ประธาน กกต. เผยสำนวนคดีฮั้ว สว. ดำเนินการตามขั้นตอน เชื่อยังไม่ถึงขั้นต้องลดเวลาการไต่สวน
วันนี้ (18 กรกฎาคม) อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าคดีการทุจริตในกระบวนการเลือก สว. 2567 หรือคดีฮั้ว สว. โดยระบุว่า คณะกรรมการสืบสวนไต่สวนกลาง ชุดที่ 26 ได้ทำสำนวนเสร็จแล้ว และส่งเรื่องไปยังสำนักงาน กกต. เพื่อพิจารณา วิเคราะห์ศึกษาความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน และให้เลขาธิการ กกต. แสดงความเห็น
โดยเมื่อเลขาธิการ กกต. มีความเห็นแล้ว ก็จะเสนอไปยังให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ซึ่งมีหลายคณะ ซึ่งคณะอนุกรรมการจะเป็นผู้ศึกษาวิเคราะห์ช่วย กกต. ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ซึ่งผลการสืบสวนไต่สวน ของคณะต่างๆ จะถือว่าเป็นความลับ ซึ่งเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้
สำหรับขั้นตอนเลขาธิการ กกต. จะใช้เวลา 60 วัน และเมื่อเข้าสู่คณะอนุกรรมการวินิจฉัยปัญหาและข้อโต้แย้งก็จะมีเวลาไม่เกิน 90 วัน หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ก็ไม่เกิน 90 วันเช่นกัน
ไม่ล้วงข้อมูลในสำนวน จ่อฟันผิดกว่า 200 คนจริงหรือไม่
ส่วนกระแสข่าวที่มีผู้ที่อาจจะถูกดำเนินคดีมากถึง 229 คนนั้น อิทธิพรกล่าวว่า ปกติจะให้สำนวนขึ้นมาตามลำดับ ไม่ไปล้วงข้อมูลรายละเอียด ซึ่งที่เป็นข่าวก็มีจำนวนไม่น้อย
ขณะที่หากผู้ถูกร้องมีจำนวนมาก กกต. มีนโยบายในการวินิจฉัยอย่างไร อิทธิพรกล่าวว่า ไม่มีนโยบาย เป็นการพิจารณา ตามขั้นตอนไม่สามารถแทรกแซงอะไรได้ทั้งสิ้น พร้อมย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยพิเศษ ที่ผ่านมาไม่เคยทำเช่นนั้น เพราะไม่ได้เป็นไปตามระเบียบ และต้องมีเหตุผลสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
กกต. ไม่อยู่ใต้แรงกดดัน ดำเนินการตามขั้นตอน
ส่วนกรณีที่พรรคภูมิใจไทยมองว่าข้อกล่าวหาของหลายคนเหมือนกัน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมนั้น อิทธิพรระบุว่า เป็นความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องแต่เมื่อมอบหมายให้คณะกรรมการสืบสวนไต่สวนฯ ไปแล้ว ที่เหลือก็เป็นไปตามขั้นตอน ไม่ได้มีข้อยกเว้นอะไร ซึ่งความเห็นในระดับต่างๆ ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันได้อยู่แล้ว ซึ่งกระบวนการก็ทำต่อไปไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร
“กกต. ปฏิบัติหน้าที่ตามกระบวนการ ไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันอะไรทั้งสิ้น” ประธาน กกต. ย้ำ
อิทธิพรยืนยันด้วยว่า เป็นหน้าที่ของ กกต. แต่ละคน ต้องธำรงไว้ซึ่งความเป็นกลาง และมีพฤติกรรมพฤติการณ์ไม่อยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา จุดมุ่งหมายคือทำให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายมากที่สุด
ต้องมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง หากจะลดเวลาการไต่สวน
สำหรับความเป็นไปได้ในการลดเวลาการไต่สวนนั้น อิทธิพรชี้ว่า หากจะลดเวลา จะต้องมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเคยมีกรณีที่ กกต. เห็นว่า ในบางสำนวนหรือบางกระบวนการพิจารณา อาจไม่จำเป็นต้องใช้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยฯ แต่เพราะมีเหตุจำเป็นเรื่องการจำกัดเวลาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น หากดำเนินการช้า จะทำให้ผู้สมัครเลือกตั้งหมดสิทธิ์สมัคร หรือข้อเท็จจริงที่ได้มาจากคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนฯ ชัดเจนเพียงพอแล้ว ซึ่งอาจจะกระทำได้ แต่ที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตามระเบียบสืบสวนไต่สวนอย่างเคร่งครัด
สำหรับกรณีที่พรรคภูมิใจไทยได้ฟ้องร้องคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนฯ อิทธิพรกล่าวว่า พิจารณาเหมือนทุกครั้ง ดูรายละเอียดและความเห็นจากคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนฯ รวมถึงความเห็นจากเลขาธิการ กกต. ที่ส่งขึ้นมา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเอกฉันท์ เมื่อมาถึงที่ประชุมจะต้องมีการถกกันบนพื้นฐานของความเห็นและสำนวน
“ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยเรื่องนี้อย่างไร บางครั้งก็ออกมาเป็นฉันทามติเอกฉันท์ หรือ 3:3, 4:2, 5:1 ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละคน” อิทธิพรระบุ