ตอกเข็มแล้ว! ทางด่วนสายใหม่ “จตุโชติ-ลำลูกกา” 16.2 กม. เปิดกลางปี 71
"ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์" รายงานว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ได้ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) โครงการก่อสร้างทางพิเศษ(ด่วน) ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา แก่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ผู้รับจ้างโครงการฯ แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2568 พร้อมทั้งส่งมอบพื้นที่บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก(ถนนกาญจนาภิเษก) หรือ มอเตอร์เวย์ M9 ของกรมทางหลวง(ทล.) และพื้นที่ของ กทพ. ซึ่งเป็นจุดต้นทางที่เชื่อมต่อกับทางด่วนฉลองรัช มีขนาดพื้นที่หลักสิบไร่ ระยะทางรวมประมาณ 3-4 กิโลเมตร(กม.) จากพื้นที่โครงการทั้งหมด 16.2 กม. เพื่อให้ผู้รับจ้างได้เข้าพื้นที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ
ขณะนี้ผู้รับจ้างได้เริ่มนำวัสดุอุปกรณ์ เหล็ก และเครื่องจักรต่างๆ เข้าพื้นที่ก่อสร้างแล้ว โดยงานในช่วงแรกจะเป็นงานเสาเข็มเจาะ ซึ่งจะเริ่มจากการลงเสาเข็มทดสอบ ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก่อนจะลงเสาเข็มจริง เบื้องต้นจะใช้เวลาสำหรับงานเสาเข็มประมาณ 3-4 เดือน อย่างไรก็ตาม กทพ. ได้พยายามเร่งรัดงานในส่วนของการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อเวนคืนที่ดินที่จะใช้ในการก่อสร้างในพื้นที่ส่วนอื่นๆ โดยโครงการฯ ใช้พื้นที่เวนคืนประมาณ 471 ไร่ 99 ตารางวา มีอาคารและสิ่งปลูกสร้าง 134 หลัง คาดว่าจะสามารถทยอยส่งมอบพื้นที่เวนคืนพื้นที่แรกให้แก่ผู้รับจ้างได้ประมาณปลายปี 2568 และจะเวนคืนแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2569
โครงการทางด่วน ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา มีระยะทาง 16.2 กม. วงเงินโครงการฯ 22,921 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,726 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 18,699 ล้านบาท และค่าควบคุมงาน 496 ล้านบาท โดยการก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร(ไป-กลับ) ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี โดยจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณกลางปี 2571 คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นคันต่อวัน
สำหรับจุดเริ่มต้นของโครงการฯ จะเชื่อมต่อกับทางด่วนฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก(ถนนกาญจนาภิเษก) และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันอออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อถนนลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี สำหรับทางด่วนสายนี้จัดเก็บค่าผ่านทางรูปแบบเงินสด และอีซี่พาสยกไม้กั้นตามนโยบายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ 25 บาท สูงสุด 40 บาท รถ 6 ล้อ 55 บาท สูงสุด 85 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ 80 บาท สูงสุด 125 บาท
เมื่อเปิดให้บริการจะช่วยรองรับการเดินทาง และขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ รวมถึงเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้ประชาชนระหว่าง จ.ปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียงเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นในรองรับการขยายตัวของแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย และสถานศึกษา ทั้งที่เปิดบริการแล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนา.