ครม.เห็นชอบวิธีคำนวณเงินทดแทนค่าเวนคืนตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของที่ดิน
ครม.เห็นชอบวิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับหรือที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามข้อ 1 วรรคสอง แห่งกฎกระทรวงกำหนดการลด เพิ่ม หรือหักเงินค่าทดแทน อันเนื่องมาจากผลของการเวนคืน หรือสภาพที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป พ.ศ. 2564
วันที่ 22 ก.ค.นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ ดังนี้
1. วิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับหรือที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องลดลง หรือเพิ่มขึ้น ตามข้อ 1 วรรคสอง แห่งกฎกระทรวงกำหนดการลด เพิ่ม หรือหักเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากผลของการเวนคืน หรือสภาพที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป พ.ศ. 2564
2. ให้หน่วยงานของรัฐนำวิธีการคำนวณดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบการกำหนดเงินค่าทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ถูกเวนคืนและสังคมต่อไป และให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายอนุกูล กล่าวว่า วิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับหรือที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องลดลง หรือเพิ่มขึ้น มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้น ต้องมีลักษณะสภาพทำเลที่ตั้งดีขึ้น หรือใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น หรืออื่นๆ อันทำให้ที่ดินนั้นมีราคาสูงขึ้นจากราคาที่กำหนด หากดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้วเสร็จ เช่น
(1) ที่ดินก่อนถูกเวนคืนไม่ติดถนน หรือคลองชลประทาน แต่หลังจากการเวนคืนทำให้ที่ดินแปลงนั้นติดถนน หรือคลองชลประทาน
(2) ที่ดินก่อนถูกเวนคืนติดถนนขนาดเล็ก แต่หลังจากเวนคืนทำให้ที่ดินแปลงนั้น ติดถนนขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น
(3) กรณีอื่น
2. กำหนดที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลง ต้องมีลักษณะสภาพทำเลที่ตั้งด้อยลงหรือใช้ประโยชน์ได้ลดลง หรืออื่นๆ อันทำให้ที่ดินนั้นมีราคาลดลงจากราคา ที่กำหนด หากดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้วเสร็จ เช่น
(1) ที่ดินถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างทางรถไฟหรือทางพิเศษหรือทางหลวงพิเศษที่ห้ามเชื่อมทาง
(2) ที่ดินส่วนที่เหลืออยู่บริเวณที่รูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับหรืออยู่บริเวณคอสะพานหรือทางขึ้นลงสะพาน
(3) ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนแยกออกเป็น 2 ส่วน และเมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วที่ดินส่วนที่เหลือดังกล่าวไม่ได้รับประโยชน์จากการเวนคืน
(4) ภายหลังการเวนคืนรูปแปลงของที่ดินเปลี่ยนแปลงจากสี่เหลี่ยมเป็นสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมคางหมู หลายเหลี่ยม หรือเสียรูปทรง
(5) ที่ดินส่วนที่เหลือมีรูปแปลงแคบหรือมีความลึกลดลงหรือเนื้อที่ลดลงจนใช้ประโยชน์ได้จำกัดลง
(6) ที่ดินเปลี่ยนสภาพจากที่ดินติดถนนสายหลักเป็นติดถนนสายรอง หรือถนนซอย หรือเป็นที่ดินไม่มีทางเข้าออก หรือการเข้าออกไม่สะดวกดังเดิม
(7) ที่ดินส่วนที่เหลืออยู่บริเวณระยะมองเห็น (Sight Distance)
(8) กรณีอื่น เช่น ก่อสร้างสาธารณูปการ หรือมีข้อจำกัดโดยกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และกฎหมายอื่น ๆ
3. กำหนดให้ “ราคาสูงขึ้นหรือลดลงของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืน” หมายถึง ผลต่างของราคาที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนแปลงหนึ่งแปลงใด ระหว่างราคาที่ดิน ก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากการเวนคืนกับราคาหลังจากการเวนคืน ทั้งนี้ ให้คำนวณราคาที่ดินในวันที่ได้มีการกำหนดราคาเบื้องต้นในกรณีที่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน หรือในวันที่ได้มีการกำหนดเงินค่าทดแทนในกรณีที่มีพระราชบัญญัติเวนคืนโดยไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน
4. กำหนดวิธีการคำนวณราคาสูงขึ้นหรือลดลงของที่ดินที่เหลือจากการเวรคืน ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(1) ราคาที่ดินก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากการเวนคืนให้ถือเอาราคาที่คณะกรรมการตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์
พ.ศ. 2562 กำหนดไว้
(2) ราคาที่ดินหลังจากการเวนคืน ให้คำนวณโดยใช้แนวทางวิธีการตามหลักเกณฑ์การกำหนดราคาเบื้องต้นของที่ดินตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ของที่ดินที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงหรือบริเวณเดียวกับที่ดินที่ถูกเวนคืน ซึ่งมีรูปแปลง ลักษณะ หรือขนาดคล้ายคลึงกัน และมีทำเลที่ตั้งใกล้เคียง กับที่ดินที่ถูกเวนคืนหากดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้วเสร็จ ในกรณีที่ไม่มีที่ดินในลักษณะดังกล่าว ให้ใช้ที่ดินอื่นที่มีลักษณะ รูปแปลง ขนาดคล้ายคลึงกัน และมีสภาพทำเลใกล้เคียงกัน นำมาเปรียบเทียบปรับลดหรือเพิ่มราคาที่ดิน ตามแนวทางการประเมินราคาที่ดินของกรมธนารักษ์หรือหน่วยงานของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญด้านประเมินทรัพย์สิน หรือตามแนวทาง ที่หน่วยงานของรัฐที่มีการเวนคืนในลักษณะเดียวกัน
5. กำหนดที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนแปลงใดมีราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับราคาที่ลดลงของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนแปลงนั้นด้วย
6. กำหนดที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนแปลงใดมีราคาสูงขึ้นให้นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแปลงนั้น แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดจะหักเกินร้อยละ 50ของเงินค่าทดแทนที่ดินมิได้
7. ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่เรียกเก็บสำหรับที่ดินแปลงนั้นจากการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น มิให้นำราคาที่สูงขึ้นของที่ดิน ที่เหลือจากการเวนคืนมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน
“ประโยชน์และผลกระทบ วิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับหรือที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงินค่าทดแทนที่ต้องลดลง หรือเพิ่มขึ้นดังกล่าว จะเป็นหลักเกณฑ์อันเป็นมาตรฐานกลางสำหรับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีภารกิจในการเวนคืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน และเป็นประโยชน์ในการพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ถูกเวนคืนและสังคมต่อไป ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐซึ่งมีภารกิจในการเวนคืนแต่ละหน่วยงาน อาจจะต้องมีการปรับปรุงแนวทางหรือคู่มือการปฏิบัติงานเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับหรือที่ต้องเสียไปเป็นจำนวนเงินค่าตอบแทนที่ต้องลดลงหรือเพิ่มขึ้น” นายอนุกูล ระบุ
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO