ยุโรปร้อนทะลุปรอท จนประเด็น “ติดแอร์” ดีไหม? กลายเป็นศึกการเมืองในฝรั่งเศส!
คลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมยุโรปยังคงทวีความรุนแรงและเคลื่อนตัวไปทางตะวันออก ส่งผลให้หลายประเทศเผชิญอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเยอรมนีคาดว่าจะทำสถิติอุณหภูมิสูงสุดใหม่ ขณะที่ฝรั่งเศสกำลังเกิดข้อถกเถียงทางการเมืองอย่างร้อนแรงเกี่ยวกับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในพื้นที่สาธารณะ
ผู้นำพรรคขวาจัดของฝรั่งเศส “มารีน เลอแปง” ออกมาเสนอ “แผนการใหญ่สำหรับเครื่องปรับอากาศ” ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2027 โดยระบุว่าเครื่องปรับอากาศสามารถช่วยชีวิตคนได้ และกล่าวหาว่าฝรั่งเศสล้าหลังกว่าหลายประเทศทั่วโลกที่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศอย่างแพร่หลาย
พันธมิตรของเลอแปงในรัฐสภาเสนอร่างกฎหมายให้มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในสถานที่สาธารณะที่สำคัญแบบ “ภาคบังคับ” อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฝรั่งเศสออกมาตอบโต้แนวคิดดังกล่าวว่าเป็นความเข้าใจผิด และไม่ใช่ทางออกของวิกฤตโลกร้อน
ด้านรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม “อาญแนส ปานิเยร์-รูนาแชร์” ระบุว่า ฝรั่งเศสบังคับให้มีเครื่องปรับอากาศในบ้านพักคนชรามานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่การติดตั้งอย่างกว้างขวางอาจส่งผลเสีย เนื่องจากเครื่องปรับอากาศปล่อยความร้อนออกภายนอก และยิ่งกระตุ้นอุณหภูมิในเมืองให้สูงขึ้น
ส่วนด้านผู้นำพรรคกรีน “มาริน ต็องเดอลิเยร์” ก็ออกมาวิจารณ์เลอแปงเช่นกันว่า นโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคขวาจัดนั้นจำกัดแค่ “การซื้อเครื่องปรับอากาศ” โดยเสนอว่าควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการปรับปรุงฉนวนกันความร้อนในอาคารมากกว่า
และถ้าหากดูสถานการณ์คลื่นความร้อนในหลายประเทศยุโรป ตอนนี้ยังคงเลวร้ายอย่างต่อเนื่องเช่นในสเปน เจ้าหน้าที่พบศพแรงงานในฟาร์มสองรายใกล้พื้นที่ไฟป่าในแคว้นเลเยดา ซึ่งไฟป่าได้ลุกลามเผาทำลายพื้นที่กว่า 6,500 เฮกตาร์ ทางการต้องสั่งให้ประชาชน 18,000 คนอยู่แต่ในบ้านเพื่อความปลอดภัย
ด้านประธานแคว้นกาตาลุญญา “ซัลบาดอร์ อิยา”ก็ได้ออกเตือนประชาชนให้ระวัง เพราะไฟป่าในปัจจุบัน “แตกต่างจากในอดีต” ด้วยความเร็วและความรุนแรงที่คาดไม่ถึงในวันเดียวกัน เด็กชายคนหนึ่งในแคว้นตาร์ราโกนาเสียชีวิตจากอาการฮีตสโตรก หลังถูกทิ้งไว้ในรถที่ร้อนจัด และในฝรั่งเศส กระทรวงพลังงานรายงานเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตสองรายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคลื่นความร้อน และมีประชาชนมากถึง 300 คนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ส่วนที่อิตาลี ชายวัย 70 ปีคนหนึ่งถูกพบเป็นศพในรถบรรทุกของเขา ส่วนแรงงานก่อสร้างวัย 57 ปีล้มลงเสียชีวิตกลางวันแสก ๆ ขณะทำงานที่เมืองจูเลียโน ดิ โรมา นอกจากนี้ ชายวัย 85 ปีในเจนัวก็เสียชีวิตจากอาการขาดน้ำ และมีผู้เสียชีวิตอีกสองรายในซาร์ดิเนีย ขณะอยู่บนชายหาด
ภาวะอากาศร้อนจากคลื่นความร้อนยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานหลายเมืองในอิตาลี เช่นเหตุการณ์สัญญาณไฟจราจรหยุดทำงาน ประชาชนติดอยู่ในลิฟต์ และร้านค้าหลายแห่งต้องปิดก่อนเวลา เนื่องจากไฟฟ้าดับ อันเนื่องมาจากการใช้เครื่องปรับอากาศและพัดลมที่หนักเกินไป
ผู้ให้บริการพลังงาน Enel ระบุว่า สายไฟใต้ดินที่ร้อนเกินไปก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของไฟฟ้าดับ โดยในเมืองฟลอเรนซ์ ร้านค้าชื่อดัง La Rinascente ต้องอพยพพนักงานออกจากอาคาร และขึ้นป้ายแจ้งหยุดให้บริการชั่วคราว
และกระทรวงสาธารณสุขของอิตาลีก็ออกประกาศเตือนภัยอากาศร้อนระดับสูงสุด หรือระดับสี “แดง” ใน 18 เมือง โดยเตือนว่าความร้อนครั้งนี้อาจเป็นอันตรายต่อแม้แต่คนที่อายุน้อยและแข็งแรงนอกจากนี้ ภาคเกษตรกรรมก็เริ่มได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิสูงจัด ทั้งผลไม้ไหม้จากแดด น้ำนมวัวลดลง และปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงในภาคใต้ของประเทศ
องค์กร Coldiretti ซึ่งเป็นสมาคมเกษตรกรที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลีรายงานว่า เริ่มเห็นสัญญาณความเสียหายตั้งแต่เมลอนที่ถูกแดดเผาในแคว้นทัสคานี ไปจนถึงการขาดแคลนน้ำนมในแคว้นลอมบาร์เดีย และการต้องจำกัดการใช้น้ำในเกาะซิซิลี
ส่วนเยอรมนีก็เป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญอุณหภูมิพุ่งสูงสุดในรอบปี โดยคาดว่าอุณหภูมิจะเข้าใกล้ 40°C ทั่วประเทศ และอาจทำลายสถิติเดิมที่ 41.2°C ซึ่งเคยเกิดขึ้นในปี 2019
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ชาวญี่ปุ่นนอนไม่หลับ แผ่นดินไหวทะลุพันครั้ง!
- “ฝนบ๊วย” ถล่มจีน น้ำทะลัก-ดินถล่มหลายเมือง
- แผ่นดินไหวหมู่เกาะนิโคบาร์ ไม่กระทบไทยและไม่ก่อสึนามิ ด้านนักวิชาการเตือนยังประมาทไม่ได้
- ญี่ปุ่นอพยพชาวบ้านหลังแผ่นดินไหวกว่า 1,000 ครั้ง
- โลกให้สัญญาแต่ไม่ให้เงิน! ประเทศเสี่ยงสุดได้แค่เศษเงิน ทั้งที่วิกฤตโลกร้อนนั้นไม่รอใคร