเทอโรสติลบีน จริงหรือ ?
ในองุ่นดำมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) คาเทชิน (Catechin) สารพฤกษเคมี (Phytochemical) เทอโรสติลบีน (Pterostilbene) จริง ๆ แต่ว่าทั้งในองุ่นดำ (ม่วง) องุ่นแดง และองุ่นเขียว ก็มีทั้งคาเทชินและเทอโรสติลบีน สารต้านอนุมูลอิสระก็จะทำหน้าที่กำจัดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหลาย ๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง หลอดเลือดและหัวใจ หรือโรคมะเร็งก็ตาม
“องุ่นดำ” ป้องกัน“มะเร็งลำไส้ใหญ่” ได้ จริงหรือ ?
มีการวิจัยเรื่องป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ (แต่เป็นสารสังเคราะห์) พบว่ามีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง แต่การกินองุ่นเพียงอย่างเดียวก็อาจจะไม่ได้ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากขนาดนั้น
“องุ่นดำ” ป้องกัน“โรคหลอดเลือดหัวใจ” ?
มีงานวิจัยที่พบว่าถ้ากิน “องุ่นดำ” และ “องุ่นแดง” ทั้งลูก หรือกินในส่วนเปลือก หรือเมล็ด ก็จะสามารถช่วยลดความดันเลือดได้
มีการทดลองให้ดื่มน้ำองุ่นดำหรือน้ำองุ่นแดง ก็ให้ผลการทดลองที่อาจจะมีความแตกต่างกัน บางการทดลองก็ให้ผลดี สามารถลดคอเลสเตอรอลตัวไม่ดี (LDL : Low-Density Lipoprotein) ได้ แต่บางการทดลองก็พบว่าไม่ได้มีผลต่อคอเลสเตอรอลในเลือด
“องุ่นดำ” ป้องกัน“อัลไซเมอร์” จริงหรือ ?
มีงานวิจัยที่ทำในหนูทดลอง ใช้น้ำองุ่นแดง (มีสารใกล้เคียงกับน้ำองุ่นดำ) พบว่าสามารถช่วยเรื่องความจำได้ และก็ลดอนุมูลอิสระในสมอง ลดการอักเสบ และลดการสะสมของบีตา-อะไมลอยด์ (Beta-amyloid) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายโปรตีนที่เรียกว่า Amyloid Precursor Protein (APP) ในสมอง
อย่างไรก็ตาม เป็นการทดลองในหนูทดลอง ซึ่งเมื่อนำมาทำการวิจัยในคน ผลอาจจะแตกต่างกัน หรือว่าปริมาณที่ใช้อาจจะต้องแตกต่างกัน
“องุ่นดำ” ป้องกันการติด “เชื้อรา” และ “เชื้อไวรัส” จริงหรือ ?
สำหรับการกินองุ่นดำโดยตรง อาจจะไม่ได้มีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อราหรือเชื้อไวรัสได้
มีการวิจัยที่พบว่า ไม่ว่าจะเป็นองุ่นที่ยังไม่สุกหรือกากของผลองุ่น สามารถต้านเชื้อราบางชนิดได้
ตรงนี้ไม่ได้แนะนำให้กินองุ่นดำเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่มีการนำมาประยุกต์ใช้กับเครื่องสำอาง ทำไบโอฟิล์ม หรือเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร
คนเราสามารถกินองุ่นสีใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นองุ่นสีดำ สีแดง หรือสีเขียว ด้วยการกินองุ่นในปริมาณที่เหมาะสม ก็คือประมาณ 5-8 ลูก หรือประมาณ 1 กำมือ และสามารถกินได้ทั้งส่วนของเปลือก เนื้อ และเมล็ด
นอกจากนี้ ไม่แนะนำให้กินองุ่นเพียงอย่างเดียว เนื่องจากองุ่นมีสารอาหารไม่ครบถ้วน และการกินที่ถูกต้องก็ควรจะกินร่วมกับอาหารอื่น ๆ เพื่อให้ได้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่
สรุปว่าประโยชน์ขององุ่นมีความจริงบางส่วน และควรเลือกกินอาหารมีประโยชน์อย่างหลากหลาย ช่วยให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : องุ่นต่างสีมีข้อดีต่างกัน – ประโยชน์ขององุ่นดำ จริงหรือ ?