จากฝันสู่ห้วงอวกาศ วิศวกรผู้สร้างจรวดคนไทยในเยอรมนี เอม-อาชว์ ปลื้มปัญญา
“ความยากของการสร้างจรวดคือ ต้องควบคุมการระเบิดให้มีเสถียรภาพ วัสดุต้องทนต่อความร้อน ทนแรงดันสูงและต้องพัฒนาระบบควบคุมการระเบิดแบบหมุนวนได้ นี่ถือเป็นงานวิจัยที่จะสร้าง breakthrough ให้กับวงการอวกาศ และหากประสบความสำเร็จจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ”
ในโลกที่การแข่งขันด้านอวกาศไม่ใช่แค่เรื่องของ NASA หรือ SpaceX อีกต่อไป ยุโรปกำลังเร่งเครื่องอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้ตกขบวนและในสมรภูมิแห่งนี้ มีคนไทยคนหนึ่งที่สร้างเครื่องยนต์จรวดอวกาศให้กับบริษัทสัญชาติยุโรปนั่นคือ
อาชว์ วัฒนธีรานุกูล หรือ เอม หนึ่งในวิศวกรระบบขับเคลื่อนของ Rocket Factory Augsburg (RFA) สตาร์ทอัพด้านจรวดสัญชาติเยอรมนีอันดับต้นๆ ของยุโรป เขาเป็นคนไทยไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสพัฒนาเครื่องยนต์จรวดจริง ตั้งแต่ประกอบ ทดสอบ ไปจนถึงผลิตเพื่อเตรียมส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร
เส้นทางของเขาเริ่มต้นจากเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่ผูกพันกับการบิน จากนักเรียนไทยในมหาวิทยาลัยเพอร์ดู (Purdue University) ที่ได้ลงมือ “ออกแบบและระเบิดท่อทดลอง” จนไปถึงการร่วมขับเคลื่อนวงการสตาร์ทอัพอวกาศยุโรปให้เดินหน้า
THE STANDARD ชวนคุยกับอาชว์ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ความหลงใหลในจรวด เบื้องหลังชีวิตการทำงานในอุตสาหกรรมอวกาศจริง ข้อจำกัด ความผิดพลาด ความหวัง และคำถามสำคัญว่า “อวกาศไทยจะไปต่ออย่างไร?”
เพราะการสร้างจรวดอาจไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่มันคือเรื่องของการกล้าสร้างเส้นทางใหม่ในโลกที่ไม่มีทางเดิน
อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจจรวด
อาชว์: จริงๆ ครอบครัวอยู่ในแวดวงนี้ เริ่มจากคุณทวดเป็นทหารอากาศสมัยสงครามอินโดจีน คุณปู่เป็นนายพลทหารอากาศ น้องของคุณย่าก็เป็นนักบินรบเหมือนกันครับแล้วก็เป็นรุ่นคุณพ่อคุณลุงทั้งคู่ก็เป็นนักบินการบินไทยทั้งคู่
คุณแม่ก็ทำการบินไทยก็คือวนๆ อยู่ในนี้ครับ ตอนเด็กๆ ก็อยากเป็นนักบินเหมือนพ่อ ช่วงประมาณมัธยมปลายเริ่มผมก็มีความสนใจเรื่องอวกาศ ดู YouTube ข่าวการปล่อยจรวด NASA ดูหนัง Gravity ทำให้ผมมีความอยากรู้อยากเห็นเพิ่มขึ้นในด้านนี้
ตอนนั้นผมเรียนสาธิตเกษตรอินเตอร์ตั้งแต่ป.1 ถึงม.6 ผมไม่ได้เรียนเก่งท็อปห้องอะไรตลอด แต่จะเป็นเด็กที่พอมีความสนใจอะไรแล้วจะอยากต่อยอดตรงนั้นให้ลึกขึ้น พอช่วงมหาลัยสอบได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมยานยนต์ ที่จุฬาฯ ประมาณ 1 ปี ก็รู้สึกไม่ค่อยตรง ผมรู้สึกว่ามันยังก้าวไปในระดับที่ผมอยากไปไม่ได้ ด้วยทรัพยากร สภาพแวดล้อม เพราะต้องเข้าใจว่าอวกาศบ้านเรามันมีน้อยมากสำหรับการเรียนการสอน
พอถึงเทอม 2 เราเห็นน้องๆ ที่สาธิตเกษตรรุ่นต่อไปที่เขาจะสมัครเข้ามหาวิทยาลัยที่อเมริกากัน ผมคิดว่ามันเปิดโลกทัศน์ทั้งในด้าน professional และ self-development ผมรู้สึกว่าน่าสนใจ เลยตั้งใจสมัครดู ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัย Purdue ตอนนั้นลำบากมากจริงๆ เพราะการที่จะ transfer เข้ามักจะคำนึง GPA จากจุฬาฯที่ผมไม่ได้ตั้งใจเรียนช่วงนั้นเป็นหลัก พอไปสอบต่อที่อเมริกาแบบเด็กซิ่วเข้าไปมันยาก ผมยื่นคะแนนไป รู้ว่าไม่ติดวิศวะที่นั่นอยู่แล้วมันแข่งขันกันเยอะ ผมเลยเข้าทางลัดเรียกว่า undeclared ก็คือเข้าไปในสาขาที่ยังไม่ได้ declare ว่าอยากเรียนอะไร มันมีสำหรับเด็กที่ยังไม่ทราบว่าตัวเองอยากเรียนอะไร จากนั้นค่อยไปเริ่มเรียนคณะวิศวกรรมอวกาศ เรียนปี 1 ใหม่ เพราะหน่วยกิตจากจุฬาฯโอนเทียบไม่ได้
มหาวิทยาลัย Purdue สอนอะไรเรา
อาชว์: มหาวิทยาลัยเพอร์ดู มีประวัติศาสตร์ทางด้านอวกาศมายาวนานมาก ถ้านับจำนวนนักบินอวกาศที่เป็นเด็กจบจากเพอร์ดู มีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสองของอเมริกา รองจาก MIT เพอร์ดูมีศิษย์เก่าอย่าง Neil Armstrong คือคนแรกที่เหยียบดวงจันทร์และคนล่าสุดที่เหยียบดวงจันทร์คือ Eugene Cernan และยังมี Gus Grissom กับ Roger Chaffee ที่เสียชีวิตในอุบัติเหตุทดสอบภารกิจ Apollo 1 รวมไปถึงวิศวกรระดับต่ำจนถึงระดับบริหารอีกนับไม่ถ้วนที่ทำงานให้กับ NASA, SpaceX, Blue Origin, Lockheed Martin, Orbital ATK, ISRO, JAXA ฯลฯ
เมื่อเรียนจบเด็กที่มีสัญชาติอเมริกันที่นี่จะมีบริษัทมาทาบทามไป เงินเดือนก็น่าจะสักแสนดอลลาร์ต่อปีขึ้นไป ความประทับใจที่เรียนที่นี่คือ Professor มีความรู้ทางด้านนั้นๆ ครอบคลุมเกือบทั้งหมดที่เราอยากเรียนรู้ มี Lab ที่ทำเกี่ยวกับ Propulsion ก็คือพวกเครื่องยนต์จรวด เครื่องยนต์เครื่องบิน เป็นต้น ชื่อว่า Zucrow Laboratories ที่มีขีดความสามารถสูงที่สุดในประเทศเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ
การเรียนการสอนก็จะ open-ended มากกว่าที่เราต้องทำเป็น teamwork ค้นคว้าด้วยตัวเองหา unique solution ไม่ใช่คำตอบตายตัวอะไรอย่างนี้ครับ ทำให้เหมือนนักเรียนได้ inspire ในการเป็นวิศวกรจริงๆ ในการแก้ปัญหา เราได้เป็น owner ของการคิดและการริเริ่มนำเสนอ Aerospace มี 2 สาขาหลักๆ คือเครื่องบินกับอวกาศ ผมจุดประกายความชอบมาจากกระสวยอวกาศกับเครื่องยนต์ ผมชอบความที่มันเป็น hardware ที่มันมีความซับซ้อนสูงและจับต้องได้
มีประสบการณ์ที่ท้าทายตอนเรียนป.โทบ้างมั้ย
อาชว์: ตอนป. โทผมลงเรียนลึกขึ้นด้าน Rocket Propulsion มีคลาสที่ประทับใจคือ AAE-53900 Advanced Rocket Propulsion หรือการออกแบบเครื่องยนต์จรวดสอนโดยศาสตราจารย์ Timothée Pourpoint ถ้านักเรียนคนไหนอยากไปอยู่ SpaceX หรือ NASA พัฒนาเครื่องยนต์จรวด คุณต้องลงคลาสนี้ อันที่ท้าทายที่สุดคือการที่ต้องเขียนโค้ดเพื่อที่จะ simulate และ analyze การถ่ายเทความร้อนภายใน nozzle จรวดที่มีการหล่อเย็นด้วยเชื้อเพลิง (heat transfer in regenerative cooled rocket nozzle) ก่อนจบคลาสก็จะมี project ใหญ่ๆ อีกสองอันซึ่งนำความรู้ทั้งหมดมาวิเคราะห์ engine architecture ในภาพใหญ่แต่จะลงรายละเอียดในแง่มุม
ให้หลังมาปีหนึ่งตอนนั้นผมทำ final project สำหรับคลาส Air-Breathing Hypersonic Propulsion กับ Professor Heister แล้วสะดุดตาเขาเพราะเป็นนักเรียนคนแรกที่โค้ด simulation ของ flow field ในสองมิติโดยผมใช้ method of characteristics ในการจำลอง rotating detonation flow ในช่องเผาไหม้ เขาเลยไปแนะนำให้ Professor Pourpoint รับไปเป็น Teaching Assistant (TA) ช่วยสอนคลาส Advanced Rocket Propulsion การได้ช่วยสอนทำให้ผมได้เข้าใจเนื้อหามากกว่าการเป็นนักเรียนด้วยซ้ำไป นักเรียนหลายๆ คนผมยังติดต่ออยู่โดยคนที่มีสัญชาติอเมริกันก็ไปทำงาน NASA SpaceX กับ Blue Origin ก็มีไม่น้อย
ภาพถ่ายร่วมกับศาสตราจารย์ Timothée Pourpoint
มีคลาสไหนที่ได้ลงมือทดลองจริงบ้างไหม
ผมลงคลาสนึงที่ประทับใจคือ Design, Build, Test สอนโดย Professor Carson Slabaugh ที่คุมทีมวิจัย Rotating Detonation Engine (RDE) คือจะทำเครื่องยนต์จรวดแบบใหม่ในวงการเครื่องยนต์จรวดที่กำลังได้รับความสนใจจากนักวิจัยหลายแห่ง ปกติกลไกการเผาไหม้จะมีสองแบบคือแบบปกติและการระเบิด (Detonation) การเผาไหม้แบบปกติ เครื่องยนต์จรวดทั่วไปที่เห็นในการปล่อยจรวดใช้การเผาไหม้แบบปกติ มีความเร็วต่ำกว่าความเร็วเสียงและเห็นเป็นเปลวไฟที่พวยพุ่งออกมาจากท้ายจรวด
แต่การระเบิด (Detonation) จะเป็นการเผาไหม้ที่มีความเร็วสูงกว่าความเร็วเสียง มีแรงดันขับเคลื่อนที่สูงกว่าการเผาไหม้แบบปกติหลายเท่า และมีการเกิดคลื่นช็อก (Shock wave) ออกมาด้วย โดยทั่วไปแล้ว วิศวกรมักจะพยายามหลีกเลี่ยงการเกิด Detonation ในเครื่องยนต์จรวดแบบดั้งเดิม เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นสามารถทำลายเครื่องยนต์ได้ทันที
ซึ่ง Rotating Detonation Engine จะเป็นแนวคิดที่จะนำเอาพลังงานจากการระเบิดมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยออกแบบให้เกิดการระเบิดหมุนเวียนเป็นวงรอบภายในห้องเผาไหม้ คลื่นการระเบิดจะหมุนไปเรื่อยๆ ในทิศทางเดียวกัน เหมือนเป็นคลื่นที่เคลื่อนที่เป็นวงและสามารถควบคุมการระเบิดให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ ข้อดีของ RDE คือ ประสิทธิภาพสูงขึ้น ประหยัดเชื้อเพลิงได้มากกว่า สร้างแรงดันที่สูงกว่าการเผาไหม้แบบปกติ ซึ่งความยากคือ ต้องควบคุมการระเบิดให้มีเสถียรภาพ วัสดุที่ใช้ต้องทนต่อความร้อนและแรงดันสูงมากและต้องพัฒนาระบบควบคุมที่สามารถจัดการกับการระเบิดแบบหมุนวนได้ นี่ถือเป็นงานวิจัยที่มีศักยภาพที่จะสร้าง breakthrough ให้กับวงการอวกาศ และหากประสบความสำเร็จจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ
นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสกับ hardware จริงๆ เพราะก่อนหน้านี้โจทย์ที่ได้มาในกระดาษจะไม่พูดถึงโครงสร้างหรือชิ้นส่วนมากนัก จะโฟกัสที่การคำนวณหาค่าโดยไม่คำนึงถึงวิธีผลิตหรือประกอบ โจทย์ของทีมคือการออกแบบประกอบและทดสอบ hardware ที่สามารถใช้วิเคราะห์การระเบิดของส่วนผสมระหว่าง ammonia และแก๊สออกซิเจน (detonation characteristics of premixed ammonia-gaseous oxygen) โดยแท่นทดลองถูกออกแบบให้เป็น detonation tube ตั้งชื่อว่า BookStick มีขนาดท่อลดหลั่นกันลงไปเพื่อที่จะศึกษา quenching length ของการระเบิด และมีเซนเซอร์ตลอดลำท่อเพื่อที่จะวัดความเร็วของ detonation front งบในการพัฒนา $6,000
เรามีเวลาแค่สี่เดือนเลยต้องเร่งมือ มีหลายๆ อย่างที่ไม่เข้าที่เข้าทางแต่สุดท้ายเรา confirm ได้ว่าสามารถ detonate ส่วนผสม ammonia ในท่อสำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของแล็บ อาจารย์ยังเอ่ยปากชมว่าเป็นทีมที่มี teamwork ดีที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดที่สำคัญมากในการทำงานสายนี้
ความท้าทายในการทำงานด้านจรวดคืออะไร
อาชว์:แน่นอนว่าเขาให้เฉพาะคนอเมริกันมาทำงานด้านนี้ครับ เพราะเขาถือว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ ดังนั้นเขาไม่อนุญาตให้คนสัญชาติอื่นมาทำงานบริษัทด้านจรวดในอเมริกาครับ ถือเป็นความลับ แค่ฝึกงานก็ไม่ได้ ขั้นต่ำจะต้องเป็น permanent resident หรือมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยอย่างถูกกฎหมาย เพราะด้วยข้อบังคับ ITAR (International Traffic in Arms Regulations) จรวดไม่ว่าจะใช้ขนส่งอะไรก็ยังถือว่าเป็นยุทโธปกรณ์
แต่ถ้าฝั่งยุโรปก็จะเปิดกว้างมากกว่าในการรับคนสัญชาติอื่น เรียนจบเลยตัดสินใจสมัครงานที่ RFA (Rocket Factory Augsburg) บริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศสัญชาติเยอรมัน ติดอันดับ Top ของยุโรปเลยครับ ทุกประเทศอยากตาม SpaceX ให้ทัน ยุโรปก็ตื่นตัว ทีนี้เยอรมนีจะมี 2 บริษัทที่นำหน้าทางยุโรปเลยก็คือ RFA กับ
RFA เป็นบริษัท spin-off มาจากบริษัท OHB SE กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีอวกาศสัญชาติเยอรมัน-ยุโรปที่โด่งดังในการผลิตดาวเทียม เพราะในยุโรปเองเล็งเห็นความล้าหลังในเทคโนโลยีจุดนี้จึงอยากกระตุ้นบริษัทที่สามารถปล่อยดาวเทียมของตัวเองได้ ดาวเทียมเล็กๆ อยากมี VC เข้ามา แต่ต้องเป็น Strategic Investor หมายความว่าไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ใครจะมาลงทุนก็ลงได้ ต้องผ่าน OHB SE ก่อน นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไม RFA ทุนเลยน้อยกว่า start-up บางบริษัทที่กำลังแข่งขันกันภายในทวีป ดังนั้นเราต้องทำทุกอย่างให้ฉลาดในสภาวะที่มีทรัพยากรจำกัด
ถ้าได้ยินข่าวดังของ RFA ปีที่แล้วมีการทดสอบก่อนที่จะปล่อยจรวดจริงๆ ก็เกิดอุบัติเหตุ อาจพูดได้ไม่มากว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แต่มันมีบางอย่างเกี่ยวกับดีไซน์ของ turbopump ที่ก่อให้เกิด oxygen fire ที่ควบคุมไม่อยู่ ในขณะที่ทดสอบ static hotfire ของจรวดขั้นที่หนึ่ง (Stage 1) ซึ่งจุดเครื่องยนต์ 9 เครื่องพร้อมกัน สุดท้ายสูญเสียจรวดขั้นที่หนึ่งพร้อมกับเครื่องยนต์ทั้งหมดไป เป็นการสูญเสียที่ใหญ่ของบริษัทแต่ไม่มีใครเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บนะครับ เรามี standard ที่ผมค่อนข้างเชื่อมั่นอยู่แล้ว เคราะห์ดีที่จรวดขั้นที่สองและสามยังปลอดภัยดี ส่วนฐานปล่อยได้รับความเสียหายแค่เล็กน้อย
ผมเรียกว่ามันก็เป็นการทดสอบที่ล้มเหลวดีกว่า ไม่ใช่อุบัติเหตุ นี่เป็นเรื่องปกติของการทดสอบจรวดและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา R&D ไม่ว่าจะเป็น hardware ไหนๆ ที่นักลงทุนและผู้มีอำนาจจะต้องเข้าใจครับ
ช่วงที่ทำงานเป็นวิศวกรด้านจรวดทำอะไรบ้าง
อาชว์:ณ ตอนนั้นน่ะ ผมเข้าไปเริ่มงานในจุดที่เพิ่งจะทดสอบเครื่องยนต์จรวดสำเร็จรอบแรก บริษัทฯ ได้ทำการพัฒนาเครื่องยนต์จรวดให้สำเร็จก่อนเพราะมันเป็นสิ่งที่ซับซ้อนที่สุดและพัฒนายากที่สุด เมื่อทดสอบผ่านขั้นต่อไปคือการสร้างเครื่องยนต์เป็น production ก็คือผลิตเครื่องตัวนี้เพิ่ม 10 กว่าตัว เพื่อที่จะเอามาใส่จรวดจริงๆ ในการปล่อยจรวดครั้งแรก
ผมเข้าไปฝึกงานตอนนั้น ไม่ได้มีความรู้มากมายในด้านอุตสาหกรรมนั้น เริ่มตั้งแต่งานลูกกระจ๊อกที่สุดเลยก็คือไปคุม storage ของ flight hardware มันก็จะมีห้องโกดังเล็กๆ อันหนึ่งที่แบบเก็บชิ้นส่วนทุกอย่างที่จะนำมาประกอบเป็นเครื่องยนต์จรวด
ผมก็ไปนั่งนับสกรูว่าอันนี้มันมีกี่อันเพราะมันไม่ตรงกับใน system ก็ไปเรียนรู้ว่าชิ้นนี้เรียกว่าอะไร system code ของมันคืออะไร มันไปใช้อยู่ตรงไหน ตอนนั้นผมก็รู้สึกว่าคุ้มแล้ว อย่างน้อยก็เป็นคนไทยที่ได้มาทำจุดนี้ ถึงงานมันจะโง่มากไปหน่อย แต่ผมได้เรียนรู้จากพื้นฐานมากๆ ผมได้เรียนรู้ทุกชิ้นของจรวดที่มีอยู่ ชิ้นส่วน 800 กว่าชิ้นที่ไม่เหมือนกัน รู้ว่าคืออะไร ประกอบเข้ามาตรงไหน
ทำอยู่ประมาณ 3 เดือนก็ถูกเลื่อนมาทำหน้าที่คล้ายๆ โฟร์แมนในไซต์ก่อสร้างทำให้ได้ใช้สมองมากขึ้น งานผมคือการเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง design engineer กับ assembly technician คล้ายสถาปนิกกับวิศวกรออกแบบตึกต้องทำงานร่วมกัน แต่สองส่วนนี้มันไม่ได้เชื่อมกันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ผมต้องคอยคุมว่า เอ้ย ชิ้นนี้มีปัญหาแล้วนะ ปัญหาใหญ่ๆ ก็ต้องปรึกษากับเจ้าของระบบหรือเรียกว่า system owner ซึ่งเป็นคนออกแบบหรือรับผิดชอบสูงสุดของระบบนั้นๆ เช่น turbopump preburner หรือวาล์วต่างๆ ปัญหาเล็กๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วผมก็จะเรียนรู้และนำการแก้มาใช้ได้ทันทีเลย ความน่าสนใจคือพอได้ทำงานกับคนหลายสัญชาติ เราก็ได้เห็นวิธีคิดเขา แต่ละคนคิดแก้ปัญหายังไง
พอทำต่อมาได้อีกสักพักหนึ่งผมถูกเลื่อนขึ้นมาคุม engine production ทั้งหมดเป็นคนแรกเพราะเป็นเครื่องยนต์ล็อตแรกของบริษัท ซึ่งเป็นงานที่กดดันสูง เพราะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการจากการผลิตต้นแบบ (Prototyping) ไปสู่การผลิตจำนวนมาก (Serial Production) ให้มีประสิทธิภาพและส่งมอบทันเวลา หน้าที่ของผมคือรับชิ้นส่วนมาประกอบ ทดสอบ และทำ QC ซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทายจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทางวิศวกรรม จนในที่สุดผมและทีมก็สามารถส่งมอบเครื่องยนต์ Helix ทั้ง 14 เครื่องได้สำเร็จ โดยทุกเครื่องผ่านการทดสอบการจุดระเบิดครั้งแรก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญและเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตการทำงานของผม
เนื่องจากการทำตำแหน่งนี้อาศัยการ manage คนและทรัพยากรเป็นหลัก และทำให้มีความรู้กว้างแต่ไม่ลึกในด้านใดด้านหนึ่ง ผมเลยขอหัวหน้าเปลี่ยนตำแหน่งลงมาทำอะไรที่จะได้มีความเป็นเจ้าของของ hardware มากขึ้น ผมเลยได้เปลี่ยนมาเป็น system owner (วิศวกรที่รับผิดชอบเกี่ยวกับระบบใดระบบหนึ่ง) อย่างคนนี้เขาทำ pump คนนี้ทำท่อ เป็นต้น มันจะมีวาล์ว (วาล์วสำหรับเปิด-ปิดหรือควบคุมการไหลของเชื้อเพลิงและแก๊สต่างๆ) หลายตัว ผมก็ได้เป็น system owner สำหรับ 2 อย่างก็คือหลักๆ ทำวาล์วเชื้อเพลิงหลัก (main fuel valve) แล้วก็วาล์วควบคุม (flow control valves) เวลาครึ่งหนึ่งใช้ไปกับการแก้ปัญหาและพัฒนาระบบที่เป็นเจ้าของอีกครึ่งหนึ่งผมยังใช้ไปกับการสนับสนุนคนคุม engine production คนใหม่ในตำแหน่ง advisor เพราะถือว่ายังมีความสำคัญสูงสุดของบริษัทอยู่ เหนือไปกว่าการพัฒนาคือการผลิต product ที่ใช้งานให้ได้ก่อน
ถามว่าทำงานที่นี่แตกต่างจากที่อื่นอย่างไร ผมรู้สึกว่าหลายๆ บริษัทจะทดสอบทุกอย่างให้ชัวร์ก่อน ความเสี่ยงจะต่ำ เพราะทุกอย่างต้องเป๊ะก่อน requirement สำหรับ system ของเขาเป็นหลายๆ ช่อง เขาก็ติ๊กหมดเลย และเพราะงบประมาณสูงด้วยเลยต้องระมัดระวัง แต่ RFA ไม่ได้มีงบเยอะขนาดนั้น บางช่องที่ไม่ได้ติ๊ก ก็เทสต์ใหม่ จนมันเวิร์ก เหมือนปรัชญาของ SpaceX ที่บอกว่าเขาไม่ได้ไปทำทุกอย่างให้มันเวิร์กก่อน คือมันไม่ต้องสร้างเป๊ะมาก แต่คือเทสต์ไปเรื่อยๆ จะได้รู้ว่าจุดไหนผิดถูกแล้วก็จะได้แก้จุดนั้น ถ้าคุณใช้เวลาในการดีไซน์มากเท่าไรมันไม่เห็นเป็นรูปธรรมสักที อย่าง COO ของบริษัทเขาจะพูดเสมอเลยว่าอย่า simulate อะไรที่สามารถทดสอบจริงได้เพราะทำเป็นพันชั่วโมงมันก็ให้คำตอบไม่ตรงเท่ากับการทดสอบจริง
ผมดีใจนะที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการส่งมอบเครื่องยนต์จรวดให้นำไปใช้ในการทดสอบ ถึงแม้จะล้มเหลวจากสาเหตุอื่นจนสูญเสียไป 9 เครื่องและตัวจรวด Stage 1 แต่นั่นถือเป็นก้าวแรกที่เราสามารถพยายามส่งมอบของที่มีความ reliable สูงในการนำไปใช้ซึ่งไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนบริษัทเท่านั้นแต่คือขับเคลื่อนทั้งยุโรป เพราะว่าทั้งทวีปยุโรปมีแค่ไม่กี่บริษัทที่ทำได้ นี่คือความแตกต่างที่เราสร้างและ RFA จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับยุโรป
ในอนาคตเราจะทำจรวดที่มีแรงขับเคลื่อนเยอะกว่านี้ requirement ก็จะสูงกว่านี้ แรงดันก็จะสูงกว่านี้ ปีที่แล้วมันใกล้สำเร็จมากๆ แล้ว ก็ยังมีความหวังว่าจะได้เห็นมันได้ launch เป็นจรวดลำแรกจากพื้นดิน EU ปล่อยขึ้นที่พัฒนาโดยภาคเอกชนก่อนสิ้นปีนี้ อันนี้คือภารกิจที่อยากจะทำให้สำเร็จ
มองอวกาศประเทศไทยอย่างไร
อาชว์: ผมคิดว่าคนไทยที่มีอำนาจในการให้งบประมาณอาจยังไม่เข้าใจ R&D มากพอ การที่อุตสาหกรรมหรือการวิจัยเติบโตได้คือต้องไม่หวังผลทุกรอบ มันไม่ได้ contribute to product ที่ทำเงินได้เอามาก่อน มันเป็นพื้นฐานในการต่อยอดขึ้นไปทำ application แล้วก็เป็น industry ต่อไปได้
ประเทศไทยเราต้องมี Heavy Industry ที่เป็นเจ้าของเป็น OEM เป็นผู้พัฒนา ยิ่งเราเริ่มช้าเรายิ่งตกขบวน ไม่ใช่ว่าคุณอยากพัฒนา product ที่เป็น end application แต่ว่าคุณไม่มี industry รองรับถามว่าถ้าเราไปซื้อของจีน ของอินเดียมาแบบนั้นได้ไหม ได้ แต่มันไม่คล่องตัวและไม่ยั่งยืนเท่าการที่จะมี Supplier ภายในประเทศ รวมถึงระบบการศึกษาที่ต้องยกระดับด้วยเพื่อให้เด็กไทยมี analytical mindset ที่สำคัญมากในการเรียนวิชา STEM
ผมพยายามเก็บประสบการณ์ทำงานจากต่างประเทศแล้วกลับมาสร้าง infrastructure ให้กับประเทศไทยด้าน space economy แน่นอน เรื่องจรวดผมรู้อยู่แล้วว่ามันทำไม่ได้ ก็คงต้องดูว่าเทคโนโลยีไหนที่มันทำเงินได้และเป็น expertise ของตัวเองด้วย แต่คงไม่ถึงกับแบบเป็น product ที่เป็นจรวดเป็นลำ ผมเป็นคนที่อยากต้องพัฒนาอะไรไปด้วยจริงๆ อาจจะกลับมาทำสตาร์ทอัพ supply chain ชิ้นส่วนด้านจรวดและสอนหนังสือไปด้วยก็เป็นไปได้ครับ ขึ้นอยู่กับการผลักดันจากทางภาครัฐเพราะผมก็ไม่สามารถจะช่วยประเทศชาติได้ถ้าต้องมาขาดทุนส่วนตัวในการพัฒนาประเทศ มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ส่วนผมมีหน้าที่ใช้ความรู้ขับเคลื่อนสังคมตามกำลังที่มี
วิศวกรอวกาศถ้าสร้างจรวดได้แปลว่าสร้างอะไรก็ได้บนโลกใบนี้
อาชว์: ผมคิดว่าศาสตร์ของผมก็จะ Old School นิดหนึ่ง อย่างน้อยมันอาจจะมีสิ่งที่เหมือนกันคือพื้นฐานความรู้ในการทำและคิดแก้ไขปัญหาบางอย่างที่มันเหมือนกัน มันสามารถประยุกต์ใช้สร้างสิ่งต่างๆ ได้ วิศวกรถ้าให้นิยามก็ต้องเป็นคนที่เข้าใจ first principles คือหลักแก่นแท้ของศาสตร์แต่ละอันคือคุณเข้าใจตรงนี้แล้วคุณประยุกต์มาใช้ให้ถูกต้องนั่นคือวิศวะในการแก้ปัญหาซึ่ง Elon Musk เคยพูดเรื่องนี้บ่อยๆ
อยากฝากอะไรถึงน้องๆ หรือคนที่ไม่ได้ทำงานด้านนี้แต่สนใจด้านอวกาศ
ผมโชคดีมากๆ ที่ทางบ้านมีทุนพอที่จะส่งผมไปเรียนต่อที่อเมริกาโดยไม่ต้องไปดิ้นรนหาทุนเอาเอง จากจุดนั้นจนถึงวันนี้ผมค่อยเดินอีกครึ่งทางต่อมาด้วยตัวเอง สำหรับน้องๆ คนไทยหลายๆ คนผมรู้ว่ามันลำบากที่จะต้องเดินด้วยตัวเองทั้งทางตั้งแต่แรกจนจบ แต่มันเป็นไปได้ ผมไม่อยากจะดูแคลนการศึกษาประเทศไทยแต่ดูจาก ranking มหาวิทยาลัยแค่ภายในทวีปต้องยอมรับว่าเรายังล้าหลังอยู่มาก ผมสนับสนุนว่าถ้ามีโอกาสอยากจะให้ออกมาสัมผัสการศึกษาในประเทศที่ขึ้นชื่อในศาสตร์ที่ตัวเองสนใจ
สิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับชีวิตผมล้วนแล้วมาจากการที่ได้ท้าทาย comfort zone ตัวเอง การที่ได้ทำอะไรที่ตัวเองไม่ถนัดหรือคุ้นชินคือการที่ได้ผลักดันตัวเองไปในทางที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นไม่ใช่แค่ในทางการงานแต่ในชีวิตประจำวันด้วย สำคัญที่สุดคืออย่านิ่งนอนใจว่าโอกาสมันจะตกใส่ตัวเอง มันไม่มีวันเกิดขึ้นถ้าเราไม่กระตือรือร้นไขว่คว้ามันเอง สำหรับน้องๆ ที่มี passion กับอะไรสักอย่าง อยากจะบอกให้ take action เพราะยิ่งรอนานยิ่งจะเฉื่อย การจะส่งอะไรไปดวงจันทร์ถ้าเล็งวงโคจรนั้นพลาดไปแค่องศาเดียวสุดท้ายจะคลาดเป้าหมายไปเกือบหมื่นกิโลเมตร ถ้าเรามีจุดมุ่งหมายแล้วก็ควรจะปรับโคจรตัวเองแต่เนิ่นๆ แล้วก็ปรับไปเรื่อยๆ ระหว่างทางด้วย ที่สุดแล้วต้องถามตัวเองลึกๆ ก่อนว่าจุดหมายของเราคืออะไรแล้วก็อย่าชะล่าใจในการวิ่งตามมัน
สุดท้ายอยากฝากมอตโตที่ผมชอบในภาษาละติน ซึ่งเป็นคติที่ผลักดันให้ผมกล้าหาหนทางเดินต่อไปได้คือ “Aut viam inveniam aut faciam” (I shall either find a way or make one) แปลว่า “ฉันจะหาทางให้ไปถึงจุดหมาย แต่ถ้าเส้นทางนั้นไม่มี ก็ต้องสร้างมันขึ้นมาเอง”