ดันเที่ยวตามรอย Jurassic World Rebirth ชูมาตรการ Cash Rebate หนุนไทยฮับถ่ายหนัง
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ททท.ชวนนักท่องเที่ยวตามรอย “Jurassic World Rebirth” หรือ “จูราสสิค เวิลด์: กำเนิดชีวิตใหม่” เดินทางเที่ยวสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ในประเทศไทย โดยหลักๆจะเป็นการถ่ายทำ ใน 3 จังหวัดในภาคใต้
ได้แก่ “จังหวัดตรัง” ซึ่งมีฉากการถ่ายทำที่ หาดซันเซ็ต เกาะกระดาน อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ถ้ำมรกต เกาะมุก อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม “จังหวัดพังงา” คือ เขาตาปู อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา รวมถึง “จังหวัดกระบี่” ได้แก่ น้ำตกห้วยโต้ อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา หาดถ้ำพระนาง อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ คลองหรูด-คลองน้ำใส
ด้านนายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ระดับโลกเรื่อง “Jurassic World : Rebirth” ที่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยแฟนๆ เหล่าไดโนเสาร์จากทั่วทุกมุมโลก จะได้เห็นความสวยงามของทัศนียภาพและธรรมชาติของประเทศไทยผ่านฉากสำคัญในภาพยนตร์ ทั้งความสวยงามของท้องทะเล และป่าเขาทางภาคใต้ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังประเทศไทยในอนาคต
ทั้งนี้ Jurassic World Rebirth ได้เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยเลือกโลเคชันอันงดงามใน 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ กระบี่ พังงา และตรัง ได้ใช้งบถ่ายทำในประเทศไทยกว่า 400 ล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่มีมูลค่าเงินลงทุนในประเทศไทยหลักร้อยล้าน ซึ่งนอกจากการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยผ่านภาพยนตร์แล้ว
การถ่ายทำครั้งนี้ยัง สร้างงานให้กับชาวไทยมากถึง 2,245 ราย ทั้งในด้านทีมงานเบื้องหลัง Production House และการให้บริการในพื้นที่ ซึ่งสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ
โดยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่กระจายไปสู่แผนก และธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศไทย ดังนี้ ค่าจ้างทีมงานชาวไทย 34% ค่าที่พัก 22.5% ค่าเช่าอุปกรณ์การถ่ายทำ 19% ค่าเช่าสถานที่ถ่ายทำ 9.5% ค่าเช่าพาหนะเดินทาง 7% ค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่ารักษาพยาบาล 5.5% อาหารและเครื่องดื่ม 2.5%
ความสำเร็จของการดึงดูดกองถ่ายภาพยนตร์ระดับโลกครั้งนี้ นอกจากความสวยงามของโลเคชัน และศักยภาพทีมงานของประเทศไทย แม่เหล็กสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ มาตรการจูงใจ (Incentive) ของประเทศไทย ที่ให้สิทธิประโยชน์คืนเงินแก่คณะถ่ายทำต่างประเทศที่เข้ามาสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของกรมการท่องเที่ยวในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทยและประเทศชาติอย่างแท้จริง
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงฯ เตรียมหารือร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม ภาคเอกชนและกลุ่มศิลปินผู้ผลิตภาพยนตร์ของไทย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งจากต่างประเทศและของไทย ผ่านกลไก “Cash Rebate” หรือการคืนเงินลงทุนบางส่วน เพื่อกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และเสริมพลัง Soft Power ของประเทศ
โดยในส่วนของภาพยนตร์ต่างประเทศที่มาถ่ายทำในประเทศไทย มาตรการ Cash Rebate ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้อย่างมีนัยสำคัญ และสร้างงานให้แก่คนไทยในหลากหลายภาคส่วน ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีฯ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ด้วยมาตรการที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งกรมการท่องเที่ยวได้หารือร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รวมถึงภาคเอกชน เพื่อเสนอแนวทาง Cash Rebate สำหรับหนังไทยที่มีคุณภาพ พร้อมเผยแพร่ในต่างประเทศ
ทั้งนี้แนวทางเบื้องต้นกำหนดให้ภาพยนตร์ไทยที่มีการลงทุนตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป และสามารถจัดจำหน่ายในต่างประเทศอย่างน้อย 5–7 ประเทศ จะได้รับสิทธิประโยชน์หลักคืนเงิน 15 % และอาจได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสูงสุดไม่เกิน 5 % หากมีการถ่ายทำในเมืองรอง ส่งเสริม Soft Power ใช้บริการ Post-Production ในประเทศ หรือมีการลงทุนสูงเกิน 150 ล้านบาท โดยวงเงินคืนสูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาทต่อเรื่อง
“ผมเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ทั้งในแง่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การจ้างงาน และการเป็นเครื่องมือเผยแพร่วัฒนธรรมไทยสู่สายตาชาวโลก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รัฐบาลพร้อมหนุนเต็มที่” นายสรวงศ์กล่าว
อย่างไรก็ตามกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยว, กระทรวงวัฒนธรรม และภาคเอกชน หารือในประเด็นเหล่านี้มาแล้ว และได้ร่วมกันกำหนดแนวทางส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในรูปแบบการคืนเงินลงทุนอย่างเป็นระบบ
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินนโยบายอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถใช้ Soft Power ผ่านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้อย่างเต็มศักยภาพ และสร้างรายได้สู่ประเทศอย่างยั่งยืน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,112 วันที่ 10 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2568