อ.ธรณ์ ประเมินผลกระทบพายุวิภา เทียบ ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ
20 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00 น. มีประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุวิภา และฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย ฉบับที่ 3 (189/2568) ระบุว่า
พายุโซนร้อนกำลังแรง "วิภา" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 70 กิโลเมตร ทางทิศใต้ของฮ่องกง ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 21.6 องศาเหนือ ลองจิจูด 114.1 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนตัวผ่านมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ลงสู่อ่าวตังเกี๋ยและเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 21-22 ก.ค. 68 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ
หลังจากนั้นมีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศลาวตอนบนและภาคเหนือตอนบนต่อไป ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง
จากการประเมินอิทธิพลของพายุวิภา และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 20-24 ก.ค. 68 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมาก มีดังนี้
- วันที่ 20 กรกฎาคม 2568
ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และนครปฐม
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
- วันที่ 21 กรกฎาคม 2568
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา
- วันที่ 22-24 กรกฎาคม 2568
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลกพิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และพระนครศรีอยุธยา
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และพังงา
สำหรับทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือหรืออพยพ หากสถานการณ์อยู่ในสภาวะวิกฤตและติดตามประกาศจากกรมอตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์ กรมอุดุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน ประชาสัมพันธ์ จ.น่าน ออกประกาศเตือน โดยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย จังหวัดน่าน ประกาศ ว่า จุดศูนย์กลาง ของพายุวิภา จะเคลื่อนเข้าทางจังหวัดน่าน ตอนบน พะเยา เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตามลำดับ
นายชัยนรงค์. วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม สั่งการให้นายอำเภอโซน(น่านเหนือ) เตรียมพร้อม คน เครื่องมืออุปกรณ์เต็มรูปแบบ
ยืนยัน เข้าภาคเหนือตอนบน เต็มทั้งลูก 100%
ต้นน้ำปิง ต้นน้ำวัง ต้นน้ำยม ต้นน้ำน่าน ต้นน้ำอิง ต้นน้ำกก ต้นน้ำสาย ต้นน้ำเมย ต้นน้ำปาย จะเจอฝนถล่มที่มากกว่า 200-300 มิลลิเมตร หรืออาจจะมากกว่านั้น ระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. นี้
เตรียมเรือให้พร้อม สิ่งของจำเป็นต้องใช้ในการอุปโภค-บริโภค ยาสามัญประจำ ชาร์จแบตมือถือ พลังงานสำรองให้เต็มที่ ขอให้ฟังประกาศจากทางการ เรื่องสถานที่ๆปลอดภัย หากจำเป็นต้องออกในพื้นที่ ควรดึงเบรกเกอร์ลง เพื่อตัดกระแสไฟ และปิดหน้าต่างล็อกประตูให้มิดชิดกันโจร จากคาดการณ์ล่าสุด อาจจะต้องอพยพ หลายพื้นที่ #cell Broadcast พร้อมทำงาน
พื้นที่ไหน ใกล้ทางน้ำไหล และมีผู้ป่วยติดเตียงควรรีบเคลื่อนย้ายภายในวันที่ 21 ก.ค. 2568 นี้ เพื่อไม่ให้เกิดความทุลักทุเล
จังหวัดที่คาดว่า จะเจอน้ำท่วมหนัก หลายพื้นที่ หลังวันที่ 23 ก.ค.2568 นี้ ได้แก่ น่าน แพร่ สุโขทัย พะเยา เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี จันทบุรี ตราด
อ.ธรณ์ ประเมินความรุนแรง พายุวิภา
ด้าน ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โพสต์ โพสต์เฟซบุ๊กข้อความ ว่า พายุวิภามาถึงฮ่องกงแล้ว น่าจะส่งผลจริงจังต่อไทยช่วงกลางสัปดาห์ จึงอยากเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง โดยยกตัวอย่างพายุยางิมาเทียบ จะได้เข้าใจครับ
พายุหมุนเขตร้อนล้วนเกิดในทะเล ไล่ระดับความแรง พายุดีเปรสชัน-โซนร้อน-ไต้ฝุ่น
ดีเปรสชั่นความเร็วลมไม่เกิน 62 กม/ชม โซนร้อน 63-118 ไต้ฝุ่น 119-252+
วิภาตอนนี้ยังเป็นโซนร้อนกำลังแรง แต่ยังไม่ถึงขั้นไต้ฝุ่น (แต่อาจเป็นได้ทุกเมื่อ) ลมตอนนี้แรงประมาณ 118 แตะขอบไต้ฝุ่นพอดี
ยางิเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมื่อกันยายนปีก่อน ลมแรง 260 มากกว่าวิภา 2 เท่าเศษ
เส้นทางพายุยางิตะลุยทะเลมาตลอด ก่อนเข้าไห่หนานและเวียดนาม
พายุได้พลังจากทะเลที่ตอนนั้นร้อนจัด จึงเข้าฝั่งไห่หนานที่ไต้ฝุ่นระดับ 4 และเวียดนามที่ไต้ฝุ่นระดับ 3
วิภาเข้าฮ่องกงแบบเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรง (118 กม/ชม) อยู่แตะขอบไต้ฝุ่นระดับ 1
บางทีจึงอาจมีข่าวว่าเป็นไต้ฝุ่น (แต่ยังไม่เป็นทางการ)
(อัปเดตล่าสุด - ตอนนี้บางสำนักรายงานว่าเพิ่มเป็น 120 เข้าเกณฑ์ไต้ฝุ่น แต่พายุไม่ได้แรงขึ้นมาก เพราะก่อนหน้านี้ก็แตะขอบอยู่แล้ว ลมแรงขึ้นแค่ไม่กี่กม. ก็กลายเป็นไต้ฝุ่นแล้วครับ)
จากนั้นเส้นพายุวิภาจะเริ่มคล้ายยางิ วิ่งเลียบชายฝั่งชนไห่หนาน ข้ามมาเวียดนาม
พายุอยู่ริมชายฝั่ง คงไม่เพิ่มกำลังได้มาก ผิดกับตอนที่อยู่กลางทะเล
ในแบบจำลองกรมอุตุคาดว่าวิภาจะเป็นโซนร้อนตลอด ไม่ยกระดับเป็นไต้ฝุ่น (ดูภาพ ดูสัญลักษณ์ในแบบจำลอง)
ผมจึงคิดว่าวิภาคงขึ้นฝั่งเวียดนามเบากว่ายางิพอประมาณ แต่คงส่งผลกระทบถึงไทย
หากดูจากยางิ พายุลดความแรงจนเป็นดีเปรสชันแถวขอบชายแดนไทย
ขณะที่แบบจำลองกรมอุตุ พายุวิภาน่าจะกลายเป็นดีเปรสชันในลาว
เพราะลมพายุวิภาที่เบากว่าตอนขึ้นฝั่ง น่าจะมีพลังไม่เท่ายางิ (แบบจำลอง)
พื้นที่ได้รับผลกระทบก็ใกล้เคียงเดิม ฝนหนักน้ำท่วมฉับพลัน น้ำบ่าดินถล่ม/น้ำเอ่อล้นตลิ่ง เป็นสิ่งที่เราต้องระวังเต็มที่
แบบจำลองของกรมอุตุกับแอปทำนายฝนหนักต่างๆ คาดว่าฝนในไทยน่าจะหนักช่วง 23-24 (พุธ/พฤหัส)
จากทั้งหมดนี้ ผมไม่คิดว่าวิภาจะส่งผลแรงเท่ายางิ อีกทั้งเรามีประสบการณ์รับมือกับยางิในพื้นที่แถวนั้นแล้ว เราน่าจะรับมือได้ดีขึ้น
เขียนเพื่อไม่ให้เพื่อนธรณ์ตระหนกตกใจเกินไป แต่แน่นอนว่าต้องเตือนภัยต้องรับมือ ทำกันเต็มที่
ติดตามข่าวพายุอยู่เรื่อยๆ ว่าเป็นยังไง แรงขึ้นไหม ทิศทางเหมือนเดิมหรือไม่
เรามีบทเรียนแล้วนะครับ