นับถอยหลัง 80 วัน ปรับค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่ เริ่มตุลาคม 2568
นับถอยหลัง 80 วัน ปรับค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่ เริ่มตุลาคม 2568 ชวนคนกรุงแยกขยะก่อนทิ้ง รับสิทธิ์ลดค่าธรรมเนียมผ่านแอป BKK WASTE PAY ช่วยลดขยะ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้
วันนี้ (14 ก.ค. 68) เวลา 10.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร และ นายเมธา เสนทอง ผู้ประสานงานภาคีมือวิเศษกรุงเทพ เครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand ร่วมแถลงข่าว “โครงการบ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม” นับถอยหลัง 80 วัน จัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะใหม่ ซึ่งจะเริ่มเดือนตุลาคม 2568 นี้ ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร
กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ตราข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูล และมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2568 เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการร่วมลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดหรือต้นทาง สอดคล้องกับสภาวการณ์และค่าใช้จ่ายปัจจุบัน โดยข้อบัญญัติฉบับดังกล่าว ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 มีผลบังคับใช้หลังประกาศ 180 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กันยายน 2568 โดยจะเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่ จากเดิม 20 บาทต่อเดือน เป็น 60 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2568 เป็นต้นไป
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานครที่มีการแยกขยะตามกฎหมาย หลักการง่าย ๆ คือ การแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้ง ถ้าครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการมีขยะไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อวัน จะเสียค่าจัดเก็บขยะ 20 บาทต่อเดือนเท่าเดิม แต่ถ้าไม่เข้าร่วมโครงการจะเสีย 60 บาท เพียงแค่แยกขยะแล้วใส่ถุงแยกไว้ก็จะมีคนมาเก็บไป ส่วนขยะที่เหลือหากเป็นขยะรีไซเคิลสามารถนำไปขายหรือบริจาคได้เพราะเปลี่ยนเป็นเงินได้ อยากให้มีการลงทะเบียนเยอะ ๆ ขอให้ทุกคนช่วยกัน ขยะไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ ขยะเกิดจากพวกเรา ขยะทุกชิ้นมีเจ้าของ ช่วยกันแยกตั้งแต่ต้นทาง กทม. จะดำเนินการให้ดีขึ้น ที่ผ่านมา กทม. ใช้เงินในการจัดการขยะประมาณ 7,000 – 8,000 ล้านบาท ขยะบางอย่างมีมูลค่า ถ้ามารวมกันจะทำให้ไร้มูลค่า ขอยืนยันว่า กทม. จะแยกขยะตั้งแต่รถจัดเก็บไปจนถึงปลายทาง ไม่ลำบากมาก อาจต้องปรับพฤติกรรมนิดหน่อย เชื่อว่าถ้าร่วมมือกันจะทำให้เมืองดีขึ้นได้ ในส่วนภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการต่าง ๆ มีการปรับค่าธรรมเนียมขึ้นด้วย อัตราจะแตกต่างจากบ้านเรือน หากรายใหญ่มีการแยกขยะจะสามารถช่วยลดปริมาณขยะได้มาก และจ่ายค่าธรรมเนียมขยะน้อยลง อยากให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองทำเพื่อสังคม เพื่อโลก เป็นหัวใจสำคัญ ช่วงแรกในการดำเนินการจะมีการแจกถุงขยะ แจกสติกเกอร์ หากภาคีเครือข่ายมาร่วมกันมากขึ้น ทำให้สะดวกมากขึ้น ก็จะช่วยได้
“จะมีการประเมินผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันจะเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้นได้ เป็นผลกับสิ่งแวดล้อมกับโลก ตอนนี้ได้มีการลงพื้นที่ให้ความรู้กับประชาชน อยากให้ประชาชนลงทะเบียนร่วมโครงการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้อาศัยโรงเรียนในสังกัดที่มีนักเรียนอยู่ประมาณ 250,000 คน อสส. ศบส. และหน่วยงานต่าง ๆ ลงพื้นที่เพิ่มเติม รวมถึงมี Influencer มาช่วยด้วย ตอนนี้จะเห็นว่าเรื่องการแยกขยะเป็นกระแสที่กำลังมาแรงมาก ๆ เชื่อว่า 80 วันที่เหลือ กทม. มีความพร้อมทั้งการจัดเก็บขยะ และให้ความรู้กับประชาชน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย
กทม. กระตุ้นคนกรุงเทพฯ คัดแยกขยะก่อนทิ้ง ผ่านโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม แยกขยะลดค่าธรรมเนียม
ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร ใช้งบประมาณในการจัดการขยะกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อบริหารจัดการขยะ ที่ต้องกำจัดกว่า 10,000 ตัน/วัน การที่กรุงเทพมหานครได้ตราข้อบัญญัติฉบับนี้ โดยมีการปรับขึ้นอัตราค่าธรรมเนียมการจัดการขยะ จึงไม่ใช่เหตุผลเดียวในการแก้ปัญหาการจัดการขยะ แต่เพื่อใช้กลไกของค่าธรรมเนียมช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีการคัดแยกขยะอย่างน้อย 4 ประเภท ประกอบด้วย ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป ผ่านโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม” เพื่อลดปริมาณขยะเป้าหมาย 1,000 ตัน/วัน ซึ่งจะสามารถประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะของกรุงเทพมหานครได้วันละ 2 ล้านบาท นอกจากนี้ การแยกขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ขาย หรือบริจาคขยะ ก่อนส่งให้ กทม. นำไปกำจัด จะเป็นการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและเพิ่มรายได้หากนำไปขายด้วย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลประเภทของขยะพบว่ากว่า 50% ของขยะในกรุงเทพมหานคร คือ ขยะเศษอาหาร ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อน ส่งผลให้ขยะประเภทอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการจัดการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามประเภทของขยะนั้น ๆ ด้วย
ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมขยะทุกประเภท ส่งเสริมแยกขยะ ลดปริมาณจัดเก็บและค่าใช้จ่าย
การปรับค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2568 นี้ มีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมขยะทุกประเภททั้งมูลฝอยทั่วไป มูลฝอยติดเชื้อ สิ่งปฏิกูลและไขมัน
สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมการจัดการมูลฝอยทั่วไป แบ่งการจัดเก็บทั้งแบบรายเดือนและครั้งคราว โดยการจัดเก็บรายเดือน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 บ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หากไม่คัดแยกขยะจะจ่ายค่าธรรมเนียมรวม 60 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 30 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 30 บาท) หากคัดแยกขยะและลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ ที่กรุงเทพมหานครกำหนด จะจ่ายค่าธรรมเนียม เท่าเดิมที่เคยจ่าย คือ เดือนละ 20 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 10 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 10 บาท)
กลุ่มที่ 2 สถานที่ที่ผลิตมูลฝอยเกิน 20 ลิตร/วัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร อัตราค่าธรรมเนียม หน่วยละ 120 บาท/เดือน (1 หน่วยเท่ากับ 20 ลิตร) ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากอัตราค่าธรรมเนียมเดิม โดยใช้หลักการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามปริมาณมูลฝอยที่ทิ้ง (PAYT Model) ส่งเสริมให้คัดแยกขยะเพื่อลดค่าธรรมเนียม
กลุ่มที่ 3 สถานที่ที่ผลิตมูลฝอยมากกว่า 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน อัตราค่าธรรมเนียม หน่วยละ 8,000 บาท/เดือน (1 หน่วยเท่ากับ 1 ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากอัตราค่าธรรมเนียมเดิม เนื่องจากกลุ่มที่ 3 ผลิตมูลฝอยในปริมาณมาก และมีศักยภาพในการดำเนินการลดและคัดแยกมูลฝอยของตนเอง โดยใช้หลักการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามปริมาณมูลฝอยที่ทิ้ง (PAYT Model) เช่นเดียวกับกลุ่มที่ 2
ชวนคัดแยกขยะ พร้อมเข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม ทางแอป BKK WASTE PAY รับส่วนลดค่าขยะ 3 เท่า
การลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวมฯ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.การลงทะเบียนแบบเดี่ยว สำหรับอาคารหรือสถานที่ที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน ผู้ที่ลงทะเบียนในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย บ้านพักอาศัย บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม/แฟลต ที่ไม่มีนิติบุคคล โดยเจ้าของหรือผู้เช่าที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ลงทะเบียนด้วยตนเองทางแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ BKK WASTE PAY กรณีไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ที่ถือเครื่อง Handheld ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมที่บ้าน หรือลงทะเบียนที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะที่สำนักงานเขต ที่บ้านเรือนตั้งอยู่ ซึ่ง กทม. ได้เปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการล่วงหน้า แต่วันที่ 14 ม.ค.68 เป็นต้นมา สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้าไว้แล้ว และแอปพลิเคชันจะแจ้งเตือนให้ส่งภาพหลักฐานการคัดแยกขยะ 4 ประเภท ประกอบด้วย ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป ในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 เริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ ในเดือนตุลาคม 2568 จากข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ค.68 มีประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวมฯ แล้วจำนวน 112,601 ครัวเรือน ในส่วนของประชาชนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง โดยประชาชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิ์ลดค่าธรรมเนียม คือ จากที่ต้องจ่ายเดือนละ 60 บาท จะได้รับส่วนลดเหลือ 20 บาท
สำหรับข้อมูลที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน ประกอบด้วย รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก ชื่อ-สุกล เบอร์โทรศัพท์ และภาพถ่ายขยะที่คัดแยก (ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย (ถ้ามี) และขยะทั่วไป) ระบบและเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบและแจ้งผลการลงทะเบียนทางแอปฯ บ้านที่ลงทะเบียนแล้วจะได้รับสติ๊กเกอร์บ้านนี้ไม่เทรวม โดย
1 ปีแรก บ้านที่ลงทะเบียนจะได้รับถุงเขียวใส่ขยะเศษอาหาร ทั้งนี้ ระบบจะมีการสุ่มตรวจการคัดแยกขยะเป็นระยะ หากตรวจพบว่าไม่ได้แยกขยะตามที่กำหนดระบบจะแจ้งให้ส่งภาพใหม่เพื่อตรวจสอบ หากไม่ดำเนินการจะโดนตัดสิทธิ์การรับส่วนลดค่าธรรมเนียมขยะ เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นระบบจะแจ้งให้ส่งภาพใหม่เพื่อตรวจสอบและยืนยันสิทธิ์อีกครั้ง
2.การลงทะเบียนแบบกลุ่ม สำหรับหมู่บ้านจัดสรร อาคารชุดพักอาศัย ที่มีนิติบุคคล และชุมชนตามระเบียบ กทม. ที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวันต่อหลังหรือต่อห้อง กลุ่มนี้จะเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ ในเดือนตุลาคม 2568 แนวทางเบื้องต้นคือต้องมีการจัดที่พักรวมมูลฝอยที่คัดแยก 4 ประเภท รวมถึงขั้นตอนและวิธีการลงทะเบียน หลักฐานที่ต้องแนบ เช่น รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก ของบ้านทุกหลัง และหลักฐานการคัดแยกขยะ สามารถสอบถามขั้นตอนและวิธีการลงทะเบียนเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ โดยหากหมู่บ้านหรือชุมชน ไม่มีที่พักขยะรวม หรือไม่ได้มีการลงทะเบียนแบบกลุ่ม สมาชิกสามารถลงทะเบียนแบบเดี่ยวได้
ประชาชนแยกแล้ว กทม. ไม่เก็บรวม นำส่งขยะทุกชิ้นสู่การกำจัดอย่างถูกวิธี พบปัญหาแจ้ง Traffy Fondue
กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการปรับอัตราค่าธรรมเนียม และการเก็บขยะแยกประเภท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ที่เข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม โดยได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้สนับสนุนการดำเนินงานและการบริหารจัดการข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY และเว็บไซต์ BKK WASTE PAY โดยเมื่อประชาชนลงทะเบียนและส่งหลักฐานการคัดแยกขยะผ่านช่องทางดังกล่าว และปักหมุดพิกัดบ้านบนแผนที่ในแอปพลิเคชัน จะช่วยให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะทราบตำแหน่งบ้านของผู้ลงทะเบียน รวมถึงใช้ในการจัดเข้าเก็บขยะของเจ้าหน้าที่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้หากพบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการขยะสามารถแจ้งได้ที่ Traffy Fondue
แนะประชาชนคัดแยกขยะ นำไปใช้ประโยชน์ ขาย หรือบริจาคเองก่อนส่งขยะทั่วไปให้ กทม. กำจัด
ขยะประเภทต่าง ๆ ยังมีค่า หากประชาชนคัดแยก และนำไปใช้ประโยชน์ โดยเมื่อประชาชนแยกขยะและนำไปใช้ประโยชน์แล้ว ส่วนที่เหลือทิ้งเป็นขยะทั่วไปส่งให้ กทม. นำไปกำจัดตามเส้นทาง ดังนี้
ขยะเศษอาหาร ประชาชนคัดแยกนำไปหมักทำปุ๋ย หรือเลี้ยงสัตว์ หากต้องการทิ้งให้ กทม. กรองเฉพาะเศษอาหารใส่ถุงเขียว หรือถุงที่มองเห็นขยะด้านใน มัดปากถุง แขวนหรือตั้งวางในจุดที่กำหนดเพื่อรอการจัดเก็บจากสำนักงานเขต กทม. จัดรถเฉพาะเก็บขยะเศษอาหารโดยนัดหมายการเข้าจัดเก็บกับประชาชน หรือทิ้งให้กับรถเก็บขนมูลฝอยของ กทม. ซึ่งมีถังขยะแยกเก็บขยะเศษอาหารเฉพาะ และนำไปส่งต่อให้กับเกษตรกร นำไปหมักทำปุ๋ย หรือส่งโรงงานหมักทำปุ๋ยของ กทม.
ขยะรีไซเคิล ประชาชนคัดแยกขายให้ร้านรับซื้อเป็นรายได้ หรือบริจาคให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ตามจุดรับบริจาค หรือหากต้องการทิ้งให้กับ กทม. ให้แยกใส่ถุงที่มองเห็นขยะด้านใน หากทิ้งในถุงดำให้ติดป้ายขยะรีไซเคิล มัดปากถุง ตั้งวางในจุดที่กำหนดเพื่อรอการจัดเก็บจากสำนักงานเขต รถเก็บขนมูลฝอยของ กทม. จะนำไปรวบรวมในถังขยะแยกเก็บขยะรีไซเคิลเฉพาะ และ กทม. นำไปใช้ประโยชน์เป็นทรัพยากร
ขยะอันตราย ประชาชนคัดแยกไม่ปะปนกับมูลฝอยประเภทอื่นและทิ้งให้กับ กทม. โดยใส่ถุงที่มองเห็นขยะด้านใน หากทิ้งในถุงดำให้ติดป้ายขยะอันตราย มัดปากถุง ตั้งวางในจุดที่กำหนดเพื่อรอการจัดเก็บจากสำนักงานเขต รถเก็บขนมูลฝอยของ กทม. ซึ่งมีถังขยะแยกเก็บขยะอันตรายเฉพาะ นำไปเก็บรวบรวมที่อาคารเก็บกักมูลฝอยอันตรายที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย และจ้างบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมนำไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ
ขยะทั่วไป เช่น ซองขนม กล่องโฟม เศษผ้า ทิชชู่เปียก ถุงพลาสติกเปื้อนอาหาร และผ้าอ้อมสำเร็จรูป เป็นต้น รวบรวมใส่ถุงและมัดปากถุง ทิ้งในถังขยะทั่วไปหรือตั้งวางในจุดที่กำหนดเพื่อรอการจัดเก็บจากสำนักงานเขต ทิ้งให้กับ รถเก็บขนมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร และนำส่งศูนย์กำจัดมูลฝอยเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะด้วยวิธีการหมักทำปุ๋ย เตาเผา และวิธีการฝังกลบ
เตรียมจับมือภาคีเครือข่ายคัดแยกขยะ ดึงข้อมูลจากแพลตฟอร์มเดิม ลดขั้นตอนการส่งภาพขยะที่คัดแยก
กรุงเทพมหานคร เตรียมจับมือภาคีมือวิเศษกรุงเทพ และแพลตฟอร์มคัดแยกขยะ อาทิ มูลนิธิมือวิเศษกรุงเทพ, ECOLIFE, KHAYA JAK REWARD TECHNOLOGY, OK RECYCLE, RECYCLE DAY THAILAND, RECYCLE MARKET, RECYCOEX, WAKE UP WASTE, WASTEBUY DELIVERY, TRASH LUCKY, KIDKID สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เพื่อเชื่อมโยง API หรือข้อมูลหลังบ้านในการส่งหลักฐาน เช่น การซื้อขายขยะรีไซเคิล การบริจาคขยะ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มภาคีอยู่แล้ว ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม จะไม่ต้องส่งหลักฐานการคัดแยกขยะเฉพาะที่มีข้อมูลอยู่ในส่วนของภาคีเครือข่ายมือวิเศษกรุงเทพ ในแอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY อีก เพื่อเป็นการลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการฯ
สมาชิกโครงการบ้านนี้ไม่เทรวมฯ โชว์แอป BKK WASTE PAY รับโปรโมชั่นและสิทธิประโยชน์
เพื่อเป็นการขอบคุณประชาชนที่เข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวมฯ ซึ่งเป็นการช่วยลดขยะที่จะนำเข้าสู่ระบบ อีกทั้ง กรุงเทพมหานคร ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมีหน่วยงานภาคเอกชน อาทิ ห้างสรรพสินค้า โครงการอสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียม บริษัท ห้างร้าน องค์กรต่าง ๆ ร่วมสนับสนุนลดและคัดแยกขยะในหน่วยงาน ให้การสนับสนุน พร้อมมอบสิทธิพิเศษให้แก่สมาชิกที่ร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม โดยในแอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY จะมีฟังก์ชั่นสิทธิประโยชน์ ปัจจุบันมี บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) มอบสิทธิพิเศษให้แก่บ้านที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ รับฟรีไอศกรีม Soft Serve ที่แม็คโครหรือโลตัส จนถึงวันที่ 31 ก.ค. 68
แอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY สามารถดาวน์โหลดเพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม แยกขยะลดค่าธรรมเนียม ได้แล้ววันนี้ ทั้งในระบบ IOS :https://u.bangkok.go.th/Appbkkwastepay และ Android : https://u.bangkok.go.th/Wastepayforandroid
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.
– ข้อกฎหมาย/ข้อบัญญัติค่าธรรมเนียม/ระเบียบที่เกี่ยวข้อง: สำนักงานยุทธศาสตร์จัดการมูลฝอย โทร. 0 2203 2935
– การลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน/เว็บไซต์ BKK WASTE PAY สำนักงานสิ่งแวดล้อมยั่งยืน โทร. 0 2203 2928มขยะ
อัตราใหม่ เริ่มตุาคม 2568 ชวนคนกรุงแยกขยะก่อนทิ้ง รับสิทธิ์ลดค่าธรรมเนียมผ่าน
แอป BKK WASTE PAY ช่วยลดขยะ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้