“Google-OpenAI” เผย AI คว้าเหรียญทอง โอลิมปิกคณิตศาสตร์นานาชาติครั้งแรกในประวัติศาสตร์
แบบจำลอง AI จาก Google และ OpenAI สร้างประวัติศาสตร์ในการแข่งขัน IMO โดยทำคะแนนถึงเกณฑ์เหรียญทองครั้งแรกด้วยโมเดลการให้เหตุผลผ่านภาษาธรรมชาติ
วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เวลา 11.51 น. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า Google และOpenAI เปิดเผยว่า แบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของทั้งสองบริษัทสามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันคณิตศาสตร์ระดับโลก International Mathematical Olympiad (IMO) ได้สำเร็จ ถือเป็นครั้งแรกที่ระบบ AI ทำคะแนนถึงเกณฑ์เหรียญทองของการแข่งขันระดับมัธยมศึกษานี้
แบบจำลอง AI ของทั้งสองบริษัทสามารถแก้ปัญหาได้ 5 ใน 6 ข้อ โดยอาศัยโมเดลการให้เหตุผลทั่วไป (general-purpose reasoning models) ที่สามารถประมวลผลแนวคิดทางคณิตศาสตร์ด้วยภาษาธรรมชาติ แตกต่างจากแนวทางเดิมที่ใช้วิธีการเฉพาะทางด้านคณิตศาสตร์
ฝั่ง Google DeepMind ได้ร่วมมืออย่างเป็นทางการกับคณะกรรมการ IMO เพื่อให้แบบจำลองได้รับการให้คะแนนและรับรอง ส่วน OpenAI แม้ไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันอย่างเป็นทางการ แต่เปิดเผยเมื่อวันเสาร์ว่าแบบจำลองของตนทำคะแนนถึงเกณฑ์เหรียญทองจากโจทย์ปีนี้ โดยอ้างอิงจากการให้คะแนนของผู้ได้รับเหรียญ IMO จำนวน 3 คนที่ทำหน้าที่ตรวจแบบไม่เป็นทางการ
ความสำเร็จนี้สะท้อนให้เห็นว่า AIอาจเข้าใกล้ความสามารถในการช่วยนักคณิตศาสตร์ไขปริศนาวิจัยที่ยังไม่เคยมีใครแก้ได้ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปีข้างหน้า ตามความเห็นของศาสตราจารย์จุนฮยอก จอง (Junehyuk Jung) นักคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ และนักวิจัยเยี่ยมในทีม AI ของ Google DeepMind
“ผมคิดว่า เมื่อเราสามารถแก้โจทย์ให้เหตุผลที่ยาก ๆ ด้วยภาษาธรรมชาติได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันระหว่าง AI กับนักคณิตศาสตร์” จองกล่าวกับสำนักข่าว Reuters
OpenAI บรรลุความสำเร็จนี้ผ่านแบบจำลองต้นแบบใหม่ที่ใช้แนวคิด test-time compute ในขนาดใหญ่ หมายถึงการให้แบบจำลองมีเวลาคิดนานขึ้น และใช้การประมวลผลแบบขนาน (parallel computing) เพื่อดำเนินแนวคิดหลากหลายชุดพร้อมกัน ซึ่งแม้ไม่มีการเปิดเผยต้นทุนในการประมวลผล แต่โนอัม บราวน์ นักวิจัยของ OpenAI ระบุว่า “มีค่าใช้จ่ายสูงมาก”
นักวิจัยของ OpenAI มองว่านี่เป็นสัญญาณชัดเจนว่า แบบจำลองAI มีศักยภาพด้านการให้เหตุผลที่อาจขยายไปสู่สาขาอื่นนอกเหนือจากคณิตศาสตร์ ซึ่ง Google ก็มีมุมมองในทิศทางเดียวกัน โดยเชื่อว่า AIสามารถช่วยตอบคำถามทางวิทยาศาสตร์แขนงอื่น เช่น ฟิสิกส์ ได้ในอนาคต
การแข่งขัน IMO ครั้งที่ 66 ปีนี้จัดขึ้นที่ Sunshine Coast รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย มีผู้เข้าแข่งขัน 630 คน โดยมีผู้ที่ทำคะแนนได้ระดับเหรียญทอง 67 คน หรือประมาณ 11%
Google DeepMind เคยได้คะแนนระดับเหรียญเงินเมื่อปีที่แล้วจากโมเดลที่ออกแบบเฉพาะทางด้านคณิตศาสตร์ ส่วนปีนี้ Google ใช้โมเดลทั่วไปชื่อว่า Gemini Deep Think ซึ่งเคยเปิดตัวบางส่วนในงานนักพัฒนาประจำปีของบริษัทเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ โมเดลสามารถแก้โจทย์ภายในเวลาที่กำหนด 4.5 ชั่วโมง โดยใช้ภาษาธรรมชาติล้วน ๆ ต่างจากแนวทางเดิมที่อาศัยภาษาฟอร์มอลและการคำนวณซับซ้อน
OpenAI ก็พัฒนาโมเดลทดลองสำหรับการแข่งขันครั้งนี้เช่นกัน โดย นักวิจัย Alexander Wei เปิดเผยผ่านแพลตฟอร์ม X ว่า ทางบริษัทยังไม่มีแผนปล่อยโมเดลระดับนี้สู่สาธารณะในเร็ว ๆ นี้
การแข่งขันปีนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการ IMO ประสานงานอย่างเป็นทางการกับนักพัฒนาAI บางราย เพื่อใช้การแข่งขันเป็นเครื่องมือทดสอบศักยภาพของโมเดล โดยคณะกรรมการ IMO รับรองผลการทดลองของบริษัทต่าง ๆ เช่น Google และขอให้เผยแพร่ผลในวันที่ 28 กรกฎาคม
เดมิส ฮาซซาบิส ซีอีโอ Google DeepMind กล่าวบน X เมื่อวันจันทร์ว่า “เรายึดตามคำร้องขอของคณะกรรมการ IMO ที่ให้ห้องแล็บ AI ทุกแห่งเปิดเผยผลหลังจากผลการแข่งขันอย่างเป็นทางการได้รับการยืนยัน และนักเรียนได้รับการยกย่องตามสมควรแล้ว”
ด้าน OpenAI ซึ่งเผยแพร่ผลตั้งแต่วันเสาร์ และอ้างความสำเร็จในเหรียญทองก่อน ได้ให้สัมภาษณ์ว่าได้รับอนุญาตจากกรรมการคนหนึ่งของ IMO ให้เผยแพร่ได้หลังพิธีปิด
ทั้งนี้เกรเกอร์ โดลินาร์ ประธานคณะกรรมการ IMO ให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า วันจันทร์เป็นวันที่อนุญาตให้บริษัทที่ร่วมมือกับการแข่งขันเผยแพร่ผลได้อย่างเป็นทางการ
อ้างอิง : www.reuters.com