“เจ้าแม่สิงห์โต” เรื่องเล่าริมฝั่งเจ้าพระยา
PrintShare via Email
ศาลสิงห์โตทอง
วันนี้ Nai Mu กรูรูสายมูผู้มีเรื่องเล่ามากมายใน God’s City จากเว็บต์ไซต์และเพจTicy City จะพาบรรดา สายมูและไม่มูทั้งหลายมุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อพิสูจน์ความขลังและศักดิ์สิทธิ์ของ “เจ้าแม่สิงห์โต” เรื่องเล่าริมฝั่งเจ้าพระยา ที่เล่าขานสืบต่อกันมาในหลากหลายรูปแบบ
โดยพิกัดของ“ศาลสิงห์โตทอง” แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ริมฝั่งเจ้าพระยา บริเวณโรงอาหาร ใต้อาคาร “ธรรมศาสตร์ 60 ปี” ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับตึกรัฐศาตร์ – สิงห์แดง พอดี !
สิงห์โตหินตัวนี้ อยู่บนพื้นที่ของวังหน้า ตั้งแต่สมัยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีเรื่องเล่าขานว่า สิงโตหินกลุ่มนี้ไม่ได้มาตัวเดียว บ้างก็ว่ามาเป็นคู่ บ้างก็ว่ามาเป็นครอบครัว 3 ตัว คือ พ่อ-แม่-ลูก ซึ่งตัวที่ตั้งตระหง่าน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นเป็นตัวเมีย เรียก “เจ้าแม่สิงห์โต”
สำหรับสิงห์โตหินกลุ่มนี้มากับเรือสำเภาของกลุ่มพ่อค้าชาวสยามที่ไปทำการค้าขายกับชาวจีนที่ประเทศจีน และตอนขากลับเพื่อไม่ให้เรืออับเฉา หรือเรือโคลงและจมง่าย เมื่อเจอกับคลื่นลม จึงนิยมนำของหนักใส่เรือกลับมาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ ตุ๊กตาหิน เทพเจ้า และสัตว์ต่างๆ โดยพวกบรรดารูปสลักที่เป็นเทพเจ้าก็นิยมนำไปไว้ตามวัด เช่น วัดโพธิ์, วัดพระแก้ว ฯลฯ ส่วนพวกสัตว์มงคลหรือสัตว์ในเทพนิยาย ชาวจีนในเมืองไทยนิยมซื้อเก็บไว้เพื่อเสริมบารมีตามคติที่ชาวจีนนิยมกัน
เมื่อสิงห์โตคู่นี้รอนแรมบนเรือสำเภา ฝ่าคลื่นลมจากเมืองจีนสู่ปากอ่าวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ถึงคลองบางกอกน้อยอันเป็นทางสามแพร่ง ได้มีการขนสิงห์โตกลุ่มนี้ลงจากเรือ ซึ่งสิงห์โตตัวผู้จะไว้ที่ฝั่งธนบุรี โดย ระหว่างที่ขนย้ายขึ้นฝั่ง การขนย้ายลำบาก ทุลักทุเล เพราะหินซึ่งมีน้ำหนักมาก ในที่สุดก็ไม่สามารถนำขึ้นฝั่งได้สำเร็จเพราะพลาดพลั้งตกแม่น้ำเจ้าพระยาเสียก่อน จึงเหลือเพียงเพศเมียตัวเดียวและนำมาไว้ขึ้นฝั่งพระนคร ซึ่งเป็นพื้นที่ของวังหน้าในช่วงเวลานั้น
และต่อมามีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อแรก สิงห์โตตั้งหันหน้าไปทางฝั่งสนามหลวง เกิดเรื่องแปลกแต่จริง !! ..เพราะกาลต่อมา สิงห์โตตัวนี้ขยับเองได้ จนหันหน้าสู่แม่น้ำไปยังฝั่งธนบุรีเอง อีกทั้งการหันหน้าเปลี่ยนทิศครั้งนี้ยังมาพร้อมเรื่องเล่าของคนสมัยนั้นว่า ได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญในบริเวณท้องน้ำแห่งนี้ จนเรือทั้งหลายต่างเกรงกลัวกัน วันดีคืนดี ก็ปรากฎ ดวงไฟ 2 ดวงลอยจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแสงของดวงไฟนั้นพุ่งตรงมายังเจ้าแม่สิงห์โตหิน จึงเชื่อกันว่า ดวงไฟคู่นั้นคือดวงตาของสิงห์โตตัวผู้ที่จมอยู่ใต้บึ้งแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเอง
เสียงร้องครวญครางในคืนเดือนมืด เป็นที่โจษจันต่อกันไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่า ผัวร้องหาเมีย,บ้างก็ว่า เมียร้องหาผัว จนเลยไปถึงลูกร้องหาแม่ !
ทั้งนี้…เจ้าแม่สิงห์โต ณ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวังหน้า ก่อนที่จะมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อ 27 มิถุนายน 2477 โดยมีเรื่องเล่ากันไปหลายทางว่า
สิงห์โตหิน 3 ตัวนี้ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นผู้นำเข้ามา เพราะราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานนั้นตรงกับปากคลองบางกอกน้อย ซึ่งเป็นทางสามแพร่ง ศาสตร์ฮวงจุ้ยของจีนถือเป็นเรื่องอัปมงคล ทำให้มีเรื่องมีราว อยู่ไม่เป็นสุข ของไม่ดีทั้งหลายจะพุ่งเข้าใส่อยู่เนืองๆ ครั้งจะเอารูปหัวสิงห์ คาบกั้นหยั่นมาแขวนไว้คงไม่เหมาะสม จึงดำริที่จะหาสิงห์โตหินนี้มาแก้เคล็ดตามศาสตร์
บ้างก็ว่า สิงห์โตหิน 2 ตัวนี้ ตัวหนึ่งตั้งใจไว้ที่ฝั่งคลองบางกอกน้อย ส่วนอีกตัวตั้งไว้ที่วังหน้าฝั่งพระนคร แต่สิงห์โตหินฝั่งธนฯ เกิดหล่นน้ำด้วยสาเหตุน้ำเซาะตลิ่งจนพัง และเคยมีนักประดาน้ำลงไปดู พบว่า สิงห์โตหินยังอยู่ แต่มีคราบตะไคร่น้ำจับหนามาก
ยังมีบันทึกปากคำบอกเล่าของ “นายอยู่ ล้วนกลิ่นหอม” ที่ปรากฏใน “รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เกียรติตระการ” ว่า แม่น้ำเจ้าพระยา ตอนหลังวัดสังเวชวิศยาราม แผ่นดินโค้งนูนยื่นออกมา ทำให้สายน้ำพุ่งปะทะกับตลิ่งปากคลองบางกอกน้อยหน้าสถานีรถไฟ สายน้ำพุ่งออกมาบรรรจบเป็นทางสามแพร่ง น้ำวนหมุนทั้งวันทั้งคืน เรือนแพที่ผ่านเส้นนี้จึงต้องระวังเป็นพิเศษ
นายอยู่ ผู้นี้ ในวัยหนุ่มทำงานอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนที่จะโอนมาอยู่มาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในเวลาต่อมา เขาบอกว่า ปีพ.ศ. 2472- พ.ศ. 2478 ยังมีสิงห์โตหินที่ริมฝั่งธนบุรี สิงโตทั้ง 2 ตัวต่างชะเง้อมองหน้ากัน แต่ตัวฝั่งธนบุรีนั้นเริ่มเอียงเพราะน้ำกัดเซาะตลิ่ง จนเมื่อเขาโอนมาทำงานที่ธรรมศาสตร์ก็ไม่พบสิงห์โตหินฝั่งตรงข้ามอีกเลย
จึงสันนิษฐานได้ว่า สิงห์โตคงอยู่ในสมัยวังหน้าแน่นอน คนจีนมานำเพื่อถวายเจ้านายเพื่อแก้เคล็ด เรื่องทางสามแพร่ง
อีกท่านหนึ่งคือ “พระภิกษุสมศักดิ์ ดีประทีป” คณะ 25 วัดมหาธาตุ ท่านว่า เห็นแต่ตัวที่ตั้งในฝั่งพระนคร แต่ตัวฝั่งธนฯ ไม่มีแล้ว เป็นสิงห์โตหินตั้งโดดๆ ตากแดด ตากลม ไม่มีศาล เพิ่งจะมีหลังคาสังกะสีสมัยทหารกรมการรักษาดินแดงมายึดที่นี่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยมีป้ายภาษาจีนอยู่ข้างสิงโตหิน พวกพ่อค้าคนจีน หรือเรือนแพที่ผ่านบริเวณนี้ จะสักการะด้วยการจุดประทัด เสียงดังมาก ตอนหลังพอถอดป้ายภาษาจีนออก เสียงประทัดก็พลอยเงียบไปด้วย
ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น เวลาที่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยจะต้องไปธุระเป็นหมู่คณะ นิยมไปบอกกล่าวกับเจ้าแม่สิงห์โต กลับมาจะจัดหา “มาลัย 7 สี, เนื้อวัวสด 1 กก. เหล้าขาว 3 ขวด” ไปถวาย
เมื่อคราวที่มหาวิทยาลัยได้สร้างศาลเพื่อประดิษฐานเจ้าแม่สิงห์โต ที่ทนตากแดดตากฝนมาเป็นเวลานาน มีอาจารย์ท่านหนึ่ง สั่งให้ช่างเอาลวดสลิงมาผูกคอสิงห์โตแล้วยกด้วยปั้นจั่น โดยไม่บอกกล่าวขอขมาลาโทษเป็นเรื่องเป็นราว ต่อมาว่า อาจารย์ท่านนั้นขับรถไปซุกใต้รถสิบล้อขณะที่รถจอดอยู่ คอเกือบขาดและตายคาพวงมาลัยนั่นเอง
อีกเรื่อง…นายเบน ศรีบัณฑิต พนักงานอาคารสถานที่มหาวิทยาลัย ไปบนกับเจ้าแม่สิงห์โตแล้วไม่แก้ เดินล้มที่บ้าน แขนหัก 3 ท่อน แม่ค้าในโรงอาหารเข้าทรงบอก นายเบนบนเจ้าแม่ไว้ ไม่ยอมแก้ ปีต่อมาเพื่อนพร้อมนายเบนขับรถไปชนท้ายรถสิบล้อ นายเบนแขนหัก ซี่โครงหัก 3 ซี่ ขาหัก คางยุบ อยู่โรงพยาบาลได้ 2 เดือนเศษก็เสียชีวิต …
นี่เป็นเรื่องราวของ“เจ้าแม่สิงห์โต” ที่ริมฝั่งเจ้าพระยา พิสูจน์ความขลังและศักดิ์สิทธิ์ได้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ !
เรื่อง: Nai Mu