ขยาย NTP “อู่ตะเภา”อีกรอบ EEC เร่งแจ้ง UTA เปิดทางแก้สัญญา“ไฮสปีด”ไม่มาลดไซด์เฟส1 เริ่ม 3 ล้านคน/ปี
EEC เตรียมส่งหนังสือแจ้ง ขยาย NTP “อู่ตะเภา”อีกรอบ หลัง 31 ก.ค. เร่งเสนอครม.29 ก.ค.รับทราบ พร้อมเปิดทางแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนได้ UTA ขู่แรงไม่ขยาย NTP แล้ว หากรัฐไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ก็คงต้องเลิกกัน “ไฮสปีด”ไม่มา ลดไซด์เฟส1 เริ่มที่ผู้โดยสาร3 ล้านคน/ปี
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.หรือ EEC) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2568 มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 290,000 ล้านบาท ที่มี บจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) นิติบุคคลที่มีบจ. การบินกรุงเทพ (บางกอกแอร์เวย์ส) บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (BTS), และบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) เป็นบริษัทคู่สัญญา กรณีมีปัญหาอุปสรรคและยังไม่สามารถเริ่มการก่อสร้างได้ โดยจะรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบ ในวันที่ 29 ก.ค.นี้ หลังจากนั้น จะเร่งเจรจากับ UTA ต่อไป
ส่วนกรณีที่ UTA ส่งหนังสือ ถึง EEC ยืนยันจะไม่ขอขยายเวลาส่งมอบหนังสือให้เริ่มงาน (NTP: Notice to Proceed) จากวันที่ 31 ก.ค.2568 แล้วรวมถึงจะใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายจากวงเงิน 5,100 ล้านบาทด้วยนั้น นายจุฬา กล่าวว่า ในหนังสือทาง UTA ไม่ได้บอกว่าจะยกเลิกสัญญา เพียงแต่ทางเอกชนไม่อยากให้ยืดเวลาการส่งมอบหนังสือออกไปเกินกว่าวันที่ 31 ก.ค.นี้ ซึ่งก็จะรายงานครม.รับทราบเพื่อให้มีการเจรจาต่อไป
ส่วนประเด็นที่จะเจรจากัน ต้องรอดูว่าทาง UTA จะเสนอเงื่อนไขอะไรมา ก็ต้องคุยกันว่าทาง UTA ต้องการอะไร เพื่อจะได้ไปต่อได้
“จะเร่งส่งมติบอร์ด EEC ไปให้ UTA และเสนอครม.ให้รับทราบปัญหาทั้งหมดและแนวทางที่ EEC จะทำอะไรต่อ เชื่อว่าครั้งนี้รัฐบาลจะต้องชัดเจนแล้วว่าจะต้องให้เริ่มต้นโครงการได้ เพราะถ้าไม่ได้จะกระทบกับหลายแผนงาน เช่น รันเวย์ 2 สนามบินอู่ตะเภาที่กำลังจะเริ่มก่อสร้าง เป็นต้น” นายจุฬากล่าว
@EEC เตรียมส่งหนังสือแจ้ง UTA ขยาย NTP อีกรอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สกพอ.ได้ทำหนังสือแจ้งมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 3/2568 โดยเรียนถึง นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ในฐานะกรรมการ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด มีเนื้อหาดังนี้
ตามหนังสือที่อ้างถึง บจ. อู่ตะเกา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น ได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตตะวันออก (สกพอ.) ว่าบริษัทจะไม่ขยายวันที่กำหนดเงื่อนไขสำเร็จครบถ้วนอออกไปเพิ่มเติมแล้ว และเมื่อพ้นกำหนดวันที่ 31 ก.ค. 2568 จะพิจารณาใช้สิทธิตามกฎหมายและสัญญาร่วมลงทุนกับ สกพอ. ต่อไป ซึ่งรวมถึงการเรียกให้ชดเชยค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บริษัท จนถึงปัจจุบันรวมกันแล้วเป็นจำนวนประมาณไม่น้อยกว่า 5,100,000,000 บาท (ห้าพันหนึ่งร้อยล้านบาท) นั้น
สกพอ. ขอเรียนว่า สกพอ. ได้ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเสมอมา และได้นำเสนอปัญหาอุปสรรค และข้อเท็จจริง รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 3/2568 วันที่ 25 กรกฎาคม 2568 โดยที่ประชุมได้รับรองมติในห้องประชุมแล้วและมีมติเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรี ดังนี้
1.รับทราบ ปัญหาอุปสรรค ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายหลังการลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ซึ่งกระทบความเป็นไปได้ทางการเงินของโครงการอย่างร้ายแรง มีผลให้เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถดำเนินโครงการฯ ได้ตามสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาครัฐ
2.มอบหมายให้ สกพอ. เจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคตามข้อเท็จจริงทั้งหมดบนพื้นฐานความสมเหตุสมผลกับเอกชนคู่สัญญา เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการฯ และการเกิดการลงทุนโครงการได้จริง ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ให้ดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิและกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)
ทั้งนี้ สกพอ. จึงขอให้บริษัทพิจารณาขยายวันที่กำหนดให้เงื่อนไขสำเร็จครบถ้วน จากวันที่ 31 กรกฎาคม 2568 ออกไปก่อน เพื่อให้ สกพอ. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและมอบหมายการดำเนินการตามมติ กพอ. ข้างต้น และให้ผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้บริษัท สามารถเริ่มดำเนินโครงการ ได้ต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา จะขอบคุณยิ่ง
@UTA ขู่แรงไม่ขยาย NTP แล้ว หากรัฐไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ก็คงต้องเลิกกัน
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการของ บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทาง EEC มีการเจรจาขอขยายกำหนดออกหนังสือแจ้งให้เริ่มนับระยะเวลาโครงการ (Notice to Proceed: NTP) มาแล้วมากกว่า 2 ครั้ง ล่าสุดกำหนดไว้ วันที่ 31 ก.ค. 2568 ซึ่งเรื่องนี้ผู้ถือหุ้น UTA ได้ประชุมเห็นตรงกันว่า จะไม่ให้ขยาย NTP ออกไปอีกแล้ว และแจ้ง EEC ไปว่า ภาครัฐตัองมีความชัดเจน หากยังไม่มีคำตอบ ทางบริษัทฯ จะพิจารณาใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทสามารถยกเลิกสัญญาได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ล่าสุดมีการรายงานบอร์ด EEC และจะขอขยาย NTP จากวันที่ 31 ก.ค.68 นี้ออกไปอีกครั้ง เพราะไม่สามารถทำได้ทันเวลา ทาง UTA จะยังยอมรับได้หรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า เรายืนยันไม่อยากรอแล้ว หากไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ก็คงเลิกกัน ยกเว้นจะมีคำตอบที่ชัดเจนมากกว่าเดิม มีแผนรายละเอียดการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพราะที่ผ่านมาต้องบอกว่า เราทำอะไรต่อไม่ได้เลย ผู้ถือหุ้นก็กังวล
โดยหลังลงนามสัญญาร่วมทุนเมื่อปี 2563 UTA มีการลงทุน ไปแล้ว มากกว่า 4,000 ล้านบาท โดยจะต้องดำเนินการออกแบบ มีค่าจ้างที่ปรึกษา มีการเตรียมพื้นที่ และจัดทำรั้วกั้นพื้นที่ เป็นต้น
@ลดไซด์ แบ่งพัฒนาเฟส1 เริ่มที่ผู้โดยสาร3 ล้านคน/ปี ก่อน
ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ในฐานะผู้ถือหุ้น UTA กล่าวว่า ว่า หากได้รับหนังสือตอบจาก EEC ที่เป็นทางการแล้ว คงต้องดูเนื้อหาก่อน และนัดประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งประกอบไปด้วยบางกอกแอร์เวย์ส, BTS และซิโน-ไทยฯ เพื่อพิจารณาร่วมกันก่อน ตอนนี้ยังบอกอะไรไม่ได้
นอกจากนี้ การออก NTP ยังมีประเด็นด้านสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนบางอย่างที่ก็ยังคุยกับ EEC ไม่ลงตัวด้วย
“จริงๆ มีการขยาย NTP มาหลายรอบแล้ว เดิมจะต้องส่งมอบ NTP ให้ได้ในวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ EEC ก็ขอเลื่อนมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้งคือ 30 มิ.ย.รอบหนึ่ง 15 ก.ค. รอบหนึ่ง และล่าสุด 31 ก.ค.อีกรอบหนึ่ง ทาง UTA จึงอยากให้ EEC คุยกันรอบเดียว แล้วทำให้จบจะดีกว่า “
ที่ผ่านมายังมีการหารือปรับแผนงาน เพราะหลังจากเสนอโครงการลงนามสัญญาปัจจัยที่เกี่ยวข้องและส่งกับโครงการมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น เกิดการแพร่ระบาดโควิด- 19 การปรับแผนการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และที่สำคัญ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขนส่งผู้โดยสารเข้าสู่สนามบิน
ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการปรับแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จากเดิม 4 ระยะ (ระยะที่ 1 รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน/ปี ระยะที่ 2 รองรับที่ 30 ล้านคน/ปี ระยะที่ 3 รองรับที่ 45 ล้านคน/ปี ระยะที่ 4 รองรับที่ 60 ล้านคน/ปี) ปรับเป็น 6 ระยะ โดยเริ่มต้นระยะที่ 1 รองรับที่ 12 ล้านคน/ปี และเมื่อจำนวนผู้โดยสารอยู่ในระดับ 75-80% จึงจะพัฒนาในระยะถัดไป จนถึง60 ล้านคน/ปี
และล่าสุด หากต้องเริ่มโครงการโดยไม่มีรถไฟความเร็วสูง ได้ทบทวนปรับแผนใหม่ โดยปรับลดไซด์การพัฒนา ระยะที่ 1 เริ่มที่ 3 ล้านคน/ปีก่อน หรือเรียกว่า ระยะ1.1 ก็ได้ แล้วเมื่อมีผู้โดยสารใกล้ถึง 3 ล้านคน กผ้พัฒนา ระยะ 1.2 ซึ่งอาจจะเป็น 6 ล้านคน/ปี และเป็น 12 ล้านคน/ปี ตามลำดับ เพราะปัจจุบันสนามบินอู่ตะเภา ก็มีผู้โดยสารประมาณ 4 แสนคน/ปีเท่านั้น เป็นการปรับทยอยการลงทุนให้เหมาะสมกับผู้โดยสาร
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO