“คมนาคม-กทม.” จับมือพัฒนาระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อรถไฟฟ้า เล็งผุดรถเมล์ใหม่ 30 เส้นทางเชื่อมชุมชนเกิดใหม่
คมนาคม-กทม.บูรณาการพัฒนาระบบฟีดเดอร์เชื่อมระบบขนส่งมวลชนไร้รอยต่อ เล็งผุดรถเมล์ 30 เส้นทางใหม่เชื่อมชุมชนเกิดใหม่กับรถไฟฟ้า และปรับที่ตั้งป้ายรถเมล์ วิน จยย.ให้เหมาะสม ใช้บริการสะดวก
วันที่ 22 ก.ค. 2568 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการพัฒนาระบบเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ได้หารือกับ กทม.เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการบริหารจัดการด้านการจราจร และจัดระบบขนส่งมวลชนที่เป็นฟีดเดอร์ (Feeder) รองรับมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทาง เนื่องจากประเมินว่ารูปแบบการเดินทางในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลจะเปลี่ยนไปเน้นระบบรางมากขึ้น ดังนั้น รถ ขสมก.ซึ่งจะมีการปรับใช้เป็นรถ EV การจัดเส้นทางต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับรูปแบบการเดินทางในปัจจุบัน
“การประชุมครั้งนี้เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคมกับ กทม. เพื่อเป็นการนำร่องไว้เป็น Model โดยจะนำผลสำเร็จที่ได้จากการดำเนินการครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้กับเมืองใหญ่อื่นๆ ต่อไป” นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าว
ทั้งนี้ มีแนวทางความร่วมมือ ได้แก่ 1. ความร่วมมือระหว่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กับ กทม.พัฒนาเส้นทางรถเมล์ใหม่ ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาระบบการคมนาคมเพื่อเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ต่อเนื่อง (ปี 2568-2569) โดยจะศึกษาการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางใหม่ในเขตกรุงเทพฯ รวมถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสาร แนวคิดการใช้ระบบตั๋วร่วม และแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร รวมทั้งรับทราบปัญหาและอุปสรรคสถานการณ์รถโดยสารสาธารณะที่ให้บริการในปัจจุบัน
ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล สถิติ ปัญหา รูปแบบการเดินทาง สภาพปัจจุบัน ก่อนนำไปวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคและเส้นทางที่มีปัญหาต่างๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2568 ส่วนการวิเคราะห์เส้นทางรถโดยสารประจำทางใหม่ทั้งระบบในกรุงเทพฯ จะนำแนวเส้นทางของ ขบ.และ กทม.มาพิจารณาร่วมกัน คาดว่าจะได้ข้อเสนอแนวเส้นทางใหม่ภายในปลายเดือนมกราคม 2569
ทั้งนี้ สนข.มีการศึกษารถเมล์เส้นทางใหม่ 111 เส้นทาง ในเขต กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และไม่ทับซ้อนกับเส้นทางในแผนปฏิรูปรถเมล์ 269 เส้นทาง เพื่อรองรับและเชื่อมต่อชุมชน หมู่บ้านที่เกิดใหม่ โดยมีเส้นทางใน กทม.ที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าได้ประมาณ 30 เส้นทาง ซึ่งจะมีการประเมินความเหมาะสมและความต้องการพิจารณาให้เป็นฟีดเดอร์กับรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ด้วย
2. การกำหนดจุดที่ตั้งป้ายรถโดยสารประจำทางให้สอดคล้องกับสถานีรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ กทม.อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีป้ายจอด 5,192 ป้าย โดยจะมีการบูรณาการร่วมกันในการบริหารจัดการ ผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดที่หยุดรถโดยสารในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นอนุกรรมการ
3. การบริหารจัดการวินรถจักรยานยนต์ โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะร่วมกับ กทม.ในการกำกับดูแลวินรถจักรยานยนต์ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งในเรื่องใบขับขี่สาธารณะ และจะมีการหารือแนวทางในการนำแอปพลิเคชันมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งผู้ให้บริการและประชาชนผู้ใช้บริการ โดยให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
4. การบูรณาการกล้องวงจรปิดของสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. เพื่อจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการจราจรและการปราบปรามรถสาธารณะที่กระทำผิด ภายใต้โครงการศึกษาการแก้ไขปัญหาจราจรทั้งระบบบนถนนสายหลักในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-Road)
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รูปแบบการเดินทางใน กทม.มีรถไฟฟ้าเป็นเส้นเลือดหลัก และมีรถเมล์และรถจักรยานยนต์รับจ้าง เป็นเส้นเลือดฝอย โดยที่ผ่านมา กทม.มีบริการ BMA Feeder เดินรถ Shuttle Bus เพื่อผู้โดยสารเข้าสู่รถไฟฟ้า โดยเป็นการให้บริการฟรีเพื่อทดสอบความต้องการของตลาด หากมีปริมาณผู้โดยสารก็เปิดให้เอกชนเข้ามาทำการเดินรถต่อไป เน้นเส้นทางที่มีความจำเป็น
ส่วนรถจักรยานยนต์รับจ้าง ปัจจุบันมีประมาณ 5,000 วิน มีคนขี่วิน 80,000 คน ซึ่ง กทม.มีคณะกรรมการแต่ละเขตกำกับดูแล มีฐานข้อมูลดิจิทัลเก็บไว้ โดยจะร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมในการกำกับดูแล ทั้งเรื่องปริมาณและคุณภาพ เบื้องต้นมี 3,000 วิน ที่ตั้งบนฟุตปาธ ทางเท้า ก็จะมีการบริหารจัดการเพื่อให้มีความเหมาะสมกายภาพของพื้นที่และถนนต้องพิจารณาปัจจัยเรื่องการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า
ส่วนป้ายรถเมล์ มีทั้งเป็นของ กทม.และของหน่วยงานอื่น ซึ่งจะมีการหารือเพื่อดูตำแหน่งตั้งป้ายรถเมล์ที่เหมาะสม เพื่อเสริมให้การใช้บริการรถไฟฟ้าได้สะดวกไร้รอยต่อ และมีเทคโนโลยีบอกระยะเวลา สายรถเมล์ที่จะมาถึงป้าย โดยใช้ระบบ GPS เชื่อม นอกจากนี้ จะร่วมกับ ขบ.ในการกำกับดูแลรถแท็กซี่ การจอดรับในจุดต่างๆ กรณีไม่กดมิเตอร์ เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างเป็นธรรม
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO