“ผอ.สำนักพุทธฯ” บอกใช้วิกฤตเป็นโอกาส แย้ม ร่างกฎหมายอวดอุตริ-สักยันต์-รดน้ำมนต์มีโทษด้วย
วันที่ 15 ก.ค.2568 เวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พร้อมด้วยนายบุญเชิด กิตติธรางกูร รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เดินทางมาที่อาคารรัฐสภา โดยได้ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับระเบียบให้วัดถือเงินสดไม่เกิน 1 แสนบาท
โดยนายอินทพร กล่าวว่า เรามีกฎระทรวงออกมาเมื่อปี 2564 ว่าวัดต้องจัดทำบัญชีรับจ่ายตามแบบฟอร์มที่สำนักงานพระพุทศาสนาแห่งชาติกำหนด รวมถึงต้องเปิดบัญชีธนาคารเป็นชื่อของวัด โดยมีผู้มีอำนาจเบิกจ่าย 2 ใน 3
นอกจากนี้จะต้องถือเงินสดไม่เกิน 1 แสนบาท เกินจากนั้นให้ฝากธนาคาร เราดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 แต่กฎกระทรวงฉบับนี้ไม่มีมาตรการบังคับว่าหากไม่ปฏิบัติแล้วจะทำอย่างไร จึงเกิดมติมาเถรสมาคม ตามที่นายสุชาติ ตันเจริญ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงไป ซึ่งมหาเถรสมาคม ได้ออกมติไปแล้วว่า หากวัดใดไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกไว้ จะต้องมีมาตรการลงโทษ
เมื่อถามว่าทำไมต้องตัดเงินน้อยๆ ไม่เกิน 1 แสนบาทนั้น นายอินทพร กล่าวว่า เนื่องจากบางวัดรับบริจาคเป็นเงินสด ถ้าเก็บเงินไว้มาก อาจจะเป็นช่องทางสุ่มเสี่ยง ดังนั้น ต้องฝากเงินทุกวัน ซึ่งตนเพิ่งไปตรวจสอบระบบ E-Donation หรือเงินบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้ทำไว้กับกรมสรรพากร เราได้แจ้งวัดให้ประสานผ่านกรมสรรพากรไปแล้ว ซึ่งประเทศไทยมี 4 หมื่น 4 พันวัด แต่มีวัดที่เข้าระบบแล้ว 86 เปอร์เซ็น ผู้บริจาคผ่านคิวอาร์โค้ดจะสามารถโอนเงินเข้าบัญชีของวัดได้โดยตรง สามารถลดหย่อนภาษีได้ โดยไม่ต้องใช้ใบอนุโมทนาบัติ ตนอยากให้ทุกคนใช้คิวอาร์โค้ดในการทำบุญ ส่วนการบริจาคด้วยเงินสดเรากำลังหามาตรการตรวจสอบ
“กฎกระทรวงไม่ได้บอกว่าถ้าไม่ทำแล้วจะต้องเกิดอะไรขึ้น เราจึงต้องใช้อำนาจการปกครองของคณะสงฆ์ คือออกเป็นมติของเถรสมาคม เพื่อบอกให้วัดรู้ว่ากฎกระทรวงฉบับนี้จัดการทรัพย์สินของวัด หากไม่ปฏิบัติตามจะมีผลในการตรวจสอบ ลงโทษ เหมือนกับวินัยข้าราชการ” นายอินทพร กล่าว
เมื่อถามว่า มาตรการที่ออกมาจะช่วยได้จริงหรือไม่ เพราะการปฏิบัติจริงยังมีความหละหลวมอยู่ นายอินทพร กล่าวว่า ครั้งนี้เป้นการใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส เพราะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งวันพรุ่งนี้ (16 ก.ค.) นายสุชาติ จะไปมอบนโยบายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาทั่วประเทศ จึงเป็นโอกาสในการทำงานเชิงรุกมากขึ้นกับวัดที่มีรายได้สุ่มเสี่ยง ส่งผลกระทบต่อความไม่โปร่งใส หรือวัดที่ขัดหลักธรรมาภิบาล ไม่สามารถตรวจสอบได้
เมื่อถามว่าจะมีมาตรการเรียกความศรัทธาให้ประชาชนกลับมาได้อย่างไร นายอินทพร กล่าวว่า ต้องเรียนตามตรงว่าพระจริงๆ เรามี 3 แสนรูป เราไม่อยากจะแก้ตัวว่าเป็นเรื่องของบุคคล คนใดทำกรรมไว้ก็รับผลกรรมของตัวเองไป แต่กรรมนั้นส่งผลกระทบต่อภาพรวม เราอยากกราบเรียนประชาชนว่าพระดีๆยังมีอีกเยอะ ถ้าเห็นสิ่งใดไม่ชอบมาพากล คงต้องช่วยกันตรวจสอบ เพราะวัดอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว ตนคิดว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาทั่วประเทศ จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้แล้ว
เมื่อถามว่า ร่างกฎหมายห้ามพระเสพเมถุนดำเนินการไปถึงไหนแล้ว นายอินทพร กล่าวว่า ได้ส่งไปให้หลายส่วนที่เกี่ยวข้องแสดงความเห็น พบว่ามีความเห็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะบทกำหนดโทษไม่ว่าจะเป็นพระ สีกา หรือผู้ชายก็ดี ที่มีการเสพเมถุนกัน ยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่ได้มีการเสพเมถุนอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ทำให้คณะสงฆ์ได้รับความเสื่อมเสีย การอวดอุตตริ การสัก การรดน้ำมนต์ ก็อยู่ในบทลงโทษด้วย บางโทษมีผู้แสดงความเห็นว่าสูงเกินไป
นายอินทพร กล่าวว่า การประชุมเมื่อวันที่13 ก.ค. ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการประชุมเร่งด่วน ที่ให้เจ้าคณะภาคต้องรับเรื่อง จามที่พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ว่าพระที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ หรือยังไม่ลาสิกขาได้ ให้มารายงานตัวชี้แจง วันนี้มี 1 รูป ทางเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรยืนยันว่าลาสิกขาไปแล้ว ส่วนในเรื่องพระธรรมวินัย ก็ได้ถือว่าสิ้นสุดไปแล้ว แต่หากพบว่ามีเส้นทางการเงินที่ไปเกี่ยวข้องกับวัดหรือนำเงินวัดไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เอาเงินวัดไปใช้เงินส่วนตัว ก็ถือว่าตอนนั้นยังเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ
เมื่อถามว่ายังมีพระอีกหลายรูปหรือไม่ที่อยู่ในกระบวนการสอบสวน นายอินทพร กล่าวว่า เท่าที่ทราบมี 11 รูป ที่ได้ข้อมูลมาและเราได้กำชับให้มหาเถรสมาคมดำเนินการ