‘อิทธิพร’ตอกยํ้า เมินเร่งคดีฮั้วสว. ถึงคิวแสวงเคาะ
“ภูมิธรรม” ไม่กังวลศาลรัฐธรรมนูญให้เพิ่มพยานคดีฮั้ว สว. บอกไม่ได้ทำอะไรผิด งงข้อกล่าวหาอยู่ตรงไหน แค่เป็นประธานประชุม “อิทธิพร” ชี้คดีฮั้วอยู่ในขั้นเลขาธิการ กกต.ให้ความเห็นแล้ว ย้ำไม่เร่งพิจารณา ทำงานตามขั้นตอน
เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมภายใน 15 วัน คดียื่นตรวจสอบแทรกแซงคดีฮั้ว สว.ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ไม่มีปัญหา ได้ให้ฝ่ายกฎหมายดูแลและไม่น่ามีหลักฐานอะไรมาก เรื่องที่เกี่ยวข้องมีเพียงการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดีเอสไอ รวมทั้งไม่ได้เตรียมใครเป็นพยานเพิ่มเติม แต่ให้ฝ่ายกฎหมายดูตามความเป็นจริง
“ผมยังไม่รู้เลยว่าข้อกล่าวหาผมมันอยู่ที่ตรงไหน เรื่องคดีฮั้ว สว. ผมก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร เป็นเรื่อง สว.และดีเอสไอดำเนินการ"
เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่ถูกกล่าวหา เพราะมีสิทธิ์กำกับดูแลในฐานะรองนายกฯ คุมกระทรวงยุติธรรมและดีเอสไอ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่มองว่าไปตามกฎหมาย ที่ปรึกษากฎหมายของตนก็ชี้แจงไปตามข้อเท็จจริงเท่านั้น ให้เป็นดุลยพินิจของศาลจะพิจารณา ห่วงกังวลอะไร ไม่ห่วงทั้งนั้น เพราะไม่ได้ทำอะไร ก็เป็นการทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการดีเอสไอ
ส่วนที่คณะอนุกรรมการ กกต.ชุดที่ 26 จะส่งมติให้ กกต.ชุดใหญ่พิจารณา จะส่งผลต่อสถานการณ์การเมืองอย่างไรในขณะนี้ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ทราบ กกต.ก็ว่ากันไป มันอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ขออนุญาตไม่คุยเรื่องนี้อีกแล้ว เพราะไม่อยากให้มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและข้าราชการ
ด้านนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าคดีฮั้วเลือก สว.ว่า คณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ชุดที่ 26 ทำสำนวนเสร็จแล้ว และส่งเรื่องไปยังสำนักงาน กกต.เพื่อพิจารณา วิเคราะห์ศึกษาความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน และให้เลขาธิการ กกต.แสดงความเห็น ซึ่งเมื่อเลขาธิการมีความเห็นแล้ว ก็จะเสนอไปยังให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ซึ่งมีหลายคณะ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะเป็นผู้ศึกษาวิเคราะห์ช่วย กกต. ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ซึ่งผลการสืบสวนไต่สวนของคณะต่างๆ จะถือว่าเป็นความลับ และเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ในส่วนของขั้นตอนเลขาธิการ กกต. จะใช้เวลา 60 วัน และเมื่อเข้าสู่คณะอนุกรรมการวินิจฉัยปัญหาและข้อโต้แย้ง ก็จะมีเวลาไม่เกิน 90 วัน หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ก็ไม่เกิน 90 วันเช่นกัน
ส่วนกระแสข่าวที่มีผู้ที่อาจจะถูกดำเนินคดีมากถึง 229 คนนั้น นายอิทธิพรกล่าวว่า ปกติจะให้สำนวนขึ้นมาตามลำดับ ไม่ไปล้วงข้อมูลรายละเอียด ซึ่งที่เป็นข่าวก็มีจำนวนไม่น้อย รวมทั้งไม่มีนโยบายในการวินิจฉัย เป็นการพิจารณาตามขั้นตอน ไม่สามารถแทรกแซงอะไรได้ทั้งสิ้น
ถามย้ำว่า จำเป็นต้องตั้งคณะอนุฯ วินิจฉัยพิเศษขึ้นมาหรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยทำเช่นนั้น เพราะไม่ได้เป็นไปตามระเบียบ และต้องมีเหตุผลสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตอนนี้ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะทำแบบนี้ นอกจากจะทำตามระเบียบ
ส่วนกรณีที่พรรคภูมิใจไทยมองว่าข้อกล่าวหาของหลายคนเหมือนกัน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมนั้น นายอิทธิพรกล่าวว่า เป็นความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อมอบหมายให้คณะกรรมการสืบสวนไต่สวนไปแล้ว ที่เหลือก็เป็นไปตามขั้นตอน ไม่ได้มีข้อยกเว้นอะไร ซึ่งความเห็นในระดับต่างๆ ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันได้อยู่แล้ว โดยกระบวนการก็ทำต่อไปไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร
เมื่อถามว่า มีการมองว่าเรื่องนี้ถูกเร่งดำเนินการเพราะพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ออกจากพรรคร่วมรัฐบาลแล้วนั้น นายอิทธิพรกล่าวว่า กกต.ปฏิบัติหน้าที่ตามกระบวนการ ไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันอะไรทั้งสิ้น ส่วนที่พรรค ภท.ฟ้องร้องคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนชุดที่ 26 นั้น ก็พิจารณาเหมือนทุกครั้ง ดูรายละเอียด และความเห็นจากคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน และความเห็นจากเลขาธิการ กกต.ที่ส่งขึ้นมา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเอกฉันท์ เมื่อมาถึงที่ประชุมก็จะมีการถกกัน บนพื้นฐานของความเห็นและสำนวน และขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยเรื่องนี้อย่างไร บางครั้งก็ออกมาเป็นฉันทามติเอกฉันท์ หรือ 3:3, 4:2, 5:1 ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละคน.