ถอดบทเรียนญี่ปุ่น วิกฤติโอเวอร์ทัวริซึม ดีต่อเศรษฐกิจ แต่ทิ้งร่องรอยในชุมชน
ปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 37 ล้านคน ด้วยแรงดึงดูดจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง ซึ่งแม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็กำลังสร้างแรงกดดันให้กับ “ประเพณีโอโมเตนาชิ” หรือการให้บริการด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะนักท่องเที่ยวไม่ได้อยู่แค่ในโตเกียวแต่กำลังรุกล้ำเข้าไปในชุมชน “บิเอะ” ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น จนกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมบน Instagram และ Xiaohongshu ของจีน
นักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลหลั่งไหลมาเมืองบิเอะตามรอยโซเชียลมีเดียและเพื่อถ่ายภาพแถวต้นเบิร์ชสีขาว พร้อมกับเข้ามาเหยียบย่ำในที่ดินส่วนบุคคล ทำให้เมืองต้องติดตั้งกล้องที่จะส่งเสียงเตือนหลายภาษาและถ่ายภาพผู้บุกรุก โดยมีรถบัสจำนวนมากเข้ามาจอดแน่นบนถนน จนการจราจรติดขัด
ญี่ปุ่นกำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับทุกคน ตั้งแต่กลุ่มนักเดินทางแบ็คแพ็คเกอร์ Gen Z ปัญหาที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่นี้คล้ายคลึงกับสถานที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาจากนักท่องเที่ยวล้นหลามจนเป็นสาเหตุของค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น
บทเรียนจากเมือง 'บิเอะ'
ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา เมืองบิเอะได้ตัดสินใจว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเกิดขึ้น โดยทีมงานก็ได้ขับรถมายังต้นไม้เก่าแก่หลายสิบปี สตาร์ทเลื่อยยนต์ แล้วตัดต้นเบิร์ชไปประมาณ 40 ต้น แม้ว่าทางเมืองจะให้เหตุผลว่าต้นเบิร์ชเหล่านี้บังแสงแดดไม่ให้ส่องถึงพืชผลทางการเกษตร แต่ชาวบ้านบางคนก็เชื่อว่าการกระทำนี้มีจุดประสงค์เพื่อลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างหาก
พรรคซันเซย์โตะ (Sanseito) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ที่ ตั้งคำถามถึงประโยชน์ของการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและต่อต้าน "การเปิดรับชาวต่างชาติมากเกินไป" ทำให้พรรคของเขาได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสภาสูงเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา
คนในฮอกไกโดไปจนถึงโอกินาวาเริ่มแสดงความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ ร้านอาหารบางแห่งในโตเกียวถึงกับ ปฏิเสธนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่น โดยอ้างว่ามีพนักงานจำกัดและไม่สามารถสื่อสารภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาญี่ปุ่นได้
ส่วนที่เกียวโตมีการติดตั้งป้ายเตือนนักท่องเที่ยวถึงมารยาทพื้นฐาน เช่น ห้ามรับประทานอาหารขณะเดิน ห้ามกีดขวางถนน และห้ามส่งเสียงดัง ในย่านกิออน ซึ่งเป็นย่านตรอกแคบๆ ที่เรียงรายไปด้วยบ้านไม้แบบดั้งเดิม และเมืองต้องเตือนนักท่องเที่ยวที่ถือกล้องถ่ายรูปได้รุมล้อมเกอิชา
ที่บริเวณ ภูเขาไฟฟูจิ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้สร้างสิ่งกีดขวางสูง 2.5 เมตร เมื่อปีที่แล้วในจุดที่ได้รับความนิยมอย่างมากซึ่งสามารถมองเห็นวิวภูเขาไฟที่ปกคลุมด้วยหิมะได้ชัดเจน แต่ต่อมานักท่องเที่ยวก็ได้เจาะรูในสิ่งกีดขวางเพื่อถ่ายรูป และถูกรื้อถอนออกไปก่อนเกิดพายุไต้ฝุ่นในอีกไม่กี่เดือนถัดมา
สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งเริ่มเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นสำหรับผู้ที่ไม่ได้พำนักอยู่ในญี่ปุ่น เช่นในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ศาลเจ้าหนานโซอิน (Nanzoin) ในฟุกุโอกะเริ่มเรียกเก็บเงิน 300 เยน ประมาณ 2 ดอลลาร์ จากชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าชมพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ของศาลเจ้า ในขณะที่คนท้องถิ่นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
กระจายนักท่องเที่ยว ลดความแออัดในเมืองใหญ่
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหานักท่องเที่ยวกระจุกตัวในบางพื้นที่อย่างมาก เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 3 ใน 4 เลือกที่จะพักค้างคืนในเพียง 5 จังหวัดจากทั้งหมด 47 จังหวัด
เพื่อแก้ไขปัญหานี้และกระจายการท่องเที่ยวให้ทั่วถึงมากขึ้น วิธีสำคัญคือการ ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวออกไปสำรวจพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ โดยสายการบิน All Nippon Airways (ANA) เสนอส่วนลดสำหรับเที่ยวบินไปยังภูมิภาคที่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก และ สายการบิน Japan Airlines (JAL) ก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยการให้ตั๋วเครื่องบินภายในประเทศฟรีแก่ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาเดินทางท่องเที่ยวในญี่ปุ่นในเมืองต่างๆ
เพื่อลดความแออัดในเมืองใหญ่และส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคอื่น ๆ ของญี่ปุ่น Hoshino Resorts ซึ่งมีโรงแรมและรีสอร์ทมากกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองเล็ก ๆ ได้ร่วมมือกับสายการบิน JAL เพื่อนำเสนอแพ็กเกจที่รวมเที่ยวบินและที่พัก
กระจายนักท่องเที่ยว ปัญหาใหม่ในพื้นที่เดิม
แม้ว่าความพยายามที่จะกระจายนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนพื้นที่อื่น ๆ ของญี่ปุ่นจะเริ่มประสบความสำเร็จ แต่บางครั้งกลับเป็นการย้ายปัญหาไปยังสถานที่ที่ความพร้อมในการรับมือนักท่องเที่ยวมีน้อยกว่า ดังเช่นกรณีของเมืองบิเอะ
แม้ว่าต้นเบิร์ชจะถูกโค่นไปนานแล้ว แต่นักท่องเที่ยวก็ยังคงหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับปัญหานี้ สภาเมืองบิเอะจึงตัดสินใจในเดือนมิ.ย.ที่จะ เริ่มเก็บค่าจอดรถจากนักท่องเที่ยว แม้ว่าชาวบ้านบางคนจะยังคงกังขาว่ามาตรการนี้จะได้ผลจริงหรือไม่
โทชิกิ นากานิชิ ช่างภาพและผู้อำนวยการคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่น ซึ่งเป็นชาวเมืองบิเอะมานานกว่า 13 ปี ได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า "แม้ว่าต้นไม้จะถูกตัดไปแล้ว แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่ เรามีจิตวิญญาณแห่งการต้อนรับที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคน แต่ถ้าเราไม่สามารถจัดการหรือควบคุมการท่องเที่ยวได้ ก็จะไม่สามารถยั่งยืนได้ในระยะยาว"