วันสั้นลง! เพราะโลกหมุนเร็วขึ้น นักวิทยาศาสตร์จับตาใกล้ชิด
ในวันนี้วันที่ 9 กรกฎาคม วันที่ 22 กรกฎาคม และ วันที่ 5 สิงหาคม 2568 โลกของเราอาจจะหมุนเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จะเป็นวันที่สั้นลงอย่างผิดปกติ โดยแต่ละวันจะสั้นลงประมาณ 1.3 ถึง 1.51 มิลลิวินาทีจาก 24 ชั่วโมงปกติ โดยปรากฏการณ์นี้เกิดจากความแตกต่างของแรงดึงดูดระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด แต่แม้จะเป็นเพียงเสี้ยววินาทีที่มนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้ แต่ก็เป็นข้อบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในการหมุนของดาวเคราะห์
ทำไมวันถึงสั้นลง?
โดยปกติแล้ว หนึ่งวันบนโลกคือเวลาที่โลกใช้ในการหมุนรอบแกนของตัวเองโดยสมบูรณ์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 86,400 วินาที หรือ 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม การหมุนของโลกนั้นซับซ้อนและได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ การเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลก และความสมดุลของมวลบนดาวเคราะห์
อย่างไรก็ตามในวันที่ 9 กรกฎาคม, 22 กรกฎาคม และ 5 สิงหาคม 2568 ดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรของโลกมากที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ที่กระทำต่อแกนของโลกเปลี่ยนไป นักวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงนี้กับการหมุนลูกข่าง ถ้าคุณจับลูกข่างตรงกลางแล้วหมุน มันจะไม่หมุนเร็วเท่ากับการจับที่ปลายด้านใดด้านหนึ่ง การที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้ขั้วโลกมากขึ้น ส่งผลให้การหมุนของโลกเร็วขึ้น ทำให้วันสั้นลง
เวลาของโลกจากอดีตถึงปัจจุบัน
ตลอดประวัติศาสตร์ของโลก การหมุนของโลกโดยรวมมีแนวโน้มที่จะช้าลง ทำให้วันต่าง ๆ ยาวนานขึ้น มีงานวิจัยที่พบว่าเมื่อประมาณ 1-2 พันล้านปีก่อน หนึ่งวันบนโลกยาวเพียง 19 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากดวงจันทร์ที่อยู่ใกล้โลกมากกว่าปัจจุบัน ทำให้แรงดึงดูดแข็งแกร่งขึ้นและโลกหมุนเร็วขึ้น
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์กลับพบความแปรปรวนในการหมุนของโลก และในปี 2020 โลกหมุนเร็วที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี 1970 และวันที่สั้นที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้คือวันที่ 5 กรกฎาคม 2024 ซึ่งสั้นกว่า 24 ชั่วโมงถึง 1.66 มิลลิวินาที
มนุษย์มีส่วนหรือไม่?
แม้ว่าความแปรผันตามธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ แต่การวิจัยล่าสุดชี้ว่า กิจกรรมของมนุษย์ก็มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการหมุนของโลก เช่นกัน นักวิจัยจาก NASA คำนวณว่าการเคลื่อนที่ของน้ำแข็งและน้ำบาดาล ซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้เพิ่มความยาวของวันของเราถึง 1.33 มิลลิวินาทีต่อศตวรรษ ระหว่างปี 2000 ถึง 2018
นอกจากนี้ เหตุการณ์เฉพาะหน้าก็สามารถส่งผลต่อการหมุนของโลกได้ เช่น แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นปี 2011 ที่ทำให้วันสั้นลง 1.8 ไมโครวินาที แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลก็มีผลเช่นกัน
อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของ Live Science กับ ริชาร์ด โฮล์ม (Richard Holme)นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลกล่าวว่า ในฤดูร้อนทางซีกโลกเหนือ ต้นไม้จะออกใบ ทำให้มวลเคลื่อนที่จากพื้นดินขึ้นไปเหนือพื้นดิน ห่างจากแกนหมุนของโลกมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราการหมุนลดลงและวันยาวขึ้น เหมือนนักสเก็ตน้ำแข็งที่หมุนช้าลงเมื่อเหยียดแขนออกไป
ผลกระทบในชีวิตประจำวันและอนาคต
แม้ว่าความแตกต่างเพียงไม่กี่มิลลิวินาทีจะไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราโดยตรง และนาฬิกาของเราจะยังคงนับ 24 ชั่วโมงตามปกติ แต่ในระยะยาว หากความแตกต่างของความยาววันสะสมมากขึ้นจนเกิน 0.9 วินาที หรือ 900 มิลลิวินาที ก็อาจจำเป็นต้องมีการปรับเขตเวลา
โดยองค์กร International Earth Rotation and Reference Systems Service (IERS) จะมีหน้าที่ตรวจสอบการหมุนของโลกอย่างใกล้ชิด และจะมีการเพิ่ม วินาทีอธิกมาส (Leap Second) ให้กับเวลาสากลเชิงพิกัด (UTC) ตามความจำเป็น เพื่อให้เวลาของเราตรงกับตำแหน่งจริงของดาวเคราะห์ต่อไป
ทั้งนี้การศึกษาและทำความเข้าใจการหมุนของโลกเป็นสิ่งสำคัญต่อการรักษาความแม่นยำของระบบเวลาทั่วโลก และการบ่งชี้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อดาวเคราะห์ในระดับที่ละเอียดอ่อนที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- พลิกวิกฤต NASA บริษัท Lockheed Martin เสนอทางรอดภารกิจ Mars Sample Return ลดต้นทุนกว่าครึ่ง
- นักบินอวกาศนิโคล เอเยอร์ส บันทึกภาพสไปรต์สีแดงเหนืออเมริกาเหนือ
- ค้นพบวัตถุจากนอกระบบสุริยะผู้มาเยือนดวงที่ 3 ในประวัติศาสตร์
- งานวิจัยชี้พายุฝุ่นบนดาวอังคารอาจก่อให้เกิดฟ้าผ่าภัยคุกคามยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์
- NASA เผชิญโจทย์ใหญ่ หลังจรวดขับดันโครงการอาร์เทมิสเกิดความเสียหายระหว่างการทดสอบ