ตึงเครียด! กัมพูชาไร้กฎ ยิงถล่มบ้านคนไทย อพยพแล้วกว่า 1 แสนคน
ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 สรุปสถานการณ์การสู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ยังคงตึงเครียดต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2568 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นใน 7 พื้นที่ และในเช้าวันนี้ (27 กรกฎาคม 2568) ฝ่ายกัมพูชายังคงยิงอาวุธโจมตีบ้านเรือนประชาชนไทย ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบ
สถานการณ์การสู้รบและผลกระทบ
พื้นที่ ช่องบก ทั้ง 2 ฝ่าย ตรึงกำลัง และปรากฏข่าวสารว่ามีการเคลื่อนย้ายกำลังบางส่วนมาช่วยในพื้นที่ ภูมะเขือ, พื้นที่ช่องอานม้า ฝ่ายเราดำเนินการเข้าควบคุมพื้นที่ตามเส้นปฏิบัติการ 1 : 50,000
ขณะที่กำลังประเทศกัมพูชาได้เคลื่อนย้ายลงไปทางทิศใต้
พื้นที่ภูผี ปราสาทโดนตวล และช่องตาเฒ่า ยังตรึงกำลังกันอยู่ ฝ่ายประเทศกัมพูชาน่าจะมีการสูญเสียอย่างหนัก สำหรับผู้บัญชาการกองพลของประเทศกัมพูชา ที่ปรากฏข่าวสารว่าเสียชีวิตเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่นี้ อย่างไรก็ตามในการปฏิบัติการทางทหารแล้ว ยังไม่สามารถยืนยันข่าวสารนี้ได้
พื้นที่ด้านหน้าเขาพระวิหาร ยังคงมีการสู้รบกันอยู่ โดยอาวุธหลักของประเทศกัมพูชา คือการใช้พลซุ่มยิงจากพื้นที่ปราสาทพระวิหาร มุ่งทำร้ายกำลังพลของเรา ขณะที่พื้นที่ภูมะเขือ ฝ่ายเรายังคงควบคุมพื้นที่ตามเส้นปฏิบัติการ 1: 50,000 เอาไว้ได้
พื้นที่ช่องจอม มีการใช้อาวุธยิงสนับสนุน โจมตี บ้านเรือนประชาชนไทย และพื้นที่ปราสาทตาควาย และฝ่ายประเทศกัมพูชา มีความพยายามในการส่งรถถัง ขึ้นมายังพื้นที่ช่องกร่าง ทางทิศตะวันตกปราสาทตาควาย 2 กิโลเมตร
พื้นที่ปราสาทตาเมือนธม มีการปรับรูปขบวนเข้าตีทางทิศตะวันออกปราสาทตาเมือน ตลอดทั้งวัน จนฝ่ายเราต้องถอนตัวออกจากพื้นที่และใช้ปืนใหญ่โจมตีทำให้ฝ่ายประเทศกัมพูชาต้องถอนตัวออกไป
การโจมตีเช้าวันนี้ (27 กรกฎาคม 2568) เวลาประมาณ 06.30 น. ฝ่ายกัมพูชาใช้อาวุธไม่ทราบชนิดยิงจากสนามบินกรุงศาโรจน์ 4 นัด ทำให้บ้านเรือนประชาชนไทยเสียหาย 2 หลัง และสัตว์เลี้ยง 5 ตัว
ปฏิบัติการฝ่ายไทย : เข้าควบคุมพื้นที่ตามแนวเส้น 1:50,000 บริเวณช่องตาผ่าน อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี
ฝ่ายกัมพูชายังคงพยายามเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณช่องตาผ่าน ด้านหน้าเขาพระวิหาร มุมมะเมือ ช่องจอม ปราสาทตาควาย และปราสาทเมืองธม การยิงอาวุธที่ไม่เป็นไปตามกฎการยิงของฝ่ายกัมพูชายังคงส่งผลกระทบต่อประชาชนตามแนวชายแดน
ภาพรวมสถานการณ์และมาตรการช่วยเหลือประชาชน
สถานการณ์โดยรวมยังคงมีความตึงเครียดสูง และกองทัพภาคที่ 2 ประเมินว่าฝ่ายกัมพูชาอาจเตรียมปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่เพื่อสร้างความเสียหายให้กับไทยก่อนการเจรจา แม้จะมีการประกาศแนวทางยุติความขัดแย้งเป็นกลางแล้วก็ตาม
การอพยพประชาชน:
ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดได้ดำเนินการอพยพประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวใน 4 จังหวัด โดยมีจำนวนผู้ที่อพยพแล้วรวม 107,077 คน (เพิ่มขึ้น 9,646 คน) แบ่งเป็น:
- บุรีรัมย์: 1 จุด 10,173 คน
- สุรินทร์: 71 จุด 40,736 คน
- ศรีสะเกษ: 135 จุด 39,580 คน
- อุบลราชธานี: 76 จุด 16,588 คน
ผลกระทบต่อประชาชน:
มีการค้นพบกระสุนปืนใหญ่ตกในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
- ต.มุมมะเมือ อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์: 3 ลูก
- ต.บักโคก อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์: 16 ลูก
- บ.ไตรค์ ต.บ้านพงวง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์: 9 ลูก ทำให้บ้านเรือนเสียหาย 3 หลัง (ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต)
การช่วยเหลือและจิตอาสา
จิตอาสาตามแนวชายแดน:
มีการจัดตั้ง จิตอาสา 904, จิตอาสาพระราชทาน และจิตอาสา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในศูนย์พักพิงชั่วคราว ขนย้ายสิ่งของ และช่วยในปฏิบัติการทางทหารใน 4 จังหวัด (บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี) โดยมีกำลังพลจิตอาสา 904 จำนวน 147 นาย, จิตอาสาประชาชน 2,480 คน และจิตอาสา 220 คน
โรงครัวพระราชทาน:
มีการจัดตั้งโรงครัวพระราชทานใน 4 จังหวัด เพื่อประกอบอาหารแจกจ่ายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม 2568 แจกจ่ายข้าวแล้วรวม 125,100 กล่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้:
- บุรีรัมย์: 1 แห่ง
- สุรินทร์: 3 แห่ง (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, โรงเรียนโสตศึกษา)
- ศรีสะเกษ: 2 แห่ง (วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์, โรงเรียนเบญจลักษ์วิทยา)
- อุบลราชธานี: 1 แห่ง (ที่ว่าการ อ.เดชอุดม)
ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่นครราชสีมา:
สำนักงาน ปภ.จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวให้กับผู้อพยพจากพื้นที่ประสบเหตุในอำเภอต่างๆ ของนครราชสีมา รวม 705 คน
คำเตือนและขอความร่วมมือจากประชาชน
กองทัพภาคที่ 2 ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนจาก แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น เพจปักษ์แดง กองทัพบก Royal Thai Army หรือเพจกองทัพภาคที่ 2 และขอความร่วมมือ งดแชร์ข้อมูลจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ รวมถึง งดโพสต์หรือแชร์ภาพการเสียชีวิตของทหารกัมพูชา เพื่อให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิต