อนุสรณ์ชี้ไทยลดภาษีนำเข้า 0% สินค้าสหรัฐทะลักกระทบผู้ผลิตแรง
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การลดภาษีนำเข้า 0% สินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกา และ เปิดตลาดให้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ อาจทำให้มีการลดกำแพงภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯลงมาในระดับใกล้เคียงกับประเทศอาเซียน อย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ได้ ทำให้ลดความรุนแรงของภาษีตอบโต้ทางการค้าที่ระดับ 36% ต่อภาคส่งออกไทย ผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยจะลดลงมาได้ไม่ต่ำกว่า 9-10 เท่า
กลุ่มสินค้าที่พึ่งพิงตลาดสหรัฐฯในสัดส่วนสูงคิดเป็น 13-14% ของจีดีพีไทย หากไทยไม่ได้ลดภาษีจากระดับ 36% เลยจะทำให้มูลค่าส่งออกไทยสูญเสียหลายแสนล้านบาทในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม การเปิดตลาดให้สหรัฐฯด้วยการลดภาษีนำเข้า 0% เพื่อแลกกับการลดภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯอาจจะสร้างปัญหาอีกด้านหนึ่ง มีผลกระทบต่อภาคการผลิตภายในที่ปรับตัวไม่ได้แข่งขันไม่ได้และผลต่อตลาดแรงงานและปัญหาอาจใหญ่กว่าหากไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบให้ดี หวั่นสินค้าสหรัฐฯทะลักเฉพาะสินค้าเกษตรสหรัฐฯอาจเพิ่มกว่า 100% กระทบผู้ผลิตภายในรุนแรง ภาวะดังกล่าวจะซ้ำเติมสถานการณ์ที่ผู้ผลิตภายในต้องเผชิญสินค้าทุ่มตลาดจากจีนอยู่แล้ว
ส่วนผลกระทบของภาษีทรัมป์ต่อตลาดแรงงานไทยโดยภาพรวมยังไม่รุนแรง และยังคงอยู่ในขอบเขตจำกัด โอกาสเกิดวิกฤติการจ้างงานเกิดขึ้นในเพียง 4 สาขา คือ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กิจการก่อสร้างและกิจการที่พักแรม กิจการบริการอาหาร
จากข้อมูลการเตือนภัยด้านแรงงาน ของกระทรวงแรงงาน พบว่า การประมาณการโอกาสเกิดวิกฤตการจ้างงานในระยะเวลา 4 ไตรมาสข้างหน้า อยู่ที่ 25.51% ขณะที่การว่างงานของผู้ที่เคยเป็นลูกจ้างเอกชนอยู่ในเหตุการณ์ปกติ 84.09% และมีโอกาสเกิดวิกฤติการว่างงาน 5.35%
ทั้งนี้ ข้อมูลสถานการณ์การจ้างงานของกระทรวงแรงงานในไตรมาสแรก มีจำนวนผู้มีงานทำ 39.38 ล้านคน คิดเป็นลูกจ้างเอกชน 16.08 ล้านคน อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.9% มีจำนวนผู้ว่างงาน 357,731 คน
อย่างไรก็ดี การชะลอตัวลงของภาคส่งออก ภาคการผลิต ภาคการลงทุน จะทำให้อัตราการว่างงานโดยรวมในช่วงที่เหลือของปีเพิ่มขึ้น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อส่งเสริมการจ้างงานช่วยบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่ง
ข้อมูลระบบเตือนภัยด้านแรงงานของกระทรวงแรงงานบ่งชี้และคาดการณ์ว่า การว่างงานและเลิกจ้างช่วงเดือน มิ.ย. - ส.ค. ปีนี้เพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติยังไม่วิกฤติ ว่างงานเพิ่มขึ้นไม่เกิน 50,000 คนและเลิกจ้างมิ.ย.-ส.ค. ไม่เกิน 20,000 คน โดยการว่างงานเดือน มิ.ย. ก.ค. และ ส.ค. 2568 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 11,622 คน (+5.04%) 12,423 คน (+5.27%) และ 22,598 (+9.80%) จากเดือนเดียวกันเมื่อปีก่อนตามลำดับ และ การเลิกจ้างเดือน มิ.ย. ก.ค. และ ส.ค. 2568 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5,926 คน (+23.55%) 5,996 คน (+15.38%)
และ 5,438 คน (20.72%) จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์ของรายงานเตือนภัยด้านแรงงานจะเห็นว่า แม้การว่างงานและเลิกจ้างยังไม่รุนแรงถึงขั้นวิกฤติ แต่ตัวเลขว่างงานและเลิกจ้างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญ ซึ่งมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบดังกล่าว และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรักษาระดับการจ้างงาน ในส่วนของการดูแลสิทธิประโยชน์ผู้ว่างงานนั้น ล่าสุด ทางสำนักงานประกันสังคมได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์การว่างงานให้กับผู้ประกันตน ส่วนแรงงานอิสระและรับจ้างทั่วไปที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมอาจได้รับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เพราะไม่มีสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ ซึ่งรัฐควรมีโครงการหรือมาตรการดูแลเพิ่มเติม
การเร่งพัฒนาทักษะแรงงาน ดึงดูดการลงทุนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ จากรายงาน OECD, ADB และ BOI รวบรวมโดยศูนย์วิจัย DEIIT ได้ชี้ถึงข้อจำกัดของระบบแรงงานไทย ดังนี้
- ทักษะไม่ตรงความต้องการตลาด โดยผู้ประกอบการกว่า 52% ระบุว่าแรงงานไทยยังขาดทักษะที่จำเป็น ทำให้ขาดทักษะดิจิทัล การคิดวิเคราะห์ และการสื่อสารเชิงวิชาชีพ
- ระบบการฝึกอบรมยังไม่ทันสมัย อัตราการฝึกอบรมผู้ใหญ่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียน มีแรงงานเพียง 10% ที่มีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง (OECD, 2025) หลักสูตรไม่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve
- ขาดการรับรองทักษะในระดับสากล แรงงานมีใบรับรองมาตรฐานสากลเพียง 6% (BOI, 2024) ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าทำงานกับบริษัทต่างชาติที่ตั้งฐานในไทยได้อย่างเต็มที่
- ไม่มีระบบคาดการณ์ทักษะแรงงานล่วงหน้า ไทยยังไม่มีระบบ Skills Forecasting หรือLabor Market Intelligence ที่เข้มแข็ง (OECD, 2025) ทำให้การส่งเสริมทักษะแรงงานในเชิงรุกทำได้ยาก
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีข้อเสนอเชิงนโยบายพัฒนาระบบทักษะแรงงานเพื่อดึงดูดการลงทุน ดังนี้