ศบ.ทก.ผ่อนผันแรงงานต่างด้าวอยู่ต่อได้เป็นกรณีพิเศษ ย้ำอีกครั้งไทยยึดมั่น MOU 43
ศบ.ทก.ผ่อนผันแรงงานต่างด้าวอยู่ต่อได้เป็นกรณีพิเศษ ช่วยผู้ประกอบการ จนกว่าสถานการณ์ชายแดนเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังคงเข้มงวดมาตรการควบคุมจุดผ่านแดน ย้ำระมัดระวังข่าวปลอม
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 7 ก.ค. 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ร.ต.สุรสันต์ คงสิริ รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย ในฐานะโฆษกศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.) และนางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุม ศบ.ทก. โดยพล.ร.ต.สุรสันต์ แถลงว่า เรื่องแรกที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2568 มีมติให้อำนาจ ศบ.ทก. ดำเนินการแก้ไขปัญหาความตึงเครียดตามแนวชายแดนให้คลี่คลายลง โดยให้มีอำนาจเต็มในเรื่องของการกำหนดมาตรการเพิ่มเติม หากสถานการณ์เลวร้ายลงหรือดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น โดยเน้นย้ำในเรื่องของการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทหาร นอกจากนี้ที่ประชุมยังให้ ศบ.ทก. ดำเนินการใช้มาตรการที่เข้มงวดในการแก้ไขปัญหากลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติอย่างต่อเนื่องตามภาระหน้าที่ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวในมิติของงานปกติก็ยังเป็นการทำงานของหน่วยงานตามสายงานปกติ
พล.ร.ต.สุรสันต์ แถลงว่า สำหรับสถานการณ์ชายแดน ณ ปัจจุบันที่มีการดำเนินการมาตรการผ่านแดนหรือผ่านจุดด่านเข้าออกของประชาชน 2 ฝ่ายที่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มของประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ประชาชนท้องถิ่นที่สามารถเดินทางผ่านเข้า-ออก เพื่อมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ประจำวัน ก็สามารถดำเนินการเข้าออกได้ หรือแม้กระทั่งในกลุ่มเปราะบางที่มีความจำเป็นต้องเดินทางผ่านเข้าออก ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยก็ยังอนุญาตให้ดำเนินการหรือให้เดินทางผ่านเข้าออกได้เช่นเดียวกัน รวมไปถึงกลุ่มนักเรียนนักศึกษา การขนส่งเวชภัณฑ์ ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องเข้ามารับการบริการรักษาพยาบาลในอีกประเทศหนึ่งนี้ ก็สามารถที่จะยังดำเนินการเข้ามาได้ตามหลักมนุษยธรรม
เผยตัวเลขเข้าออกทะลุ 2 แสนคน
โดยตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.-7 ก.ค. 2568 นั้น มีตัวเลขที่น่าประทับใจ เพราะมีการผ่อนปรนมาตรการตรงนี้ โดยกลุ่มที่สามารถเดินทางเข้ามา อย่างกองกำลังบูรพามีบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักร 212,766 คน และมีกลุ่มประชาชนเดินทางออกจากราชอาณาจักร 206,100 คน ส่วนตัวเลขกองกำลังสุรนารี ก็มีผู้ที่เดินทางผ่านเข้า-ออก ถึง 2,454 คน จะเห็นได้ว่าแต่ละพื้นที่จะมีตัวเลขที่ค่อนข้างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับประเด็นความตึงเครียดของสถานการณ์ตามแนวชายแดนนั้นๆ
ผ่อนปรนนำเข้าแรงงาน
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า ในส่วนของความมั่นคง ศบ.ทก. พยายามจะมีมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ที่อาจจะมีในเรื่องที่ไม่สามารถดำเนินการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานได้เหมือนเช่นสถานการณ์ปกติ ทาง ศบ.ทก. ไม่ได้นิ่งนอนใจก็ได้มีการประชุมหารือแนวทางในการผ่อนปรนในการนำเข้าแรงงาน โดยบูรณาการหารือผู้แทนกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าที่ผ่านมาโดยเมื่อวันที่ 4 ก.ค. กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ได้จัดการประชุมเพื่อหารือแนวทางบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยพิจารณาแก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นกับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ผ่อนผันให้ต่างด้าวอยู่ต่อได้
โดยที่ประชุมได้มีการให้ความเห็นชอบโดยสรุป 1. กระทรวงมหาดไทย พิจารณาผ่อนผันคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตหรือที่ใบอนุญาตนั้นหมดอายุแล้ว ระหว่างอยู่ในประเทศไทย ให้สามารถอยู่ต่อได้เป็นกรณีพิเศษ และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ จนกว่าด่านชายแดนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ทั้งนี้ ภายหลังที่ด่านเปิดเป็นปกติแล้ว ให้คนต่างด้าวเหล่านั้นเดินทางออกนอกราชอาณาจักรภายใน 14 วัน
2. กระทรวงแรงงานจะออกมาตรการให้คนต่างด้าวสามารถยื่นคำขอเข้าอนุญาตทำงาน พร้อมเอกสารหลักฐานการทำงานต่อนายทะเบียนอนุญาต โดยสามารถทำงานได้ครั้งละ 90 วัน ต่อใบอนุญาตอย่างต่อเนื่องทุกๆ 90 วัน 3. คนต่างด้าวที่มีงานทำอยู่แล้วสามารถเปลี่ยนนายจ้างและเพิ่มนายจ้างได้ 3 ราย ตลอดระยะเวลาในพื้นที่คนต่างด้าวนั้นได้รับอนุญาตทำงาน
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นมาตรการที่กระทรวงโดยร่วมมือกันหารือเร่งด่วน เพราะเราเห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการในการนำเข้าแรงงานต่างด้าว จะเห็นได้ว่ามาตรการต่างๆ เหล่านี้เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น
ชงเข้า ครม. อนุมัติพรุ่งนี้
ทั้งนี้ จากผลการประชุมของคณะกรรมการที่ผ่านมา กรมการจัดหางานก็จะนำผลการประชุมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ในวันที่ 8 ก.ค.2568 จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ทั้งนี้ การประกาศของ ครม. ที่คาดว่าจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า จะมีผลย้อนหลังให้ถึงวันที่ 7 มิ.ย. 2568 เพราะ ศบ.ทก. เข้าใจดีว่าผลกระทบขึ้นมาตั้งแต่ช่วงสถานการณ์ไม่ปกตินี้ ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2568
ยังเข้มงวดจุดผ่านแดน
ด้านนางมาระตี แถลงว่า มิติต่างประเทศสถานการณ์ในพื้นที่ จากรายงานหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ทุกจุดตรวจผ่านแดนและสถานการณ์ในขณะนี้มีความสงบเรียบร้อยดี สำหรับฝ่ายไทยยังคงอนุโลมให้มีการผ่านแดน สำหรับนักเรียนนักศึกษา ผู้ป่วย รวมทั้งแรงงานกัมพูชาที่มีความจำเป็น และการข้ามเพื่อจับจ่ายใช้สอยตามปกติ ขอย้ำว่ามาตรการควบคุมจุดผ่านแดนฝ่ายไทย ยังคงดำเนินการอย่างเข้มงวดเพื่อความมั่นคงโดยรวมของพื้นที่ และความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย จริงๆ แล้วที่สำคัญคือเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะขบวนการหลอกลวงทางออนไลน์ อย่างสแกมเมอร์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ได้สร้างความเสียหายต่อประชาชนและประเทศอย่างร้ายแรง โดยทุกมาตรการได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบโปร่งใสและเป็นไปตามนโยบายที่ทาง ศบ.ทก. มอบให้ และอาจปรับเปลี่ยนในอนาคตตามสถานการณ์ในพื้นที่หากมีความจำเป็น โดยจะคำนึงถึงการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนพื้นที่เป็นสำคัญ
เร่งระบายสินค้าสด
นางมาระตี แถลงว่า สำหรับมาตรการเยียวยาประชาชน ขอเสริมในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำโดยกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุก เร่งระบายสินค้าสดและสินค้าอุปโภคบริโภคของเกษตรกรไปยังตลาดและแหล่งกระจายสินค้าขนาดใหญ่ ตั้งในห้างสรรพสินค้า งานแสดงสินค้าในจังหวัดต่างๆ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ พร้อมทั้งการประสานงานหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่เพื่อให้เกิดความชัดเจนและอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสม วันนี้เรื่องที่น่าภูมิใจ ส่วนของหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ได้ช่วยซื้อผลผลิตของเกษตรกรรายย่อยตามแนวชายแดน ขอย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลไทยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่นอนใจต่อผลที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนและตระหนักว่าความเดือดร้อนของประชาชนรอไม่ได้
แบ่งหน้าที่ติดตามท่าทีกัมพูชา
ในคณะทำงานนี้ได้บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมเอเชียตะวันออก ซึ่งรับผิดชอบในการบริหารความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-กัมพูชา กรมสนธิสัญญาและกฎหมายดำเนินภารกิจที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และเรื่องเขตแดน ซึ่งกลุ่มนี้รับศึกหนักนิดนึงในช่วงนี้ กรมอาเซียนจะติดตามในเรื่องของการเคลื่อนไหวหรือพัฒนาการที่สำคัญในการประชุมของอาเซียน กรมองค์การระหว่างประเทศจะรับผิดชอบในเรื่องการติดตามท่าทีกัมพูชาในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงท่าทีของประเทศอื่นๆ ด้วย
กรมสารนิเทศ รับผิดชอบในเรื่องของการสื่อสารเชิงกลยุทธ์และบริหารข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยคำนึงว่าไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยซึ่งบุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นได้และเป็นเรื่องที่ยินดี มีการคิดตามอยู่เสมอ กรมการกงสุลซึ่งมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการดูแลคนไทยในต่างประเทศ รวมถึงคนไทยในกัมพูชา ซึ่งงานของกระทรวงการต่างประเทศทั้งหมดนี้มีความปราณีตและเกี่ยวโยงหลายหน่วยงานซึ่งกระทรวงพยายามสื่อสารภารกิจที่เกี่ยวข้องให้สาธารณชนทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป
ไทยชี้แจงจุดยืนให้ยูเอ็นทราบแล้ว
นางมาระตี กล่าวด้วยว่า ตามข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ 1-2 วันที่ผ่านมา เกี่ยวกับหนังสือของเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรกัมพูชาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งลงเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2568 แจ้งความประสงค์ของกัมพูชาที่จะฟ้องร้องเกี่ยวกับประเด็นชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ขอเรียนว่าทางกระทรวงต่างประเทศได้สั่งการไปที่เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ให้มีหนังสือเช่นกันถึงเลขาธิการสหประชาชาติด้วยแล้ว เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง ตลอดจนท่าทีและการดำเนินการของฝ่ายไทยในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม และฝ่ายไทยได้ขอให้เลขาธิการสหประชาชาติเวียนหนังสือชี้แจงของไทยเป็นเอกสารของสมัชชาสหประชาชาติเพื่อให้รัฐสมาชิกสหประชาชาติ 193 ประเทศ ได้รับทราบด้วยแล้ว ซึ่งเรื่องนี้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงแล้วว่า การเวียนเอกสารในลักษณะนี้ เป็นแนวทางปฏิบัติปกติของสหประชาชาติ มีรัฐสมาชิกทุกรัฐสามารถทำได้ โดยสำหรับฝ่ายไทยไม่ได้นิ่งนอนใจแน่นอน และได้ชี้แจงจุดยืนของไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว
ยึดถือเอ็มโอยู 43
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2568 กระทรวงการต่างประเทศได้ออกข่าวสารนิเทศอีกฉบับ เพื่อชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าทีไทยและข้อคิดเห็นในเรื่องนี้เพื่อประโยชน์การทำความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในพื้นที่สื่อขณะนี้มีการนำเสนอข้อมูลจำนวนมาก จากหลายแหล่ง ซึ่งบางส่วนอาจไม่นำเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมด ขอสรุปเอกสารข่าวสารนิเทศฉบับนี้ก็ได้ชี้แจงถึงการดำเนินการของฝ่ายไทยตั้งแต่เกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2568 ที่ผ่านมา และจุดยืนของรัฐบาลคือการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับกัมพูชาด้วยสันติวิธี ภายใต้พันธกรณีตาม MOU 2543 ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าทั้ง 2 ฝ่ายต้องแก้ไขปัญหาเขตแดนผ่านการเจรจาภายใต้กลไก JBC ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath