“รมว.อรรถกร” แจง กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าลดต้นทุนอาหารสัตว์ เน้นใช้วัตถุดิบท้องถิ่นแทนการนำเข้า พร้อมยืนกราน จุดยืนปกป้องเกษตรกรไทย
“รมว.อรรถกร” แจง กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าลดต้นทุนอาหารสัตว์ เน้นใช้วัตถุดิบท้องถิ่นแทนการนำเข้า พร้อมยืนกราน จุดยืนปกป้องเกษตรกรไทย
(17 ก.ค.68) นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังถูกตั้งกระทู้ถามถึงต้นทุนอาหารเลี้ยงสัตว์มีราคาสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงมีความยากลำบาก ไม่สามารถลดต้นทุนใด ๆ ได้ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งเน้นในการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร โดยเชื่อมั่นว่าการลดต้นทุนจะช่วยเพิ่มรายได้และเหลือเงินในกระเป๋าของเกษตรกรมากขึ้น โดยอาหารสัตว์ในประเทศไทยหลัก ๆ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ อาหารข้น เช่น อาหารเม็ดและอาหารผง ซึ่งผลิตโดยภาคเอกชนเพื่อความสะดวกและประสิทธิภาพ และอาหารหยาบ เช่น หญ้าสด หญ้าแห้ง หรือกากผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด ซึ่งส่วนผสมจะแตกต่างกันไปตามวัตถุดิบที่มีในแต่ละพื้นที่
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลดต้นทุนให้แก่เกษตรกรทุกสาขา ทั้งชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ชาวปศุสัตว์ และชาวประมง โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินโครงการ 'หน่วยให้บริการจัดการอาหารสัตว์เคลื่อนที่' ซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำและบริการด้านสัดส่วนอาหารสัตว์ที่เหมาะสมถึงหน้าฟาร์ม โดยเน้นการใช้วัสดุเหลือใช้ในพื้นที่เป็นหลัก สิ่งเหล่านี้พิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยเรื่องลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายอรรถกร กล่าว
นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ศูนย์บริการอาหารสัตว์ของกรมปศุสัตว์เปิดให้เกษตรกรสามารถนำวัตถุดิบมาใช้เครื่องจักรของศูนย์เพื่อผลิตอาหารสัตว์ได้ โดยบริการนี้ครอบคลุมเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ และวิสาหกิจ แม้จะยอมรับว่าบางพื้นที่อาจต้องปรับปรุงการให้บริการ
ภาคปศุสัตว์ยังคงพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบบางประเภท ซึ่งเป็นภารกิจหลักในการลดการนำเข้าและเน้นการปลูกพืชอาหารสัตว์ในประเทศ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะพยายามเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ รมว.เกษตรฯ ยังกล่าวถึงทีมเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ของประเทศไทย ที่เงื่อนไขบางข้ออาจจะกระทบกับเกษตรกร ว่า กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญสูงสุดต่อความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรในทุกมิติ เราจะไม่ยอมให้พี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู วัว ปลา ไก่ หรือพืชบางชนิด ต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเราให้ความร่วมมือกับทีมเจรจาน้อยก็ตาม นี่คือจุดยืนที่กระทรวงเกษตรฯ ยึดมั่นในการทำงาน และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทีมเจรจาของไทยจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และปกป้องอธิปไตยของประเทศได้