โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อ่านกลยุทธ์ไทยเจรจาภาษีทรัมป์ แนะสายตรงวอชิงตัน-ใช้แต้มต่อด้านความมั่นคง

THE STANDARD

อัพเดต 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • thestandard.co
อ่านกลยุทธ์ไทยเจรจาภาษีทรัมป์ แนะสายตรงวอชิงตัน-ใช้แต้มต่อด้านความมั่นคง

นับถอยหลังจากวันนี้ (12 กรกฎาคม) เหลือเวลาอีกไม่ถึง 20 วัน ที่ไทยจะเผชิญเส้นตายการบังคับใช้ภาษีศุลกากรอัตราใหม่ของสหรัฐฯ ที่ 36% ในวันที่ 1 สิงหาคม

ช่วงเวลาที่ยังเหลืออยู่นี้ รัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินการเจรจาและบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ให้ได้โดยเร็ว แต่คำถามสำคัญคือเรามีอะไรที่จะไปแลกเปลี่ยน เพื่อให้รัฐบาลทรัมป์ ยินยอมลดอัตราภาษีลงมา?

รายการ Decoding the World : ถอดรหัสโลก พูดคุยกับรศ. ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ และ ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ร่วมวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากไทยต้องเผชิญภาษี 36% ของสหรัฐฯ และทางเลือกในการเจรจาที่มีอยู่

โดยแม้ระยะเวลาจะค่อนข้างกระชั้นชิด แต่รัฐบาลไทยยังมีโอกาสพิจารณาถึงแต้มต่อที่มีอยู่ ซึ่งการเจรจาข้อตกลง นอกจากเรื่องการค้า ควรครอบคลุมไปถึงมิติอื่นๆ เช่นการต่างประเทศ การเมือง การทหารและความมั่นคง และในขณะเดียวกันอาจต้องใช้การสื่อสารผ่าน ‘ช่องทางพิเศษ’ สายตรงไปถึงบุคคลระดับสูงในรัฐบาลวอชิงตัน เพื่อ ‘ปิดดีล’ ให้สำเร็จ

ภาษี 36% ภาคการผลิตไทยอาจถึงขั้น ‘ทรุด’

ดร. อมรเทพ ชี้ว่าสิ่งแรกที่อาจเกิดขึ้นหากไทยเผชิญกับตัวเลขภาษี 36% คือ “ความเชื่อมั่นที่หายไป” โดยผู้ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย อาจจะรอดูสถานการณ์ และส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นชะลอตัวลง

ผลกระทบที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งคือในภาคการส่งออก ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา การส่งออกจะเติบโตกว่า 10% แต่เป็นเพราะสหรัฐฯ เร่งนำเข้าสินค้าเพื่อสต็อกไว้ก่อน ดังนั้น หากไทยต้องเจอภาษีจากสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดใหญ่ถึง 36% ภาคการผลิตของไทยอาจจะไม่ใช่แค่ ‘แผ่ว’ ลง แต่อาจถึงขั้น ‘ทรุด’ และส่งผลกระทบรุนแรงต่อการจ้างงาน

และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียที่เผชิญภาษีในอัตรา 25% และเวียดนามที่ 20% ก็จะเริ่มมองเห็นว่าความน่าสนใจของภาคการผลิตและการส่งออกของไทยนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ ผลกระทบยังขยายไปสู่ภาคการนำเข้า หากไทยต้องตั้งภาษีนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ก็จะแพงขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ คลังสินค้า และการขนส่งก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน

ที่สำคัญคือผลกระทบสุดท้ายจะตกอยู่กับ ผู้บริโภค หากการส่งออกและการผลิตไม่ดี การเติบโตของค่าจ้างก็จะแผ่วลง เมื่อผู้คนไม่มีเงินเพียงพอ การบริโภคภายในประเทศซึ่งคิดเป็นเกือบ 60% ของ GDP ก็จะลดลงตามไปด้วย ภาคการท่องเที่ยวเองก็อาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง

อย่างไรก็ตาม ดร. อมรเทพชี้ว่ายังไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดคาดการณ์ว่า GDP ของไทยจะติดลบตลอดทั้งปี แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลง โดยจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4 แต่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจไทยก็ยังคงเติบโตได้เหนือ 1%

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความเสี่ยงขาลง (Downside Risk) ที่อาจทำให้ GDP หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเรียกว่า “การถดถอยทางเทคนิค” (Technical Recession) แต่ยังไม่ใช่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแต่อย่างใด แม้จะส่งผลให้ความน่าสนใจในการตั้งโรงงานในไทยลดลง และการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าจะยังคงโตต่ำ แต่ก็คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า

ใช้แต้มต่อด้านความมั่นคง

รศ. ดร.ปณิธาน ชี้ว่าประเด็นสำคัญของการยื่นข้อเสนอในการเจรจากับสหรัฐฯ นั้นไม่ควรจำกัดอยู่แค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องรวมถึง มิติด้านการเมือง การต่างประเทศ หรือการทหารเข้าไปด้วย เพื่อที่จะเติมเต็มกับเงื่อนไขที่เราให้ไม่ได้

โดยที่ผ่านมา ไทยถือเป็นพันธมิตรนอก NATO (Non-NATO Ally) และมีการปฏิบัติการทางทหารร่วมกับสหรัฐฯ มาแล้วมากกว่า 50 ปฏิบัติการ และบางเรื่องก็ลึกลับซับซ้อนมาก เช่น กรณีการจับกุมตัวฮัมบาลี ริดวน อิซามุดดิน แกนนำคนสำคัญของเครือข่ายการก่อการร้ายเจมาห์ อิสลามมิยาห์ (Jemaah Islamiah) ที่จังหวัดอยุธยา เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2003 ในขณะที่กำลังวางแผนการก่อการร้ายโจมตีการประชุมเอเปก (APEC) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งทางการไทยได้ส่งตัวฮัมบาลี ให้ทางการสหรัฐฯ ก่อนจะถูกนำไปคุมขังที่เรือนจำในอ่าวกวนตานาโม ของคิวบา

หรือกรณีการจับกุมตัววิกตอร์ บูท พ่อค้าอาวุธรายใหญ่ชาวรัสเซียส่งให้สหรัฐฯ ซึ่งปฏิบัติการเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และสามารถหยิบยกเป็นตัวอย่างของความร่วมมือที่ไทยมอบให้ได้

นอกจากนี้ รศ. ดร.ปณิธาน ชี้ว่าอีกข้อเสนอที่สามารถดำเนินการได้ในยามวิกฤตเช่นนี้ คือการรวมงบประมาณการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพทั้ง 3 เหล่าทัพ เพื่อทำให้ไทยสามารถเสนอซื้อยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ ในระยะยาว ด้วยเม็ดเงินที่เพียงพอ และไม่ต้องเดือดร้อนงบประมาณแผ่นดิน

ขณะที่การยื่นข้อเสนอซื้อยุทโธปกรณ์จำนวนมากจากสหรัฐฯ จะเป็นอีกแนวทางที่ทำให้ทรัมป์สามารถนำไปเสนอต่อสภาคองเกรส เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไทยเป็น

พันธมิตรที่สำคัญ

การสื่อสารช่องทางพิเศษ

ทั้งนี้ การยื่นข้อเสนอโดยมีแพ็กเกจด้านการทหารหรือความมั่นคงไปด้วยนั้น รศ. ดร.ปณิธาน มองว่าสิ่งที่ทำให้บรรลุเป้าหมายข้อตกลงได้ คือการสื่อสารช่องทางพิเศษ

โดยเขามองว่า รัฐบาลและผู้มีอำนาจของไทย ควรที่จะต่อสายตรงไปยังบุคคลสำคัญอย่าง ทรัมป์, พีธ เฮธเซ็ก รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯหรือมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการมาร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซีย ซึ่งทั้ง 3 คนเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการปรับลดอัตราภาษี

แต่การพูดคุยกับรูบิโอนั้น รศ. ดร.ปณิธาน มองว่าไทยอาจจำเป็นต้องปรับความเข้าใจเสียก่อน เนื่องจากที่ผ่านมารัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นั้นเคยมีท่าทีไม่พอใจไทย ต่อกรณีการส่งผู้อพยพชาวอุยกูร์กลับไปยังจีน

มาตรการรับมือและเยียวยาภายในประเทศ

นอกจากกลยุทธ์การเจรจาภายนอกแล้ว การปรับตัวและมาตรการรับมือภายในประเทศก็สำคัญเช่นกัน โดยดร. อมรเทพเสนอว่า ไทยสามารถพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ได้ในบางกลุ่ม แม้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรบางกลุ่ม แต่การนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศได้ อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเนื่องจากภาคเกษตรแม้จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิประมาณ 10% ของ GDP แต่ก็มีการจ้างงานสูงถึง 40-50%

ส่วนประเด็นการส่งสินค้าของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีน ผ่านไทย ส่งออกไปยังสหรัฐฯ หรือ Transshipping ซึ่งไม่ส่งผลให้ภาคการผลิตหรือการจ้างงานของไทยเติบโต เป็นอีกประเด็นที่ต้องมีการเจรจา โดยไทยสามารถลดการขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ ได้ และไม่กระทบภาคการผลิตในประเทศ ด้วยการลดการส่งออกสินค้าจากประเทศอื่น และเน้นส่งออกเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงจากในประเทศ

ขณะที่การเยียวยาภาคเอกชนและเกษตรกร ดร. ปณิธานเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเตรียม แพ็กเกจเยียวยา สำหรับภาคเอกชนและเกษตรกร ในกลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบ ควรมีมาตรการเหล่านี้ออกมาทันทีโดยไม่ต้องรอให้ผลกระทบปรากฏชัดเจนในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งการเยียวยาที่ตรงจุดและรวดเร็วจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาล

ปรับสมดุลความสัมพันธ์ รับมือจีน-สหรัฐฯ

จากท่าทีของสหรัฐฯ ที่แสดงจุดยืนหนักแน่นต่อมาตรการภาษีตอบโต้และการมุ่งเน้นการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง และท่าทีของจีนที่ส่งสัญญาณเตือนว่าจะตอบโต้ประเทศใดก็ตามที่ทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ โดยตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ไทยที่มีจุดยืนไม่เอนเอียงไปยังมหาอำนาจข้างใดมากจนเกินไปต้องหาหนทางเพื่อรักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ

รศ.ดร. ปณิธานชี้ว่าไทยเป็นประเทศที่ “รักทั้งพี่รักทั้งน้อง” และยังไม่จำเป็นต้องเลือกข้างในตอนนี้

เขามองว่าการเจรจาข้อตกลงกับสหรัฐฯ ควรทำคู่ขนานไปกับการเจรจากับจีน โดยควรมี “ทีมไทย-จีน” และ “ทีมไทย-สหรัฐฯ” ที่ทำงานคู่ขนานกัน

ด้านดร. อมรเทพเห็นด้วยว่าไทยไม่ต้องการเลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด (18% ของการส่งออกทั้งหมด และ 10% ของ GDP) ในขณะที่จีนเป็นคู่ค้าอันดับสอง แต่ไทยเองก็ต้องมองหาโอกาสและพันธมิตร รวมถึงเจรจากรอบความร่วมมือการค้าเสรีอื่นๆ

กรณีของกลุ่ม BRICS ที่ทรัมป์ มองว่าเป็นกลุ่มต่อต้านสหรัฐฯ และได้ออกมาเตือนว่าจะใช้มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้ หากมีการสนับสนุนนโยบายที่ต่อต้านสหรัฐฯ หรือพยายามบ่อนทำลายบทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (De-Dollarization) ในการค้าระหว่างประเทศ เป็นอีกประเด็นที่ไทยต้องแสดงท่าทีให้ชัดเจน

โดยรศ.ดร.ปณิธาน ชี้ว่าการเข้าเป็นหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS เพื่อค้าขายกับประเทศสมาชิกนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องยืนยันชัดเจนและตรงไปตรงมาต่อสหรัฐฯ ว่าไทยไม่ได้เป็นสมาชิก และไม่ได้สนับสนุนแนวคิดต่อต้านสหรัฐฯหรือพยายามทำลายหรือลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์

“เราอยากจะค้าขายกับอินเดีย เราอยากจะลดความเสี่ยง มันไม่ผิดอะไรนะครับ ที่เราจะไปค้ากับประเทศเหล่านี้ในกลุ่ม BRICS และเราก็ไม่ได้จะมาทำลายระบบ การเงินของอเมริกัน เราจะไปทำลายทำไม ก็พูดกับสหรัฐฯ ให้ชัดๆ”

ทั้ง ดร. ปณิธาน ชี้ว่าในวิกฤตนี้ยังมีโอกาส โดยรัฐบาลไทยต้องสื่อสารอย่างชัดเจนและรวดเร็วเกี่ยวกับมาตรการรับมือและการเยียวยา

ขณะที่สิ่งสำคัญคือการสร้างความมั่นใจว่า “ทีมไทยแลนด์” สามารถรับมือสถานการณ์ได้และใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์พิเศษกับสหรัฐฯ ที่มีมายาวนาน

โดยสิ่งที่ประชาชนต้องการเห็นหลังจากนี้ คือการลงมือทำ ‘อย่างรวดเร็ว’ และ ‘เป็นรูปธรรม’

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก THE STANDARD

รูบิโอหารือหวังอี้ เห็นพ้องขยายความร่วมมือระหว่างกัน ท่ามกลางความตึงเครียดสหรัฐฯ-จีน

7 นาทีที่แล้ว

Sad Cupid เพลงอิเล็กทรอนิกส์ป๊อปจากยูนิตพิเศษ CGM48 ที่ได้ กอล์ฟ F.HERO ร่วมโปรดิวซ์

22 นาทีที่แล้ว

MILLI ส่งอัลบั้มที่ 2 ของชีวิต HEAVYWEIGHT ที่เล่าเรื่องราวการเติบโต พร้อมมิวสิกวิดีโอ SICK WITH IT

35 นาทีที่แล้ว

Robert Downey Jr. เผยว่า Pedro Pascal ทำให้เขากลับมามีศรัทธาในวงการภาพยนตร์อีกครั้ง

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความทั่วไปอื่น ๆ

ไม่รอด 3 ชาวกัมพูชาถูกทหารจับ ย่องกลับบ้านเกิดเส้นทางธรรมชาติ

คมชัดลึกออนไลน์

อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธรฯ เข้าพบ บก.ปปป. “บิ๊กเต่า” เผยพระชั้นผู้ใหญ่เกี่ยวพันคดีสีกากอล์ฟเพิ่มต่อเนื่อง

สยามรัฐ

รมว.สธ.สั่งเร่งช่วยน้ำท่วมอุตรดิตถ์-เหนือ จัดทีมแพทย์พร้อมดูแลใกล้ชิด

ไทยโพสต์

อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธร ย่องแจงปมสัมพันธ์ฉาว "สีกากอล์ฟ"

Manager Online

หนุ่มขับกระบะมาหาแฟน พุ่งตกสะพานสูงกว่า 10 เมตร รถหงายท้องล้อชี้ฟ้าทับร่างเสียชีวิตคาที่

มุมข่าว

เชียงราย อ่วม! ฝนตกหนัก น้ำท่วม 15 อำเภอ เร่งสำรวจความเสียหาย

The Bangkok Insight

เช็กด่วน! "หมอเจด" เตือน 5 สัญญาณ “ผิวพรรณผิดปกติ” อาจเป็นสัญญาณเตือน "มะเร็งตับ"

สยามรัฐ

ชาวกำแพงเพชรเดือด! ด่า 'ไอซ์ รักชนก' หลังเตรียมตรวจสอบงบเกษตร 'ไผ่ ลิกค์'

Khaosod

ข่าวและบทความยอดนิยม

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ นำประชุม หารือร่วมกับ กกร. ประเมินผลกระทบเศรษฐกิจ จากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ

THE STANDARD

หมูไทยแพ้สหรัฐฯ ทุกทาง KResearch เตือน อาจเสียหายกว่า 112,330 ล้านบาท หากไทยเปิดทางให้หมูสหรัฐฯ ตีตลาด

THE STANDARD

สว. ติดตามใกล้ชิดภาษีสหรัฐฯ 36% ห่วงทำผู้ประกอบการอ่วม แนะรัฐบาลใช้เวลาเจรจาเต็มที่

THE STANDARD
ดูเพิ่ม
Loading...