ถอดบทเรียนพายุ ‘วิภา’ แก้น้ำท่วมน่าน
แม้พายุ”วิภา” จะสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว แต่อิทธิพลพายุยังไม่สิ้นฤทธิ์ ภาคเหนือและภาคอีสานยังเผชิญฝน ต้องเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มอย่างใกล้ชิด ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือตอนบนหลายพื้นที่ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะ 3 จังหวัดที่ท่วมใหญ่ น่าน พะเยา และเชียงราย ชาวบ้านเดือดร้อน บ้านเรือนหลายพันหลังจมน้ำ ต้องอพยพชาวบ้านหนีน้ำไปยังพื้นที่ปลอดภัย ถือเป็นภัยพิบัติรุนแรงอีกครั้งทางภาคเหนือของไทย เกิดคำถามถึงแนวทางจัดการน้ำและแผนแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมไทย รวมถึงแนวโน้มความรุนแรงจะหนักขึ้นหรือไม่
สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมหนักในภาคเหนือ 6 จังหวัด น่าน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา และเลย จากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันจากพายุวิภาที่เคลื่อนตัวเข้าประเทศไทย ปัจจุบันเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวออกจากไทยแล้ว ขณะเดียวกันลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดจากฝั่งอันดามันมีกำลังอ่อนลง ปริมาณฝนจะลดลง แต่มีพายุโซนร้อนลูกใหม่ ชื่อ”ดันเต” (ฟรานซิสโก) เกิดในทะเลใกล้เกาะลูซอน ฟิลิปปินส์ ต้องติดตามจะเคลื่อนที่เข้าประเทศไทยหรือไม่
สนธิ กล่าวด้วยว่า น่านได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ มีผู้ประสบภัยจำนวนมาก กลุ่มเประบางและประชาชนตกค้าง น้ำท่วมมิดบ้าน มิดไร่นา โรงพยาบางต้องอพยพผู้ป่วย เหตุที่ จ.น่านวิกฤตหนัก นอกจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ยังมาจากลักษณะภูมิประเทศของน่าน ซึ่งเป็นภูเขาสูง ป่าไม้ถูกทำลาย มีปัญหาภูเขาหัวโล้นถึง 1.8 ล้านไร่ ป่าต้นไม้หมดไป ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ไม่มีป่าซับน้ำ ทำให้น้ำไหลเร็วและรุนแรงสู่ที่ราบ เป็นสาเหตุน้ำท่วม ขณะที่แม่น้ำน่านรับไม่ไหวล้นตลิ่ง ล้นพนังกั้นน้ำ
“ น้ำท่วมน่านปี 2568 ถือว่าท่วมหนักที่สุดในรอบ 40 ปี เพราะศูนย์กลางพายุเข้าที่จังหวัดน่านโดยตรง หากจะแก้ปัญหาและป้องกันน้ำท่วมอย่างจริงจัง รัฐบาลต้องไปสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก รวมถึงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ มีการวางมาตรการป้องกันย่านเศรษฐกิจ จัดระเบียบการใช้ที่ดินหรือโซนนิ่งการใช้ที่ดินใหม่ทั้งหมด ใกล้เนินเขาเสี่ยงดินสไลด์ ริมแม่น้ำก็ไม่ปลอดภัย พื้นที่ไหนเหมาะกับทำเกษตร ลดความเสียหาย รวมถึงรัฐบางต้องเตรียมแผนการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่านได้เร็ว ส่วนปัญหาบุกรุกแม่น้ำน่านเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้น้ำท่วม ก็ต้องเร่งดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างกีดขวางลำน้ำ รวมถึงทำแก้มในพื้นที่ทุ่งเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับการระบายน้ำ ต้องระดมสมอง น้ำท่วมน่านเกิดหลายรอบ ต้องมีการระดมสมองจัดการน้ำอย่างจริงจัง โดยการมีส่วนร่วมระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และส่วนกลาง ส่วนปัญหาเขาหัวโล้นต้องฟื้นฟูให้เป็นป่าเขียวโดยเร็วที่สุด “ สนธิย้ำแก้ท่วมซ้ำซาก
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมระบุขณะนี้มวลน้ำทั้งหมดจาก จ.น่าน ไม่ว่าจะเฉลิมพระเกียรติ ทุ่งช้าง เชียงกลาง ท่าวังผา ท่าช้าง ปัว ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน ก่อนจะไหลลงมาเข้าเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิษ ซึ่งปัจจุบันความจุเขื่อนอยู่ที่ 61% เหลืออยู่เกือบ 40% ส่วนมวลน้ำจากตาก เชียงใหม่ ไหลลงสู่น้ำปิง เข้าเขื่อนภูมิพล จ. ตาก ความจุเขื่อนขณะนี้อยู่ที่58% ยังรับน้ำได้อยู่ ทำให้สถานการณ์น้ำในภาคกลางไม่น่าห่วง
“ ที่น่าเป็นห่วงสถานการณ์น้ำในภาคอีสาน ทั้งที่หนองคาย นครพนม ฝนตกต่อเนื่องหลายวัน ระดับน้ำโขงวัดได้ 9-10 เมตร เป็นระดับน้ำที่เพิ่มสูงต่อเนื่องฉับพลัน บวกกับจีนและ สปป.ลาวปล่อยน้ำลงน้ำโขง ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำโขงให้เตรียมพร้อมรับมือ อีกทั้งน้ำจากเชียงรายแถวสบกก เชียงแสน จะระบายลงแม่น้ำโขงไม่ได้มากนัก เสี่ยงน้ำท่วมเช่นกัน “ สนธิจับตาน้ำโขงเอ่อ
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงระบบแจ้งเตือนภัย นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีแผนเผชิญเหตุที่ดีขึ้น มีการเฝ้าระวัง ติดตาม พายุ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ยังเป็นไปตามระบบที่วางไว้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง รัฐบาลตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์พายุวิภา และให้จังหวัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ให้ผู้ว่าฯ จังหวัดเป็นผู้สั่งการในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อแก้ปัญหาทันท่วงที ส่วน GISTDA ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา ตรวจการเคลื่อนที่ของพายุตลอด 24 ชั่วโมง เช่นกัน
“ ตอนนี้ต้องยอมรับว่า อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ยูเอ็นคาดการณ์ว่าอีก 5 ปี ข้างหน้า จะมีบางปีขยับขึ้นไปถึง 1.7 องศา ซึ่งไม่ใช่แค่โลกร้อน แต่เป็นภาวะโลกรวน อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 3 องศา ในบางช่วง การที่โลกร้อนขึ้นทุกปี ทำให้มีความชื้นในบรรยากาศมากขึ้นกว่าปกติ ทุก 1 องศาที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ไอน้ำระเหยขึ้นไปสะสมในอากาศได้ถึง 7% โดยฝนจะตกเพิ่มขึ้นถึง 5% ในแต่ละครั้งเกิดฝนตกหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำและลำคลองสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดผลกระทบแน่นอน “
สนธิกล่าวต่อว่า อนาคตพายุจะเกิดรุนแรงมากขึ้นด้วย ทะเลจีนใต้เกิดภาวะลานีญาบ้าง เอลนีโญบ้าง อุณหภูมิน้ำสูง เกิดไอน้ำในอากาศ พอความกดอากาศแตกต่างกลายเป็นพายุหมุนเข้าประเทศไทย แนวโน้มจะเกิดถี่และเร็วขึ้น ปกติพายุจะเกิดเดือนสิงหาคม กันยายน ปีนี้กรกฎาคมพายุมาแล้ว ที่ฟิลิปปินส์พายุเข้า 8 ลูกแล้ว ยังดีเข้าประเทศไทยแค่ 1 ลูก เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลต้องหันกลับมามองจริงจัง การจัดการภัยพิบัติ น้ำท่วม ดินถล่มต้องมีแผนจัดการชัดเจนแต่ละเรื่อง แผนอพยพ แผนเผชิญเหตุ ต้องอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน “ สนธิ กล่าว
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมฝากจากนี้เฝ้าระวังเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม หย่อมความกดอากาศต่ำหรือแนวเขตร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักได้ เพราะทุกปีจะมีพายุเข้าไทยเป็นประจำในช่วงเดือนดังกล่าว 1-2 ลูกเป็นอย่างต่อ เดือนกันยายนและตุลาคมต้องจับตา ฝนตกหลังเขื่อนต้องเตรียมพร้อมรับมือ พร่องน้ำ ประชาชนเจอน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการปัญหาผ่านแผนจัดการน้ำที่มีส่วนร่วม
ด้านแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แผ่นดินถล่ม และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. กล่าวว่า ทส.เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานหน่วยงานต่าง ๆ และบูรณาการการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พายุ “วิภา” ที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มในหลายพื้นที่ จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 2,000 คน พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนและสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ เตรียมการสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 10,000 นาย เข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมจัดสัตวแพทย์ประจำศูนย์พักพิงสัตว์เลี้ยง ด้านกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำ เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่บ้านเรือน เส้นทางคมนาคม และสาธารณูปโภคหลักให้กลับมาใช้งานได้โดยเร็ว ส่วนกรมควบคุมมลพิษเฝ้าระวังไม่ให้เกิดมลพิษเพิ่มเติมจากสถานที่กำจัดขยะในพื้นที่น้ำท่วม และเตรียมแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหลังน้ำลด
“ ตนสั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณีวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและดินถล่มแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างต่อเนื่อง ทำงานร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พร้อมกันนี้ให้กำหนดมาตรการเฝ้าระวังพื้นที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ห้ามนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่ดูแล 24 ชั่วโมง และให้ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและอากาศยานจัดทำแผนบินสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย และประสานความช่วยเหลือกับจังหวัด ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน หน่วยงานระดับกรม และ ทสจ. รายงานสถานการณ์และผลการให้ความช่วยเหลือมายังศูนย์อำนวยการและประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ทส. ทุกวัน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทั่วถึง “ นายเฉลิมชัย กล่าว