วช. นำเสนอ "ธนาคารปูม้า" เข้าชิงรางวัลเลิศรัฐ สำนักงาน ก.พ.ร. พร้อมสร้างการบริหารแบบมีส่วนร่วมและความยั่งยืนให้ชุมชน "คืนปูม้าสู่ทะเลไทย"
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ลงพื้นที่ โครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ณ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าและประมงชายฝั่งบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมต้อนรับและรับการตรวจประเมิน ณ พื้นที่ปฎิบัติงาน จากคณะกรรมการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สำนักงาน ก.พ.ร.
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการติดตามผลงานเพื่อรับการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ผลงานการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ "คืนปูม้าสู่ทะเลไทย"
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงความมุ่งมั่นและความสำเร็จของโครงการธนาคารปูม้า ว่า วช. มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ผลงานภายใต้โครงการขยายผลธนาคารปูม้า “เพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ได้เข้ารับการประเมินเพื่อพิจารณารางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2568 ในการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โครงการธนาคารปูม้านี้เริ่มต้นจากงานวิจัยสู่การขยายผลในเชิงพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรปูม้าให้กลับคืนสู่ทะเลอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวประมงชายฝั่ง ชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ และนักวิจัย โดย วช. ทำหน้าที่เป็น “ตัวกลางในการใช้กลไกการวิจัยและนวัตกรรมในหลากหลายมิติ” ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ นำองค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติ ส่งเสริมการปล่อยแม่ปูไข่นอกกระดอง ซึ่งจะเห็นพลังของชุมชนที่ร่วมแรงร่วมใจกันอนุรักษ์และเห็นประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับท้องถิ่น การต่อยอดขยายผลให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ยังส่งผลต่อระบบนิเวศชายฝั่งของประเทศไทยในภาพรวม
รศ.ดร.วาริท เจาะจิตต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี หัวหน้าโครงการธนาคารปูม้าในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี ได้ร่วมกล่าวให้ข้อมูลว่า โครงการธนาคารปูม้าของชุมชนบ้านในถุ้ง มีความมุ่งมั่นที่ร่วมบริหารแบบมีส่วนร่วม ในการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนจาก วช. การเกิดขึ้นและความสำเร็จของโครงการธนาคารปูม้าเป็นผลจากความร่วมมือและความตั้งใจในการฟื้นฟูทรัพยากรในพื้นที่ ในการดำเนินโครงการธนาคารปูม้าในพื้นที่ ณ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าและประมงชายฝั่งบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทำให้โครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล แต่ยังสามารถเชื่อมโยงกับมิติของการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสนับสนุนการศึกษาและวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ช่วยเสริมสร้างข้อมูลในการส่งออกปูม้าอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจและการจัดการทรัพยากรในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยผู้เข้าร่วมการประเมินโครงการธนาคารปูม้าจากในพื้นที่ ประกอบด้วย รศ.ดร.วาริท เจาะจิตต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายกอบศักดิ์ เกตุเหมือน ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช นายพศิน กาญจนะ ปลัดอาวุโส อำเภอท่าศาลา นายอภินันท์ เชาวลิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา นายอยุทธ์ เชาวลิต นายกเทศมนตรีตำบลท่าศาลา นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย นายเจริญ โต๊ะอิแต (บังมุ) นายกสมาคมประมงพื้นบ้านในถุ้ง นายธนวัฒน์ มีศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านในถุ้ง และนายวิรชัช เจ๊ะเหล็ม ตัวแทนประมงชาวบ้าน เข้าร่วมกิจกรรม
นอกจากนี้ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมพร้อมกัน ผ่านระบบ Zoom ประกอบด้วย ศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์ทะเลเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านปากคลอง จังหวัดตรัง ธนาคารปูม้าบ้านน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด และธนาคารปูม้าบ้านท้องโตนด จังหวัดชุมพร
โครงการธนาคารปูม้า ได้ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมยังสนับสนุนการวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเล การศึกษา และการส่งออกปูม้าอย่างยั่งยืน ทั้งยังสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ผ่านการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เหมาะสม
การดำเนินงานในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึง ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ นักวิจัย และประชาชน ที่สามารถผลักดันแนวทางการอนุรักษ์สู่ความยั่งยืน และยังเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนชายฝั่งอื่น ๆ ในประเทศไทยต่อไป
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO