"สภาทนายความ" ถูกตั้งคำถามปมจ่ายเงินให้บริษัทร้าง–ไม่มีคำอธิบายชัดเจน
"สภาทนายความ" ถูกตั้งคำถามปมจ่ายเงินให้บริษัทร้าง–ไม่มีคำอธิบายชัดเจน “ดร.ธนพล คงเจี้ยง” ชี้เป็นวิกฤตศรัทธา จี้หยุดวัฒนธรรม ‘กลบปัญหาด้วยความเงียบ’ ก่อนสภาทนายจะไร้ที่ยืนในใจทนายทั้งประเทศ
จากกรณีที่ปรากฏข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่ถูกระบุว่าเป็น “บริษัทร้าง” ในทะเบียนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ล่าสุด ดร.ธนพล คงเจี้ยง นายกสมาคมนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และผู้สมัครนายกสภาทนายความ หมายเลข 4 ได้ออกมาแสดงความเห็นผ่านบทความแสดงจุดยืนที่สะท้อนความกังวลของสมาชิกในวิชาชีพ พร้อมตั้งคำถามสำคัญต่อผู้บริหารองค์กรแห่งนี้
ตามข้อมูลที่เปิดเผยระบุว่า บริษัท ทำดีจริง จำกัด ได้ยื่นใบเสนอราคาต่อสภาทนายความเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 แต่เพียง 7 วันถัดมา คือวันที่ 20 ธันวาคม 2567 บริษัทดังกล่าวกลับถูกขึ้นสถานะเป็น “ร้าง” โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งในทางกฎหมายหมายถึงการสิ้นสภาพทางธุรกิจ ไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ และไม่อาจทำสัญญากับหน่วยงานใดได้อย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทจะถูกระบุสถานะเช่นนั้นไปแล้ว แต่ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของสภาทนายความยังคงมีการทำหนังสือขออนุมัติจ่ายเงิน พร้อมระบุยอดเงินรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งนำไปสู่คำถามสำคัญว่า ภาษีที่ปรากฏนั้นมีแหล่งอ้างอิงใด และจะสามารถนำส่งให้กับรัฐได้อย่างถูกต้องหรือไม่ หากไม่มีใบกำกับภาษีที่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ถูกตั้งคำถามอย่างรุนแรง คือการโอนเงินจากสภาทนายความไปยังบัญชีของบุคคลธรรมดา แทนที่จะเป็นบัญชีธนาคารของบริษัทผู้รับจ้าง ทั้งที่ในหลักการบัญชีและกฎหมายการคลังระบุชัดว่าหน่วยงานจะต้องดำเนินการจ่ายเงินให้กับนิติบุคคลตามช่องทางที่ตรวจสอบได้
ดร.ธนพล ยังเปิดเผยด้วยว่า ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ยังพบใบเสนอราคาหมวกล็อตใหม่ มูลค่าเกือบ 9 ล้านบาท ซึ่งไม่มีการชี้แจงรายละเอียดต่อสมาชิกทนายความ ไม่มีการเปิดเผยขั้นตอนการจัดซื้อ และไม่มีการตอบคำถามจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
“องค์กรวิชาชีพอย่างสภาทนายความควรเป็นต้นแบบของความโปร่งใส หากยังคงมีวัฒนธรรมการกลบปัญหาด้วยความเงียบ และไม่มีใครกล้ายอมรับความผิดพลาด วันหนึ่งกองเอกสารที่ซ่อนปัญหาไว้ จะกลายเป็นกองขยะที่สมาชิกทั้งประเทศไม่อาจทนกลิ่นเหม็นได้อีกต่อไป” ดร.ธนพล กล่าวในตอนหนึ่งของบทความ
ทั้งนี้ เขายังระบุว่า การเลือกตั้งนายกสภาทนายความครั้งใหม่นี้ ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนตัวบุคคลในตำแหน่งผู้บริหารเท่านั้น แต่เป็นการชี้ชะตาขององค์กรวิชาชีพว่า จะเดินไปบนเส้นทางของความน่าเชื่อถือ หรือจะปล่อยให้กลายเป็นเวทีของการบริหารที่ขาดวินัย ไร้ธรรมาภิบาล และไม่มีหัวใจของความรับผิดชอบ