"มท."สั่งผู้ว่าฯรับมือทุกภัยพิบัติ ฮึ่มห้ามมีข้ออ้างอุปกรณ์ไม่พร้อม
เมื่อวันที่ 7 ก.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมซักซ้อมความเข้าใจ การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนแผ่นดินไหวและภัยสึนามิ เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน พร้อมด้วย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย , อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี , รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยววชาญพิเศษด้านการแจ้งเตือนภัย ปภ.
โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ด้วยความห่วงใยจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะให้เกิดความต่อเนื่องของการทำงาน และต้องการสื่อสารให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด เนื่องจากมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับเกิดการแผ่นดินไหวในทะเล ทั้งในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ประชาชนที่ติดตามข่าวสารมีความกังวลใจเกี่ยวกับการเกิดสึนามิ ที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เพราะสึนามิครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2547 มีแนวโน้มที่จะเกิดซ้ำได้
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฝั่งอันดามันทั้ง 6 จังหวัด กำกับดูแลของส่วนราชการให้มีความพร้อมกับการรับมือในการเกิดเหตุสึนามิ ทางด้านบุคลากรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ เส้นทางอพยพ ศูนย์พักพิง รวมทั้งงบประมาณที่จำเป็น
ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฝั่งอันดามันทั้ง 6 จังหวัดสั่งการทุกหน่วยงานในจังหวัด และขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสึนามิ มีการซักซ้อมการปฎิบัติในกรณีที่เกิดเหตุสึนามิอย่างสม่ำเสมอและมีป้ายบอกเส้นทางการอพยพให้เป็นปัจจุบันที่สุด
ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพร้อมแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวตลอด 24 ชั่วโมง และตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์เตือนภัยให้สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีความชำรุดของอุปกรณ์ให้ดำเนินการรักษาให้ดำเนินการได้ตามปกติอย่างเร่งด่วน จะต้องไม่มีข้ออ้าง ว่ามีอุปกรณ์เสียเมื่อเกิดเหตุ
ให้กรมประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ทุกหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวและสึนามิที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนทั้งในพื้นที่เสี่ยงสึนามิอย่างสม่ำเสมอ
กรมโยธาธิการและผังเมืองทำงานร่วมกันกับกรมประชาสัมพันธ์สำรวจอาคารต่างๆให้มีความพร้อมและมีความปลอดภัยกับประชาชนที่อยู่อาศัยในกรณีที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว
นางสาวธีรรัตน์ ยังกล่าวในช่วงแถลงข่าวว่า นี่คือความห่วงใยจากทางรัฐบาล ที่ได้รับทราบถึงความกังวลใจของประชาชนในห้วงที่เกิดภัยพิบัติทั่วโลกไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่างๆ ที่เราจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ และเตรียมการอย่างดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนลดความวิตกกังวลไป และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พร้อมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ถึงมือประชาชนเพื่อลดการเกิดข่าวสารที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
ขณะที่ นายนัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานผลการแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น มีการเคลื่อนตัวในแนวระนาบ เกิดขึ้นแล้ว 690 ครั้ง ขนาดตั้งแต่ 2.0 ระหว่างวันที่ 1 ถึง 6 กรกฎาคม 2568 ซึ่งได้มีการแจ้งเตือนและเตรียมความพร้อม ซึ่งไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย
ด้านนายสุเมธ สายทอง รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้นอยู่บนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย โดยกรมทรัพยากรธรณีได้มีการเฝ้าระวังเตือนภัยอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าการเกิดแผ่นดินไหวในฝั่งอันดามันไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย และเกิดการแผ่นดินไหวในครั้งนี้เป็นขนาดเล็กถึงค่อนข้างเล็กและที่สำคัญเป็นแผ่นดินไหวจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนในแนวระนาบ จึงไม่มีการยกตัวของมวลน้ำ ซึ่งไม่ใช่การเลื่อนแบบมุดตัวแบบเหตุการณ์สึนามิในปี 2547
ขณะที่ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามเหตุแผ่นดินไหว 24 ชั่วโมงโดยรับข้อมูลจากหน่วยในประเทศและต่างประเทศ โดยเกณฑ์การเกิดแผ่นดินไหวบนบก จะมีการรายงานข่าวตั้งแต่ขนาด 2.5 และตั้งแต่ขนาด 4.0 ขึ้นไป จะได้มีการแจ้งเตือนผ่าน เซลล์บอร์ดแคส ส่วนเกณฑ์แผ่นดินไหวในทะเล จะเริ่มรายงานข่าวตั้งแต่ขนาด 5.0.-5.9 และมีการส่งเซลล์บอร์ดแคส ตั้งแต่ 6.0 ขึ้นไป ส่วนเกณฑ์การแจ้งเตือนภัยสึนามิเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในทะเลบริเวณรอยเลื่อนซุนดา ขนาดมากกว่า 7.5 ขึ้นไป พร้อมกันนี้มีทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทยที่พร้อมใช้งานสองทุ่นทั้งในทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย มีหอเตือนภัย 129 แห่ง และเครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม 47 จุด