ถนนสูงท่วมกำแพง ทล.ชบ.ถอย 40 ซม. ชาวบ้านกังขาเคยถามย้ำได้คำตอบไม่ตรง
ฉะเชิงเทรา – ถนนสูงท่วมกำแพง ขวางรั้วหน้าบ้านปิดทางค้าขายทำกิน ล่าสุด ทล.ชบ.ยอมถอยลดระดับขอบลง 40 ซม. ขณะชาวบ้านยังกังขาเคยถามย้ำหลายครั้งแต่คำชี้แจงไม่ตรงตามสร้างจริง ทั้งจากคนหน้างานและในเวทีรับฟังความคิดเห็น 2 ครั้ง ทำเครียดจนถึงขั้นป่วยซึมเศร้า มองปัญหา จนท.ยึดหลักกฎเกณฑ์ยุคเก่าที่ต้องปรับแก้ให้ทันยุค ขณะโครงการแจงการก่อสร้างแล้วเสร็จ ปชช.จะได้ประโยชน์สูงขึ้นจากมูลค่าทรัพย์สิน
วันที่ 17 ก.ค.68 เวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับการเปิดเผยจาก น.ส.วรดาลักษณ์ ธัญจริยะรัตน์ อายุ 48 ปี ชาวบ้าน ม.4 ต.พิมพา อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ว่า เมื่อวานนี้ (16 ก.ค.68) ทางผู้ดำเนินการก่อสร้างขยายถนนจากสี่แยกเกาะไร่ไปยังตลาดวัดพิมพา ซึ่งนำโดยนายโชคพิพัฒน์ เลิศพงศ์อารยะ รองผู้จัดการโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบท ฉช.2004 ทางเชื่อมจาก ทล.34 (บางนา-ตราด) – ทล.314 (ฉะเชิงเทรา-บางปะกง) ตอนที่ 1 ได้ลงมาทำความเข้าใจต่อชาวบ้าน
ถึงระดับถนนตามสัญญาเลขที่ 44/2566 ลงวันที่ 17 มี.ค.66 ให้ก่อสร้างขยายถนนจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 4.425 กม. มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน บริเวณใกล้กับคอสะพานข้ามคลองขวางล่าง ที่ได้มีการก่อกำแพงเป็นแนวถนนปิดขวางทางเข้าบ้านเรือนประชาชน และขวางหน้าร้านค้าริมทางสูงถึงกว่า 2 เมตร จนไม่สามารถประกอบอาชีพทำกินได้อีกต่อไป หากถนนสายนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จว่า
ทางสำนักก่อสร้างทาง กรมทางหลวงชนบทได้หารือและจะทำการลดระดับความสูงของกำแพงกันดินขอบถนนให้เท่ากับระดับผิวการจราจรที่กำลังดำเนินการก่อสร้างใหม่ เพื่อลดความสูงของกำแพงที่บังหน้าร้านค้าและทางเข้าออกบ้านเรือนของประชาชน ลงมาจากเดิมประมาณ 40 ซม. แต่ตนเองและครอบครัวมองว่าระดับความสูงของกำแพงทึบที่ทางหลวงชนบท กำลังทำการก่อสร้างนี้ยังคงมีระดับความสูงเกินไปกว่าที่ได้มีการพูดคุยกันไว้ในระหว่างการเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่
ซึ่งได้มีการบอกต่อชาวบ้านเมื่อกว่า 3 ปีก่อนว่า ระดับถนนจะสูงเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่มากเพียงประมาณ 75 ซม.เท่านั้น แต่เมื่อโครงการได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างและมีการเทคอนกรีตก่อกำแพงขึ้นมา กลับมีขอบความสูงมากถึงกว่า 2 เมตร จนสูงท่วมเหนือแนวรั้วบ้านเดิมและปิดกั้นพื้นที่ รวมถึงเส้นทางการเข้าออกจากตัวบ้านร้านค้าตลอดแนว ทั้งที่ตนเองได้เคยพยายามสอบถามถึงระดับความสูงของถนนมาโดยตลอด จากในเวทีรับฟังความคิดเห็นถึง 2 ครั้ง และจากทางช่างสำรวจผู้ออกแบบ ผู้ดำเนินโครงการก่อสร้าง และผู้รับเหมาก่อสร้างแล้วจำนวนหลายครั้ง
ซึ่งทุกครั้งจะได้รับคำตอบว่าไม่สูงมาก แต่เมื่อเข้ามาก่อสร้างจริงๆ กลับสร้างกำแพงสูงอย่างน่าตกใจ และทำให้ตนถึงกับนอนน้ำตาไหล นอนไม่หลับ เมื่อบุตรสาวถามตนว่าแล้วเราจะออกจากบ้านกันอย่างไร จนทำให้เกิดเป็นความเครียดถึงขั้นเกิดอาการป่วยซึมเศร้าตามมา โดยต้องเข้าไปพบแพทย์รักษาจากเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง
แม้ล่าสุดทางฝ่ายของผู้ดำเนินการก่อสร้าง จะเข้ามาทำการชี้แจงปรับลดระดับแนวของขอบถนนให้แล้ว โดยได้ลดลงมาจากระดับเดิมประมาณ 40 ซม. แต่ระดับความสูงของกำแพงที่ปิดขวางหน้าบ้านก็ยังคงสูงมากถึงกว่า 1.5 เมตร โดยตนนั้นก็เข้าใจตามที่ผู้รับเหมาเข้ามาพูดคุยบอกถึงความเจริญที่จะเกิดขึ้น หากถนนถูกสร้างแล้วเสร็จก็ตาม แต่ความสูงของถนนก็ไม่ควรที่จะมากถึงขนาดนี้ ซึ่งหากโครงการขยายถนนเป็นไปตามที่ได้เคยบอกเอาไว้ว่าจะสูงขึ้นเพียงประมาณ 50-80 ซม.นั้น ตนก็พร้อมที่จะยอมรับได้
ในครั้งแรกที่เห็นระดับของถนนก็เกิดความตกใจ ที่ถนนหน้าบ้านถูกสร้างเป็นกำแพงสูงเหนือกว่าระดับแนวรั้วบ้านที่สูงถึงกว่า 2 เมตร และได้พยายามสอบถามไปยังโครงการ โดยไม่รู้ว่าจะไปสอบถามจากใคร หรือขอความช่วยเหลือจากใครได้เพราะเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา โดยคำตอบที่ได้รับการยืนยันจากทางโครงการบอกว่าเป็นระดับความสูงของถนนจริง และยังบอก “ให้คิดเสียว่ามีห้องใต้ดินอยู่ข้างล่าง” ทำให้ตนเองรู้สึกตกใจจนรับไม่ได้ และนอนร้องไห้น้ำตาไหลซึมมาโดยตลอด
ขณะที่ร้านค้าของตนนั้นเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนหน้าที่โครงการนี้จะมาถึงเพียงไม่นาน จึงทำให้รู้สึกเจ็บปวดคิดอยู่ในใจมาโดยตลอด จนถึงขั้นเครียดและป่วยซึมเศร้า เวลาขับรถไปก็ยังร้องไห้ไป โดยต้องไปหาหมอพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอยู่บ่อยครั้ง น.ส.วรดาลักษณ์ กล่าว
ส่วนคลองขวางเก่าที่กำลังจะทำสะพานข้ามให้สูงขึ้นนั้น เป็นคลองขนาดเล็กที่ปัจจุบันมีสะพานข้ามคลองในถนนเดิมอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้มีความสูงมากนักและไม่มีเรือขุดลอดผ่านแล้ว รวมถึงเรือชาวบ้านเรือเกี่ยวข้าวไม่มีใครผ่านหรือใช้การสัญจรแล้ว จึงมีคำถามว่าทำไมจึงยังต้องสร้างสะพานสูงขึ้นอีก แต่ได้รับคำตอบว่ายึดจากแบบในอดีต ทั้งที่ในความรู้สึกของชาวบ้านนั้นมองว่าขณะนี้ได้มาถึงยุค 5G แล้วทำไมยังต้องยึดแบบเก่าๆ อยู่อีก ซึ่งในปัจจุบันเขาไม่ได้ใช้เรือขุดแล้ว แต่ใช้รถแบคโฮเข้ามาขุดแทนและยังสามารถขึ้นมายังที่ด้านข้างคลองได้และลงไปยังอีกฝั่งหนึ่งได้ น.ส.วรดาลักษณ์ กล่าวในที่สุด
ขณะที่นายโชคพิพัฒน์ เลิศพงศ์อารยะ รองผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า การออกแบบสร้างสะพานข้ามคลองนั้น จะต้องขออนุญาตจากทางกรมชลประทาน โดยท้องคลองต้องอยู่ในระดับตามที่ทางชลประทานกำหนดขนาดความสูงช่องลอดเอาไว้ ที่ต้องกลับไปดูจากข้อมูลเดิม โดยเมื่อก่อนถนนสายนี้มีขนาด 2 ช่องจราจร ความลาดเอียงของถนนจะเริ่มที่คอสะพาน แต่โครงการนี้เป็นถนนขนาด 4 เลน จึงต้องทำทุกอย่างให้ได้มาตรฐาน และบริเวณทางแยกจะต้องราบเพื่อมีสัญญาณไปจราจรแยกเข้าถนนเลียบคลองอีกสายที่เชื่อมเข้ามา
ซึ่งในระหว่างที่ชาวบ้านได้ทำการปรับปรุงบ้านนั้น เป็นช่วงก่อนที่โครงการจะเข้ามา ซึ่งหากโครงการมาก่อน จะสามารถให้คำแนะนำต่อทางเจ้าของบ้านได้ แต่ระยะเวลาที่มานั้นไม่ทันกัน หลังได้หารือกันแล้วจึงได้ทำการปรับลดระดับของกำแพงขอบถนนลง โดยไม่ต้องมีขอบฟุตบาทเพื่อให้ขอบด้านนอกอยู่ในระดับเดียวกับความลาดเอียงเทลงมาของพื้นถนน ซึ่งก็ถือว่าน่าจะดีขึ้น
หากก่อสร้างเป็นถนนขนาด 2 เลนก็คงไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะยังมีพื้นที่กว้างพอและไม่ต้องมีทางเท้า แต่หากโครงการนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จชาวบ้านก็จะได้ประโยชน์ จากที่ดินที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพราะติดอยู่กับถนนขนาด 4 เลน จึงถือว่าได้อย่างเสียอย่าง ในขณะการออกแบบก็ได้มีการประชุมกันแล้ว แต่ชาวบ้านบางรายอาจจะยังนึกไม่ออก และอาจจะมีคำถามที่อาจจะส่งไม่ถึงกัน โดยการปรับระดับขอบถนนจะลดลงไปตลอดแนวทางลาดขึ้นสะพาน ระยะทางประมาณ 125 เมตรทั้ง 2 ฝั่งถนน นายโชคพิพัฒน์ กล่าว