เกมเจรจาต้องได้เปรียบ แก้เอ็มโอยู2ฉบับ-ยอมรับแผนที่
หากความสัมพันธ์ระหว่างสองตระกูลแตกเป็นเสี่ยงจริง ก็จะใช้จังหวะตรงนี้ลอยตัวปล่อยให้ทหารแก้ปมปัญหา สร้างทางลงให้กับฝ่ายการเมือง โดยอ้างว่าไม่สามารถใช้ความสัมพันธ์พูดคุยเป็นการส่วนตัวได้
สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ยังสู้รบกันไม่จบ เพราะ ฮุน เซน สั่งการเด็ดขาด ห้ามทหารของตัวเองเสียพื้นที่ “ภูมะเขือ” ยุทธภูมิบน “จะงอยหน้าผา” หลังจากศาลโลกมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในการหยุดยิง ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายที่อยู่บนนั้นวางกำลังไว้นับแต่ปี 2554 แต่ฝ่ายกัมพูชาละเมิดเอ็มโอยู 43 สร้างกระเช้า บันได ถนน ส่งกำลังบำรุง
นอกจากนั้น ในแนวรบ “3 ปราสาท” และช่องบก ที่กัมพูชายื่นเรื่องต่อศาลโลก เป็นพื้นที่เป้าหมายที่ฮุน เซน ต้องยึดให้ได้ ตามการวางแผนหลังคำพิพากษาปี 2554 จึงพยายามทุ่มทุกสรรพกำลังไปตรงนั้น
กองทัพบกงัด แผนป้องกันประเทศ ขึ้นมาใช้ และเตรียมพร้อมมาตลอด นับแต่กัมพูชานำกำลังนับหมื่นนายมาประชิดชายแดนตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ขยับฐานปืนใหญ่ สถาปนาที่ตั้งฐานทหารตลอดแนว อันถือเป็นภัยคุกคามที่ชัดเจน แต่ท่าทีรัฐบาลในตอนแรกยังพยายามรักษาระดับความสัมพันธ์ด้วยการพูดคุยเจรจา
จุดเปลี่ยนของเหตุการณ์คือ ปฏิบัติการปิดด่านที่ตั้งบ่อนกาสิโน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ พื้นที่ขุมทรัพย์ป้อนชนชั้นนำของกัมพูชา เป็นการตีใจกลางหัวใจ เพราะเป็นจุดศูนย์ดุลในการล่อเลี้ยง “ระบอบฮุน” ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างฮุน เซน และทักษิณ ชินวัตร ขาดสะบั้น จนมีการแฉเบื้องหลังอดีตมิตรที่เคยช่วยเหลือกันมาเป็นละครหลังข่าวที่คนติดตามมาพักใหญ่
นั่นเป็นหน้าฉากที่ชัดเจนว่าเกิดการแตกหัก สะบั้นความสัมพันธ์ แต่ก็มีการเตือนให้เฝ้าระวังความสัมพันธ์ของทั้งสองตระกูลว่าจบสิ้นกันจริงหรือไม่ และมีคำถามว่าจะมีหลักประกันใดว่าฝ่ายทหารไทยจะดำเนินการยุทธ์อย่างปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ และไร้ปัญหาเรื่องข้อมูลรั่วไปฝั่งตรงข้ามในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ฝ่ายฮุน มาเนต นายกฯ ของกัมพูชา เดินเกมอ้อมหลังมาเจรจา และหาทางลงด้วยการพึ่งกลไกและเครือข่ายประธานอาเซียน เพราะเป็นคนที่ให้ความเคารพ “ทักษิณ ชินวัตร” และตั้งเป็นประธานที่ปรึกษาอาเซียนมาแล้ว
ไม่เช่นนั้น ฮุน มาเนต คงไม่มีการโพสต์เฟซบุ๊ก วัน ว. เวลา น. นัดหมายหยุดยิงในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นช่วงจังหวะการสู้รบที่ไทยยังยึดพื้นที่ซึ่งกัมพูชาแทรกซึมลุกล้ำมาตลอดปีได้เบ็ดเสร็จ การหยุดยิงในช่วงนั้น ไทยก็จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างแน่นอน
สอดคล้องกับข่าวลือเรื่องทักษิณล็อบบี้ให้มีการหยุดปฏิบัติการ แต่ได้รับการอธิบายจากฝ่ายกองทัพผ่านนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการนายกรัฐมนตรี ว่าในสถาการณ์ ณ วันที่ขอให้หยุดยิงนั้น ไทยจะไม่ได้เปรียบเมื่อมีการเจรจา
“ภูมิธรรม เวชยชัย” รักษาการนายกรัฐมนตรี รับรู้ข้อมูลการรายงานสถานการณ์อย่างละเอีอด แต่ที่สำคัญคือต้องเป็นคนอนุมัติการนำเครื่องบินรบขึ้นปฏิบัติการต่อพื้นที่เป้าหมายทุกครั้งด้วยตัวเอง ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลรับรู้การยกระดับการใช้กำลังตามกฎหมาย
แม้จะเป็นคนในรัฐบาล แต่ก็มีความเสี่ยงในเรื่องของข้อมูลทางยุทธวิธี ซึ่งทางทหารให้ความสำคัญมาก
แต่หากความสัมพันธ์ระหว่างสองตระกูลแตกเป็นเสี่ยงจริง ก็จะใช้จังหวะตรงนี้ ลอยตัว ปล่อยให้ทหารแก้ปมปัญหา สร้างทางลงให้กับฝ่ายการเมือง โดยอ้างว่าไม่สามารถใช้ความสัมพันธ์พูดคุยเป็นการส่วนตัวได้
“ชาติมหาอำนาจอย่างจีนได้ร้องขอ ซึ่งการร้องขอมาจากทางฝ่ายตรงข้ามเรามากกว่า มาคุยกับเรา แต่เราคิดว่าอะไรควรหรือไม่ควร ก็ไปตกลงกันที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ไม่ใช่ผม เพราะผมไม่ใช่ผู้ที่ไปล็อบบี้การเจรจาหยุดยิงเพื่อสันติภาพ วันนี้จะทำอะไรต้องถามยุทธการทหารก่อน เพราะต้องไปประชุมกันที่ สมช. ว่ายุทธการทหารจะเป็นอย่างไร และรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศควรเข้ามาตอนไหน เราไม่ได้เข้าซี้ซั้ว เราต้องเข้ามาในจังหวะที่เหมาะสม” ทักษิณ ชินวัตร ระบุ
ในส่วนของกองทัพ ถือเป็นหน้าที่อยู่แล้วในการปกป้องอธิปไตยอย่างชอบธรรม ภายใต้สถานการณ์ที่ฝ่ายตรงข้ามแสดงเจตนารมณ์ในการคุกคาม และใช้สงครามผสมผสานในการสู้รบ ทั้งแนวรุกขององค์กรนานาชาติ สื่อสังคมออนไลน์ รวมไปถึงการกางกฎ กติกา กฎบัตร ในการนำมาใช้ทุกก้าวย่าง
ซึ่งฝ่ายกองทัพให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และเตรียมการเพื่อตอบโต้ในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้ชนะในสงคราม แต่แพ้ในเวทีโลก โดยกองบัญชาการทหารสูงสุดและเหล่าทัพทำงานประสานสอดคล้อง แบ่งบทบาทกันเล่น เดินไปตามแผนจักรพงษ์ภูวนาถที่เขียนไว้ โดยปรับเปลี่ยนตามสภาวะแวดล้อม และภัยคุกคามที่เปลี่ยนไปทุกปี
จุดสำคัญในการใช้กำลังทางอากาศ โดยเครื่องบิน F-16 และ Gripen เครื่องบินในเจเนอเรชัน 4.5 ในการทิ้งระเบิดเป้าหมายทางทหาร หลักการคือ Surprise-Shock and awe เพื่อต้องการปิดเกมให้เร็วที่สุด แต่ต้องเป็นไปตามความจำเป็นและได้สัดส่วน
ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ในการใช้กำลังทหารอากาศนำระเบิดไปทิ้งในสมรภูมิสู้รบและในดินแดนของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในกรณีเหตุการณ์ “ร่มเกล้า” ไทยจะมุ่งเน้นไปที่ยุทธบริเวณตรงนั้น ไม่มีการขยายขอบเขต เป็นการจำกัดพื้นที่ ส่วนเหตุการณ์เมื่อปี 2554 ส่วนใหญ่เป็นการต่อสู้ โจมตีด้วยการยิงปืนใหญ่ ใช้กำลังทหารราบเข้าตี แต่ไม่ใช้อากาศยานทิ้งระเบิด เพียงแต่นำ F-16 มาทำโซนิกบูม แสดงแสนยานุภาพเหนือดินแดนไทย
การปิดฉากการรบให้เร็วที่สุดนั้น ก็ด้วยเงื่อนไขที่สำคัญคือ 1.หากเกมยาวจะมีชาติมหาอำนาจหรือนานาชาติเข้ามาบอกว่าหยุดยิง ในสถานการณ์ที่ไทยยังไม่ได้เปรียบ 2.ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เศรษฐกิจไม่ดี สงครามยืดเยื้อไม่เป็นผลดี
นอกจากนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันคือ โดดเดี่ยวคู่สงคราม และ แสวงหาพันธมิตร โดยจะต้องมีข้อมูลและหลักฐานว่าการปฏิบัติการทางทหารของไทยมีความชอบธรรม โดยปฏิบัติตามกฎกติกาสากล เพื่อไปยืนยันในเวทีโลก
ป้องกันไม่มีประเทศใดมาเติมของให้ “กัมพูชา” การสู้รบก็จะจบด้วยการยึดพื้นที่ซึ่งทหารกัมพูชารุกล้ำเข้าหลายจุด ละลายยุทโธปกรณ์และกำลังทหารที่มาประชิดให้ล่าถอยกลับที่ตั้ง ไม่ให้มาแว้งกัดเราได้ในห้วงเวลาหนึ่งทศวรรษ
ในขณะที่กองทัพไทยเองก็ต้องกลับมาเสริมสร้างศักยภาพด้านกำลังรบให้เต็มขีดความสามารถ มุ่งเน้นไปที่การพึ่งพายุทโธปกรณ์จากการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเราเป็นหลัก
ที่สำคัญคือ การเข้าสู่กระบวนการเจรจาที่ฝ่ายไทยต้องได้เปรียบ ซึ่งเป็นเรื่องในระดับรัฐบาลต้องดำเนินการ โดยยึดผลประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้ง พร้อมสำนึกว่าชีวิตของประชาชนและทหารตามแนวชายแดนที่เสียสละครั้งนี้ ไม่เสียเปล่า ไม่ใช่ให้กัมพูชากลับมาใช้ไทยเป็นเหยื่อในการปลุกกระแสชาตินิยมในประเทศของตัวเองอย่างไม่มีเหตุผล
พร้อมกดดันให้กัมพูชากลับมาสู่การเจรจาในระดับทวิภาคี ผลักดันการแก้ไขเอ็มโอยู 43 และเอ็มโอยู 44 และให้ยอมรับข้อเท็จจริงตามแผนที่ 1:50,000 ซึ่งเป็นแผนที่ที่ทั่วโลกยอมรับ เพราะในสนธิสัญญายึดหลักสันปันน้ำอยู่แล้ว และเส้นแบริ่ง 211 เขตแดนทางทะเลด้วย พร้อมเดินหน้าพัฒนาพื้นที่โบราณสถานร่วมกัน เพื่อประโยชน์ในการท่องเที่ยวของทั้งสองชาติ
“เหตุของการปฏิบัติการทางทหารต่อกันในครั้งนี้ มีเหตุมาจากผู้นำฝ่ายกัมพูชา อาจต้องให้ระดับฝ่ายบริหารของกัมพูชาและไทยได้เจรจากันร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการหาแนวทางสันติวิธี เริ่มจากการแก้ที่ต้นเหตุทั้งทางตรงและทางอ้อม มั่นใจว่าประชาชนทั้งสองประเทศไม่มีเหตุผลที่จะต้องมาขัดแย้งกัน หรือสมควรต้องมาได้รับผลกระทบใดๆ จากเหตุการณ์โดยไม่จำเป็น” พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ระบุ
มีคำถามตามมาว่า รัฐบาลที่ง่อนแง่นมีความพร้อมแค่ไหนในการผลักดันให้ประเทศไทยได้รับรางวัลจากสงครามที่เกิดขึ้น โดยไม่ปล่อยให้ความสูญเสียของทหารและประชาชนตามแนวชายแดนเป็นความสูญเปล่า.