รู้จักความแตกต่างระหว่าง “เซนไซ” กับ “โอชิรุโกะ”
“เซนไซ” และ “โอชิรุโกะ” เป็นของหวานญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ทำจากถั่วแดง ทานกับโมจิหรือชิราทามะดังโงะ ทั้งสองอย่างนี้เป็นอาหารที่ดูเผิน ๆ แล้วคล้ายกันมาก จนหลายคนอาจไม่ทราบว่าแตกต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะมาอธิบายความแตกต่างระหว่างเซนไซและโอชิรุโกะ รวมถึงชื่อเรียกและลักษณะเฉพาะของอาหารชนิดนี้ในภูมิภาคคันโตและคันไซ
เซนไซ
เซนไซ ทำโดยการต้มถั่วแดงกับน้ำและน้ำตาลจนได้รสหวาน ดูเผิน ๆ มีลักษณะคล้ายกับโอชิรุโกะ แต่สิ่งสำคัญคือตัวถั่วแดงยังคงสภาพเป็นเม็ด นิ่มแต่ไม่เละ มีน้ำเล็กน้อยขลุกขลิก มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของชื่อนี้ ทฤษฎีแรกคือมีพระภิกษุที่ทานเซนไซแล้วกล่าวออกมาว่า “zenzai” (善哉) ในทางพุทธศาสนา คำนี้มีความหมายว่าดีมาก, ยอดเยี่ยม, วิเศษ ส่วนทฤษฎีที่สองคือเพี้ยนมาจาก “จินไซโมจิ” (神在餅) อาหารที่มีลักษณะคล้ายกันซึ่งจะทานในเทศกาลคามิอาริไซในแถบอิซูโมะ เซนไซมักทานกับโมจิหรือชิราทามะดังโงะ และเกาลัด มีเม็ดถั่วแดงในปริมาณที่พอเหมาะทำให้ทานได้อย่างเต็มปากเต็มคำ
โอชิรุโกะ
โอชิรุโกะ ทำโดยการต้มถั่วแดงบดกับน้ำและน้ำตาลจนออกมามีลักษณะเป็นน้ำข้น เรียกว่าซุปถั่วแดง (小豆汁) มักทานกับโมจิหรือชิราทามะดังโงะ โอชิรุโกะยังสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามลักษณะของถั่วแดงที่ใช้ คือ สึบุอัน ถั่วแดงบดหยาบที่ถั่วแดงยังมีความเป็นเม็ดอยู่บ้าง และโคชิอัน ถั่วแดงบดละเอียดจนเนื้อเนียนเข้าด้วยกัน ชื่อโอชิรุโกะ ประกอบด้วยคันจิตัว 汁 แปลว่าซุป และตัว 粉 แปลว่าผง คำอธิบายที่เป็นไปได้มากที่สุดคือน่าจะมาจากการใช้ซาราชิอันหรือผงถั่วแดงบดแห้ง จึงถูกเรียกว่าโอชิรุโกะ ประวัติศาสตร์ของโอชิรุโกะย้อนกลับไปได้ถึงสมัยเอโดะ ในสมัยนั้นจะไม่ได้มีรสหวานเหมือนทุกวันนี้ แต่จะมีรสเค็มและนิยมทานเป็นของว่างแกล้มเหล้า
ความแตกต่างตามภูมิภาค
ถึงแม้เซนไซและโอชิรุโกะจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ในภูมิภาคคันโตและคันไซก็มีชื่อเรียกที่ต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของถั่วแดงที่ใช้และวิธีการทำ สามารถดูได้จากตารางด้านบน
ภูมิภาคคันโต
ในคันโต โอชิรุโกะที่มีน้ำซุป อย่างเช่น อินากะจิรุโกะ (田舎汁粉) และโอกุระจิรุโกะ (小倉汁粉) จะเรียกว่าโอชิรุโกะ แต่โอชิรุโกะที่ไม่มีน้ำซุป อย่างเช่น โกะเซนจิรุโกะ (御前汁粉) จะเรียกว่าเซนไซ และโดยทั่วไปจะไม่ได้มีชื่อเรียกแยกว่าเป็นถั่วแดงแบบสึบุอันหรือโคชิอัน แต่ในบางพื้นที่และบางร้านค้าก็อาจมีชื่อเรียกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะของถั่วแดงที่ใช้
ภูมิภาคคันไซและคิวชู
ในคันไซและคิวชู จะแยกความแตกต่างโดยขึ้นอยู่กับ “ลักษณะของถั่วแดง” ที่ใช้ โดยหากเป็นโคชิอัน จะเรียกว่าโอชิรุโกะ แต่หากเป็นสึบุอัน จะเรียกว่าเซนไซ ทั้งสองอย่างจะเป็นแบบมีน้ำซุป แต่หากไม่มีน้ำซุปจะเรียกด้วยชื่ออื่นอย่าง คาเมะยามะ (亀山) หรือคินโทกิ (金時) ซึ่งจะแตกต่างจากเซนไซและโอชิรุโกะ
นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ของคิวชู หากใส่โมจิจะเรียกว่าโอชิรุโกะ แต่หากใส่ชิราทามะดังโงะจะเรียกว่าเซนไซ ส่วนในบางภูมิภาคอย่างฮอกไกโด กลับไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างทั้งสองอย่าง ดังนั้นจึงถือได้ว่าอาหารชนิดนี้สามารถสะท้อนถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละภูมิภาคได้ด้วย
เซนไซและโอชิรุโกะถึงแม้จะหน้าตาคล้ายกันแต่ก็มีรายละเอียดเล็ก ๆ ที่แตกต่างกันซ่อนอยู่ แต่สิ่งที่เหมือนกันอย่างแน่นอนคือเป็นขนมหวานที่สามารถเอนจอยกับรสหวานจากธรรมชาติของถั่วแดงได้ง่าย ๆ แล้วเพื่อน ๆ คิดว่าถ้าเป็นขนมของไทยเรา มีอะไรบ้างนะที่หน้าตาคล้ายกันแต่ความจริงแล้วแตกต่างกัน ?
สรุปเนื้อหาจาก web.hh-online