เปิดรายชื่อวิชาที่มส.อนุญาตให้ ‘พระภิกษุสามเณร’ เรียนได้ เพื่อสืบทอดพุทธศาสนา
ตามที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงลงพระนามในประกาศมหาเถรสมาคม เรื่อง นโยบายด้านการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร โดยที่สมควรกำหนดนโยบายด้านการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร เพื่ออุปถัมภ์และอำนวยประโยชน์ต่อการสืบทอดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ตรี แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ในการประชุม ครั้งที่ 12/2568 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2568 นั้น
ในข้อ 4. ของประกาศดังกล่าว ได้มีการระบุว่า ให้ขยายโอกาสให้พระภิกษุ สามเณร สามารถศึกษาเล่าเรียนได้ในสาขาวิชาต่างๆ ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย มีตัวอย่างแขนงสาขาวิชา เช่น
1.วิชาที่เป็นประโยชน์ต่อการธำรงรักษาพระธรรมวินัยและการศึกษาพระพุทธศาสนา เช่น ภาษาบาลี พุทธศาสตร์ พระไตรปิฎกศึกษา และภาษาสันสกฤต วิชาเหล่านี้ มหาเถรสมาคมสนับสนุนให้พระภิกษุ สามเณร ศึกษาเล่าเรียนเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นประโยชน์ยิ่งในพระพุทธศาสนา
2.วิชาที่เอื้อประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่น ภาษาต่างประเทศทุกภาษา ปรัชญา ศาสนาเปรียบเทียบ ภาษาศาสตร์ การสื่อสารมวลชน สังคมสงเคราะห์ ศึกษาศาสตร์เทคโนโลยีทางการศึกษา
3.วิชาที่เอื้อประโยชน์ต่อการบริหารคณะสงฆ์ เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาการจัดการ สถิติ การบัญชี รัฐประศาสนศาสตร์
4.วิชาที่สามารถบูรณาการเพื่อพัฒนามวลความรู้สำหรับการสร้างสรรค์ คุณประโยชน์ต่อการพระศาสนาและสังคม เช่น ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ โบราณคดี สังคมวิทยา จิตวิทยา สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์
อนึ่ง วิชาเหล่านี้ไม่ขัดต่อคำสั่งมหาเถรสมาคมที่ 1/2564 เรื่อง กรณีพระภิกษุ สามเณร เรียนวิชาหรือสอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์ พ.ศ. 2564 แต่อย่างใด และการเล่าเรียนวิชาการตามข้อนี้ ไม่เป็นข้อยกเว้นการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ และประกาศของคณะสงฆ์ หรือการครองจริยาตามสมณสารูป อีกทั้งพระภิกษุสามเณรที่ศึกษาเรียนวิชาต่างๆ พึงสังวรระวังพิจารณาความเหมาะสมในการประพฤติปฏิบัติตนอยู่เสมอ