"สุรเดช" แนะรัฐบาลถอดความสำเร็จสมัย "พล.อ.ประวิตร" ใช้แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง
นายสุรเดช ยะสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงสถานการณ์การแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ภาคเหนือ ของไทยที่ตอนนี้ข่าวน้ำท่วมในหลายจังหวัด ว่า หาก พรรคพลังประชารัฐ มีโอกาสแก้ปัญหานี้ คงไม่ยากจนเกินไป เริ่มต้นต้องใช้วิธีเกลี่ยน้ำ เสียก่อน หมายความว่า น้ำมีระดับของมัน สมมุติ ระดับน้ำปกติสูง 5 เมตร แล้วมีน้ำขึ้นมาระดับ 5.20 เมตร ก็ต้องเร่งเคลียร์น้ำที่เพิ่มขึ้น 20 ซม.นี้ โดยเกลี่ยให้ไปอยู่ในพื้นที่อื่นใกล้เคียง ที่มีปริมาณน้ำน้อยยังสามารถรับน้ำได้อีกเสียก่อน และจึงเร่งแจ้งพี่น้องประชาชนให้ทราบ
รัฐบาลก็ต้องเร่งบูรณาการบริหารจัดการน้ำ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานเร่งแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม ทำให้น้ำไม่ท่วม มี 4 กรมฯ 1 ศูนย์ฯ คือ 1. กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย 2.กรมอุตุนิยมวิทยา 3.กรมชลประทาน 4. กรมทรัพยากรน้ำ และ 5 ศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องติวเข้มหาคนเก่ง มีความรู้ ความสามารถ ที่เหมาะสม มาเป็นหัวหน้า ตัวขับเคลื่อน ต้องไม่มีระบบเส้นสาย แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้เรียกได้ว่าไม่มีประสิทธิภาพ ทุกหน่วยงานมีอธิบดี-ผู้อำนวยการ คนเป็นรัฐมนตรี ไม่ว่า กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือกระทรวงใดๆที่เกี่ยวข้อง ต้องมีหน้าที่ลงไปติดตามงาน ให้มีการเตรียมการณ์ให้พร้อม ไม่ใช่รอให้เกิดเหตุแล้วเพิ่งลงไปช่วยชาวบ้าน ต้องทำงานในเชิงรุก
"หากย้อนกลับไปในสมัย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ดูแลการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ ท่านพล.อ.ประวิตร ได้นำหน่วยงานเหล่านี้มาบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ ประสบความสำเร็จ น้ำไม่ท่วมซ้ำซาก เหมือนรัฐบาลชุดปัจจุบัน รัฐบาลตอนนี้เหมือนขี่ม้าปล่อยมือ เหมือนไม่ได้สนใจเรื่องน้ำท่วม-น้ำแล้ง อย่างจริงจัง หากจะให้พูดก็เหมือนแค่ต้องการใช้งบประมาณหรือไม่” นายสุรเดช กล่าว.
รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวอีกว่า ปกติระบบเตือนภัยสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้หลายชั่วโมง ตามมาตรฐานในต่างประเทศ แจ้งประชาชนก่อนประมาณ 6-12 ชั่วโมง สำหรับเมืองไทยควรแจ้งเตือนได้ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง แต่ชาวบ้านในพื้นที่บอกผมว่า พวกเขารู้ตัวก่อน แค่ 1-2 ชั่วโมง แล้วจะไปเตรียมตัวอะไรทัน จะขนข้าวขนของอย่างไรไม่ให้เกิดความเสียหาย
นายสุรเดช เสนอแนะต่อว่า การแก้ปัญหาระยะกลาง ต้องให้กรมฯและกระทรวงต่างๆที่มีหน้าที่ ทั้ง มหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องมาบรูณาการงานร่วมกันเป็นระบบให้ได้ ส่วนระยะสั้น เห็นควรต้องเปลี่ยนตัวคนทำงานให้มีประสิทธิภาพ ความรู้ ความสามารถ เข้ามาหรือไม่ ต้องมีการคาดโทษ ผู้รับผิดชอบ รวมถึงอาจมีการโยกย้าย หากชาวบ้านยังประสบปัญหาซ้ำซากอยู่อีก หรือไม่?
“ส่วนการแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว คือ การจัดการกับปัญหาตัดไม้ทำลายป่าบนที่สูง เช่น บนดอยหรือบนภู ต้องไม่ปล่อยให้ชาวบ้านขยายพื้นที่เพาะปลูกแบบผิดกฎหมาย ต้องเข้าไปกำหนดพื้นที่เกษตรกรรมให้กับประชาชนที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้อง ส่วนที่ดินผืนใดที่ผิดกฎหมายให้ยึดคืนมาเป็นของรัฐ และทำการปลูกต้นไม้ ปลูกป่า เมื่อต้นไม้เติบโตก็จะเป็นปราการซับน้ำ เป็นการป้องกันน้ำท่วม-น้ำแล้ง-ดินโคลนสไลด์ แบบถาวร รวมทั้งต้องสร้างอ่างเก็บน้ำบนยอดเขา เวลาหน้าแล้งจะได้กักเก็บน้ำ ขณะหน้าฝนพร่องน้ำออกซักครึ่งหนึ่ง จะได้รองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา เป็นการป้องกันปัญหาแบบยั่งยืนด้วย “รองหัวหน้า พปชร.” กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง