ส.อ.ท. สั่งจับตา 8 ปัจจัยเสี่ยง ฉุดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง
ส.อ.ท. สั่งจับตา 8 ปัจจัยเสี่ยง ฉุดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง
15 ก.ค. 68 ในงานสัมมนา “Decode 2025: The Mid-Year Signal ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย” วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 นี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมครึ่งปีแรก เศรษฐกิจมีความเสี่ยง จากครึ่งปีแรกที่บวกได้ แต่ครึ่งปีหลังจะกลายเป็นลบแทน เพราะเศรษฐกิจที่ขยายตัวบวกขึ้นมา เนื่องจากมีการเร่งส่งออก เพื่อรับมือกับการขึ้นภาษีสหรัฐในเบื้องต้น
โดยครึ่งปีหลังแนวโน้มเป็นเชิงลบ จีดีพีภาคการผลิตลดลง แม้การส่งออกจะเติบโต แต่ไม่ได้ส่งผลบวกต่อภาคการผลิต เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อการจ้างงาน เนื่องจาก 5 เดือนที่ผ่านมาเห็นการปิดกิจการหลากหลายแห่ง โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่ต้องรีบจบให้ได้ เพราะประเทศไทยตอนนี้มีผลกระทบจากภายนอกสูงมาก หากภายในยังควบคุมให้นิ่งไม่ได้จะลำบาก
“ขณะที่อีกเครื่องมืออย่างการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมก็ลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปเยอะ ซึ่งจากที่ตัวเองมีเพื่อนเป็นชาวจีนเยอะ ได้คุยกันเบื้องต้นพบว่า คนจีนกังวลเรื่องความปลอดภัย กลัวคนจีนในไทย ไม่ได้กลัวคนไทย รัฐบาลจึงต้องสื่อสารเยอะขึ้นผ่านช่องทางที่กระจายไปในวงกว้างมากที่สุด เพราะท่องเที่ยวจีนข้อดีของเขาคือ เป็นคนที่บริโภคเก่ง จากที่เรากังวลเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่ไม่ได้เป็นแบบนั้นทั้งหมด ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนเวลามาเที่ยวไทย ยกตัวอย่างการกินข้าวเหนียวมะม่วง ปกติ 1 คนจะกินเลย 2 ลูก ไม่ได้กินลูกเดียวเหมือนนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ที่ซื้อ 1 ลูกแบ่งกินชิม 3-4 คน ทำให้ผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจจึงต่างกัน” นายวิวรรธน์ กล่าว
นายวิวรรธน์ กล่าวว่า ประเด็นความกังวลในด้านหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น คือในอดีตหนี้ครัวเรือนแม้สูงแต่มีอนาคตในแง่ของรายได้ มีการจ้างงาน จึงมีความมั่นใจในการใช้จ่าย แต่ปัจจุบันหนี้ที่สูงมีผลต่อรายได้ที่ไม่มั่นคง มีความกังวลมากขึ้น จึงเกิดภาวะการไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ ไม่สามารถเดินต่อได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องปรับโครงสร้างให้ได้
ด้านต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น โดยต้นทุนการผลิตหลักๆ อย่างค่าไฟและค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ความจริงควรมาพร้อมการพัฒนาใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาในภาคการผลิต แต่การทำงานของเอกชนจะต้องประสานกับรัฐบาลมาก เวลาจะปรับขึ้นค่าแรงก็ต้องขึ้นพร้อมการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน และการผลิตที่จะตามมา อย่างค่าแรงในจีนแพงกว่าไทยแบบ 100% แต่ที่ผ่านมาอัตราการเติบโตเยอะมาก เพราะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาเสริมศักยภาพธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย
นายวิวรรธน์ กล่าวว่า 8 ปัจจัยที่ต้องติดตามในครึ่งปีหลัง ได้แก่ 1.มาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐ 2.ปัญหาสินค้าทุ่มตลาดหรือการเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นสินค้าไทย 3.ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 4.ความขัดแย้งพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นแสนล้าน 5.หนี้ครัวเรือนสูง 6.ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 7.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง และ 8.ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยทั้งหมดนี้มองว่าความขัดแย้งพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ต้องเร่งแก้ไขให้เรียบร้อยเร็วที่สุด เพราะปัจจัยอื่นส่วนใหญ่ถูกกระทบเหมือนกันทั่วโลก ไม่ได้โดนแค่ไทยเท่านั้น
“อะไรที่จีนทำได้ เราเหนื่อยที่จะสู้ เพราะสู้ยากมาก เพราะจีนสามารถผลิตได้ในปริมาณมาก มีต้นทุนการแข่งขันที่มากกว่า โดยเฉพาะเทคโนโลยี จึงมองว่าอะไรที่จีนสามารถทำได้ เป็นตลาดคู่แข่ง ก็ให้แข่งไป ส่วนผู้ประกอบการไทยต้องมองหาโอกาสว่าคนพันกว่าล้านคน จะสามารถทำอะไรในธุรกิจใดได้บ้าง อาทิ อาหาร หรือเศรษฐกิจชีวภาพ ถือเป็นอนาคตที่ต้องหารือกันว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร” นายวิวรรธน์ กล่าว
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ส.อ.ท. สั่งจับตา 8 ปัจจัยเสี่ยง ฉุดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.khaosod.co.th