ปูดสาเหตุสร้างทางฉช2004 ไม่ถูกใจชาวบ้านชี้ออกแบบไม่ตรงปกในเวทีฟังความเห็นในพื้นที่ฉะเชิงเทรา
วันที่ 21 ก.ค.68 เวลา 15.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก น.ส.วรดาลักษณ์ อายุ 48 ปี ชาวบ้าน ม.4 ต.พิมพา อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.68 ทางผู้อำนวยการก่อสร้างขยายเส้นทางหลวงชนบท ฉช.2004 ทางเชื่อม ทล.34 (บางนา-ตราด) – ทล.314 (ฉะเชิงเทรา-บางปะกง) (ตอนที่ 1) ช่วงตอนเกาะไร่-ตลาดพิมพา ได้เข้ามาพบกับตนเองและได้เชิญให้ไปพูดคุยทำความเข้าใจกันยังภายในสำนักงานชั่วคราว ใกล้กับไซด์งานก่อสร้าง
โดยได้รับปากว่าจะนำปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแนวกำแพงขอบถนนที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง ใกล้กับบริเวณคอสะพานข้ามคลองขวางล่าง ที่มีระดับความสูงผิดไปจากการชี้แจงให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านในการประชุมรับฟังความคิดเห็นถึง 2 ครั้งว่าระดับความสูงของถนนจะสูงจากเดิมไม่เกิน 75 ซม. แต่เมื่อมีการก่อสร้างเกิดขึ้นจริง กลับมีระดับความสูงที่บริเวณหน้าบ้านของตนมากถึงกว่า 2 เมตร และปิดขวางทางเข้าออกรวมถึงกิจการร้านค้าที่อยู่ใกล้แนวถนนทั้งหมดไปหารือกับทางกรมชลประทาน
ทั้งนี้เพื่อที่จะขอลดระดับแนวสะพานให้ต่ำลงมาจากเดิม ว่าจะทำได้หรือไม่ หรือจะทำการขุดที่ใต้ท้องสะพานให้มีระดับความลึกลงไปแทนการยกระดับพื้นถนนให้สูงขึ้นมา เพื่อลดปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่วนแนวทางที่ 2 จะทำการลดระดับขอบถนนลงมาจากแนวเดิมประมาณ 40 ซม. ตามที่เคยแจ้งให้ทราบไว้แล้ว และจะปรับความลาดเอียงของขอบถนนบริเวณหน้าร้านค้าและทางเข้าออกบ้านให้มีระดับต่ำลงมาให้มากเท่าที่จะสามารถทำได้ แต่ตัวสะพานจะยังคงอยู่ในแนวระดับเดิมตามแบบในแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทาง ผอ.โครงการ จะนำไปหารือกันก่อนจะดำเนินไปตามแนวทางใดต่อไป น.ส.วรดาลักษณ์ กล่าว
ขณะที่นายอนันต์ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเ ม.4 ต.พิมพา กล่าวว่า สำหรับตนนั้นจะได้รับผลกระทบจากแนวกำแพงสูงที่กำลังมีการก่อสร้างขยายถนนจาก 2 เลนเป็น 4 เลน และมีการยกระดับคอสะพานให้สูงมากขึ้นถึงกว่า 1 วา ( 2 เมตร) ว่าจะทำให้ตนนั้นเดินทางเข้าออกจากบ้านยากลำบากมาขึ้น โดยที่ตนนั้นเป็นคนพิการจากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงไป 1 ซีกของร่างกายทางด้านซ้าย แต่ยังสามารถใช้รถ จยย.ซาเล้ง เดินทางเข้าออกจากบ้านได้
และหากมีการก่อสร้างขยายถนนเพิ่มความสูงชันขึ้นไปถึง 2 เมตร จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่การใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ตนอาจจะออกไปไหนไม่ได้อีก ที่ผ่านมาไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าจะมีโครงการก่อสร้างขยายถนนที่หน้าปากทางเข้าบ้านมาก่อน เพราะไม่เคยมีใครเข้ามาแจ้งให้ทราบ โดยมาทราบเมื่อเขาเริ่มทำการก่อสร้างและทำกำแพงสูงขึ้นมาขวางปากทางเข้าบ้านแล้ว จึงรู้สึกตกใจเพราะไม่มีใครมาบอกว่าจะสร้างขยายถนนสูงขึ้นหรือจะทำอะไร
หลังสอบถามจากเพื่อนบ้านภายหลัง ได้ทราบว่ามีเพียงชาวบ้านบางรายเท่านั้น ที่ได้ไปร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น ส่วนตนนั้นไม่เคยมีใครเข้ามาแจ้งให้ทราบจึงไม่ได้ไป และไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อนเลย จนมีการเข้ามาสร้างขอบทางสูงชันเกิดขึ้น นายอนันต์ กล่าว
ด้านนายรักชาติ อายุ 71 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1 ม.3 ต.พิมพา อดีตครูผู้ฝึกสอนงานก่อสร้าง ในหน่วยงานด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ผลกระทบที่ชาวบ้านกำลังได้รับในขณะนี้ คือ ถนนสูงกว่าพื้นที่ของชาวบ้านมาก โดยระดับถนนใหม่ที่กำลังมีการก่อสร้างมีระดับพื้นสูงเท่ากับขอบสะพานด้านบนของแนวราวสะพานข้ามคลองเดิม แต่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการและอยากได้คือระดับถนนที่ใกล้เคียงหรือเท่ากับพื้นที่ของชาวบ้าน หรือหากสูงกว่าก็ไม่ควรเกิน 50 ซม.
ซึ่งเหตุที่ระดับถนนสร้างขยายใหม่สูงขึ้นไปมากกว่าที่ชาวบ้านต้องการนั้น เกิดจากการนั่งเขียนแบบแต่ในห้องแอร์แล้วส่งมาให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานกลางแดดทำ ถนนจึงสูงเกินกว่าความจำเป็น และมากเกินไป ตามสุภาษิตของคนทำงานก่อสร้างที่ว่า “คนออกแบบนั่งอยู่แต่ในห้องแอร์ แต่คนทำงานกลางแดดถูกชาวบ้านด่า” โดยไม่ได้มาดูในพื้นที่จริงในขณะออกแบบ แต่เวลาคนมาทำงานจริงกลับไม่ได้เป็นไปตามนั้น
ทั้งนี้การทำงานช่างนั้นไม่ว่าจะก่อสร้างหรือทำอะไรก็ตาม ต้องมีความอะลุ่มอล่วยและตามใจเจ้าของบ้านเป็นหลัก ไม่ใช่ตามใจแต่แบบหรือเจ้าของบริษัทผู้รับเหมาเป็นหลัก และระหว่างที่มีการออกมารับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่นั้น ไม่ได้เขียนแบบมาให้ชาวบ้านดูว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง จะทำอะไรตรงไหนบ้าง จะมีระดับความสูงในแต่ละจุดเท่าใด ระยะห่างเท่าใดจึงจะเข้ามาถึงพื้นที่ของชาวบ้าน
ส่วนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ขอให้ใช้ดุลยพินิจของความเป็นช่าง ดุลยพินิจของคนทำงานก่อสร้างและบริษัท รวมถึงทางหลวงชนบทผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้ติดขัด ฉะนั้นการก่อสร้างต้องดูทั้งพื้นที่ ดูภูมิประเทศ ดูชาวบ้าน และสอบถามจากทางเจ้าของพื้นที่ ดูความเหมาะสมความเป็นไปได้แล้วจึงนำไปผนึกเขียนแบบขึ้นมา ไม่จำเป็นต้องทำให้ตรงตามที่ต้องการทั้งหมด ในภาษาราชการนั้นเขามีข้อยกเว้นหรือมีหมายเหตุเอาไว้ให้อยู่ จึงห้ามเขียนแบบแต่ในห้องแอร์แล้วนำมาให้คนตากแดดมาคุมงาน มันจะเกิดปัญหา