สรรพสามิตจ่อปรับ ‘เนต้า’ 2 เท่า ค่ายรถผลิตไม่ครบเงื่อนไข EV3.0 กว่า 1.9 หมื่นคัน
มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือ EV 3.0 ที่รัฐบาลไทยออกมาเพื่อกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ กำลังเผชิญกับบททดสอบครั้งสำคัญ เมื่อบริษัท เนต้า ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังถูกกรมสรรพสามิตพิจารณาเรียกค่าปรับจากการที่ผลิตรถยนต์ EV ชดเชยไม่ทันตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้กว่า 1.9 หมื่นคัน สถานการณ์นี้ตอกย้ำความตั้งใจของภาครัฐที่จะบังคับใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด และเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีของเนต้าว่า กรมสรรพสามิตได้ระงับการจ่ายค่าชดเชยแก่บริษัทเนต้า ประเทศไทยแล้ว เนื่องจากบริษัทแม่และบริษัทลูกในไทยจดทะเบียนเป็นคนละนิติบุคคลกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย
ปัจจุบัน สรรพสามิตกำลังพิจารณารายละเอียดเรื่องค่าปรับ โดยเงื่อนไขของมาตรการส่งเสริม EV จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2568 ดังนั้น การคำนวณค่าปรับจะขึ้นอยู่กับจำนวนรถยนต์ EV ที่บริษัทไม่สามารถผลิตชดเชยได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว ที่น่าเป็นห่วงคือกรมสรรพสามิตกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากไม่พบเห็นการผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทยของเนต้าแล้ว ทำให้ภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณากระบวนการทางกฎหมายที่จะดำเนินการได้ แม้จะยังไม่ถึงกำหนดสิ้นสุดสัญญา
สำหรับบริษัทรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการ EV 3.0 และได้รับสิทธิประโยชน์ในการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่ายก่อน แต่ไม่สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพื่อชดเชยได้ทันตามกำหนดภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2568 จะต้องถูกเรียกเก็บค่าปรับและสิทธิประโยชน์ต่างๆ คืนแก่รัฐ โดยมีวิธีการคำนวณที่ซับซ้อนและเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก ได้แก่
การยึดหลักประกันสัญญา (Bank Guarantee) รัฐจะยึดเงินหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันสัญญาที่บริษัทได้วางไว้กับกรมสรรพสามิตทั้งหมด ซึ่งทำหน้าที่เป็นหลักประกันว่าบริษัทจะปฏิบัติตามเงื่อนไข
การเรียกคืนเงินอุดหนุนพร้อมดอกเบี้ย: เงินอุดหนุนส่วนลด 150,000 บาทต่อคัน ที่รัฐบาลจ่ายให้เพื่อลดราคาขายปลีกแก่ผู้บริโภค จะถูกเรียกคืนทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี ของยอดเงินต้น โดยเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐจนถึงวันที่ชำระคืนครบถ้วน
ชำระภาษีสรรพสามิตย้อนหลัง พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม นี่คือภาระค่าปรับที่หนักที่สุด คือการชำระภาษีสรรพสามิตที่เคยได้รับการยกเว้นไป (จากอัตราเต็ม 8% เหลือ 2%) พร้อมเบี้ยปรับ 2 เท่า ของยอดภาษีที่ได้รับยกเว้น และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของยอดภาษีที่ได้รับยกเว้น โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่นำเข้ารถยนต์จนถึงวันที่ชำระภาษีคืนครบถ้วน
ชำระภาษีเพื่อมหาดไทย เป็นภาษีเพิ่มเติม 10% ของยอดรวมทั้งหมดจากส่วนที่ 3
ค่าปรับเพิ่มเติมตามเงื่อนไขโครงการ เป็นค่าปรับอีก 1 เท่า ของยอดรวมทั้งหมดจากส่วนที่ 3
เมื่อคำนวณแต่ละส่วนครบแล้ว ยอดค่าปรับรวมทั้งสิ้นจะเป็นผลรวมของทั้ง 5 ส่วน
“การปรับดังกล่าว เป็นการปรับผู้ประกอบการ ไม่ได้มีผลกับประชาชน และเมื่อผู้ประกอบการผิดเงื่อนไขเราต้องดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย และเป็นการเรียกปรับเนต้าไทย ที่เซ็ญสัญญาร่วมมาตรการส่งเสริมอีวีกับเรา”
ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขมาตรการ EV3.0 ที่เนต้าเข้าร่วม และได้นำเข้ารถอีวีมาขายในประเทศไทยนั้น กำหนดให้เนต้าต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชดเชยในไทย 1.5 เท่าของยอดรถที่เข้าร่วมมาตรการ หรือประมาณ 19,000 คัน ภายในสิ้นปี 2568
นอกจากนี้ สรรพสามิตเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) สร้างกระบวนการและเงื่อนไขที่เหมาะสม เพื่อลงโทษ หรือระงับการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ประกอบการที่ผิดเงื่อนไขการผลิตรถชดเชยคืนไม่ทันตามสัญญา จากมาตรการส่งเสริมอีวี หากได้รับการอนุมัติแล้ว จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
สำหรับการเสนอบอร์ดอีวีนั้น จะกำหนดให้คนที่มารับเงื่อนไข EV 3.0 และ EV 3.5 ต้องทำแผนการผลิตในทุกๆ เดือน หากเดือนใดไม่สามารถทำได้ถึง 30% ของแผนการผลิต เช่น ระบุว่าเดือนม.ค. จะผลิตได้ 10 คัน แต่ผลิตได้ไม่ถึง 3 คัน ก็จะโดนใบเหลือง และหากเป็นเช่นนี้ต่อกันอีก 2 เดือน ก็จะโดนใบแดง คือ สรรพสามิตมีอำนาจในการระงับการจ่ายเงินชดเชยทันที
“การเสนอบอร์ดครั้งนี้ ทำงานหลายภาคส่วน เพื่อให้สรรพสามิตสามารถระงับการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกอบการที่ผิดเงื่อนไขได้ คือ ผู้ประกอบการต้องทำแผนทุกเดือน หากเดือนใดเดือนหนึ่งผลิตไม่ถึง 30% ของแผน จะโดนใบเหลือง และเดือนต่อไปยังทำไม่ได้ 30% ตามที่ทำแผนมาก็จะโดนใบแดง สรรพสามิตก็จะระงับการจ่ายเงินชดเชย”