ทนายรณณรงค์ วิเคราะห์ คดี ‘จอนนี่ มือปราบ’ ถูกแจ้งเอาผิดรุกที่ดินรัฐ ลั่นแทบจะหมดประตูสู้
ทนายรณณรงค์ วิเคราะห์ คดี ‘จอนนี่ มือปราบ’ หรือ อดีต ด.ต.ยุทธพล ศรีสมพงษ์ ถูกแจ้งเอาผิดรุกที่ดินรัฐ ที่ลำโดมน้อย อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ลั่นถ้าดูในข้อกฎหมายแทบจะหมดประตูสู้เลย
วันนี้ (7 ก.ค.) เพจ “ทนายคู่ใจ” หรือ ทนายรณณรงค์ นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ได้โพสต์ถึงกรณี จอนนี่ มือปราบ หรืออดีต ด.ต.ยุทธพล ศรีสมพงษ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนจากจังหวัดอุบลราชธานี ที่โด่งดังในโลกโซเชียลด้วยบุคลิกอินดี้ ได้ถูกแจ้งเอาผิดรุกที่ดินรัฐ ลั่นแทบจะหมดประตูสู้เลยโดยยกฎีกาเทียบเคียงว่า “นิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย อ.ศิรินธร จ.อุบลราชธานี ที่จอนนี่มือปราบ ถูกกล่าวหา ถ้าดูในข้อกฎหมายแทบจะหมดประตูสู้เลย เนื่องจาก
1) ที่ดินที่เข้าไปครอบครองนั้นเป็นพื้นที่ส่วนกลางของนิคม ซึ่งตามกฎหมายไม่มีใครมีสิทธิส่วนตัวอยู่ก่อนและรัฐห้ามบุกรุกโดยไม่ได้รับอนุญาต (ผิดมาตรา 15)
2) ผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่สมาชิกนิคมลำโดมน้อยมาก่อน ไม่มีหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์จากกรมพัฒนาสังคมฯ แต่อย่างใด กรมฯ ยืนยันว่าตรวจสอบประวัติแล้ว ไม่เคยมีการอนุญาตสิทธิให้บุคคลนี้ และแน่นอนว่ายังไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าวออกมา ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมายมาแต่ต้น การสร้างสิ่งปลูกสร้าง รีสอร์ต ถือเป็นการบุกรุกที่ดินของรัฐโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้นหากมีการแผ้วถางป่า ตัดไม้ หรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ก็เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายป่าไม้เพิ่มเติมด้วย
ผู้ถูกกล่าวหาอาจกล่าวว่าตนได้ซื้อหรือรับโอนสิทธิมาจากชาวบ้านรายหนึ่งที่อ้างว่ามีสิทธิดั้งเดิมในที่ดินแถบนั้น (เช่น เป็นสมาชิกนิคมที่อยู่ติดกันหรือเคยทำกินบริเวณนั้นมาก่อน) อย่างไรก็ดี หากเป็นพื้นที่ป่าไม้ส่วนกลางจริง ชาวบ้านคนดังกล่าวก็ไม่มีสิทธิจะขายหรือโอนให้ใคร เพราะไม่เคยถูกจัดสรรให้ (ที่ดินยังเป็นของรัฐ) และต่อให้เป็นพื้นที่ส่วนที่มีชาวบ้านครอบครองอยู่ การขายสิทธินิคมให้เอกชนอื่นโดยพลการก็ทำไม่ได้อยู่ดีตามมาตรา 27(6)
ทนายรณณรงค์ ระบุด้วยว่า ถ้าอธิบายภาษาชาวบ้านง่าย ๆ ก็คือตอนที่เข้าครอบครองที่ดินไม่สามารถเข้าครอบครองได้แบบถูกกฎหมาย เพราะว่ายังถือว่าเป็นที่ของรัฐอยู่ รัฐอนุญาตให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้ แต่ห้ามทำการจำหน่ายจ่ายโอน ยกเว้นจะมีโฉนดที่ดินออกมาแล้ว
“แต่ก็แปลกไม่ใช่น้อย อยู่มาร้อยวันพันปีไม่เคยมีการตรวจสอบ พอจอนนี่มือปราบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็ถูกตรวจสอบทันที ไม่แปลกที่จอนนี่จะบอกว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ต้องย้อนกลับไปว่าที่มาที่ไปถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ ในการเลือกดำเนินคดีจะบอกว่าละเว้นหรือเลือกปฏิบัติ ก็คงต้องอยู่ที่หน่วยงานในพื้นที่ว่าบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ อาจจะมีบางรีสอร์ตช้า หรือบางรีสอร์ตไวมาก ๆ ก็เป็นไปได้” ทนายรณณรงค์ ระบุ
แนวคำพิพากษาข้างต้นชี้ให้เห็นว่า หากการโอนสิทธิในที่ดินนิคมไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย เช่น ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมฯ โอนโดยใช้อำนาจมรดกทั่วไปหรือซื้อขายกันเอง ศาลจะถือว่าผู้รับโอนมีสิทธิไม่ดีกว่าผู้โอน กล่าวคือ ได้สิทธิครอบครองมาเพียงเท่าที่ผู้โอนมีเท่านั้น และถ้าผู้โอนเองไม่มีสิทธิจะโอน เพราะกฎหมายห้ามโอนหรือสิทธินั้นหมดไปแล้ว ผู้รับโอนก็จะไม่ได้สิทธิใด ๆ ในทางกฎหมายเลย กลายเป็นผู้บุกรุกยึดถือที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายรองรับ
นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาฎีกาอื่น ๆ ที่สอดคล้องกัน เช่น ฎีกาที่ 226/2510 วินิจฉัยว่าหากมีกรณีพิพาทแย่งสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินนิคม ผู้ชี้ขาดคือเจ้าหน้าที่นิคมและหลักฐานในนิคมนั้น ใครมีชื่อในทะเบียนและหลักฐานของนิคมก็เป็นพยานหลักฐานที่ศาลยึดถือว่าเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบ เป็นต้น อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ฎีกาที่ 5681/2538 ซึ่งวินิจฉัยเกี่ยวกับที่ดินที่มี น.ส.3 (หนังสือแสดงการทำประโยชน์) ที่มีเงื่อนไขห้ามโอน 10 ปีตามกฎหมายที่ดินว่า ผู้ได้รับที่ดินนั้นยังไม่มี “สิทธิครอบครอง” สมบูรณ์ในทางปกครอง จึงไม่อาจโอนสิทธิครอบครองให้ใครได้จนกว่าจะพ้นระยะห้ามโอน ยกเว้นเป็นการตกทอดทางมรดก แนวคิดนี้สอดคล้องกับกรณีนิคมสร้างตนเองซึ่งสมาชิกยังไม่มีกรรมสิทธิ์เด็ดขาดและห้ามโอนสิทธิโดยพลการเช่นกัน”
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO