"คำนูณ" เจาะรหัส 144-88 รหัสล้างบางนักการเมือง!
"คำนูณ" เจาะรหัส 144-88 รหัสล้างบางนักการเมือง! เปิดช่องไต่สวนใช้งบมิชอบ โทษร้ายแรงถึงขั้นพ้นตำแหน่งทั้งครม.
นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา(อดีตสว.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า บทเพลง 144 เริ่มบรรเลงแล้ว แม้ในช่วงโหมโรงนี้ท่วงทำนองจะเริ่มต้นแบบเนิบ ๆ แต่ความดุดันกระแทกกระทั้นและเหนือความคาดหมายยากคาดเดากำลังจะตามมา…
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม 2568 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับเรื่องกล่าวหาว่ารองประธานสภาผู้แทนราษฎรกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144 วรรคสอง (มีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่าย) ไว้พิจารณา และจะต้องมีคำวินิจฉัยภายใน 15 วัน ศาลรัฐธรรมนูญจึงกำหนดกระบวนการพิจารณาด่วนตลอดสัปดาห์นี้ 21, 23, 24 กรกฎาคม 2568 เรื่องนี้สส.พรรคประชาชนเข้าชื่อกันยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 144 วรรคสาม
มาตรา 144 วรรคสองบัญญัติไว้ว่า…
“ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้“
เป็น 1 ใน 2 ฐานความผิดของมาตรา 144
ขอขีดเส้นใต้ตรงประโยคแรกที่ว่า “ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ…“ ซึ่งเป็นบทกำกับประโยคต่อ ๆ ไปในวรรค
ทั้งนี้ ก็เพราะศาลรัฐธรรมนูญวางบรรทัดฐานเบื้องต้นไว้ว่าการกระทำความผิดตามฐานนี้จะต้องเกิดขึ้นในชั้นพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนั้นแม้คณะผู้ร้องจะร้องมาว่ามีการกระทำความผิดทั้งในช่วงการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว และร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ที่อยู่ในชั้นการพิจารณา แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับไว้พิจารณาเฉพาะการกระทำผิดในส่วนของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 เท่านั้น
อันที่จริง ผมยังไม่สู้เห็นด้วยกับประเด็นนี้นัก
การกระทำความผิดต้องเกิดขึ้นในชั้นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ อันนี้ชัดเจน เห็นด้วยเต็มร้อย แต่การร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานี่สิ จำเป็นจะต้องอยู่ในช่วงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯด้วยหรือ ?
ถ้าอย่างนั้น บทบัญญัติเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยที่อยู่ท้ายมาตรา 144 วรรคสามนี้เอง และกำหนดอายุความไว้ 20 ปีตามมาตรา 144 วรรคห้า จะมีที่ใช้ที่ไหนสำหรับกรณีสส.หรือสว.ร้องมาตามช่องทางมาตรา 144 วรรคสาม เพราะหากจะร้องได้เฉพาะช่วงที่พระราชบัญญัติฯยังไม่มีผลใช้บังคับเท่านั้น ก็หมายความว่ายังไม่มีการใช้เงินงบประมาณ
แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไปแล้ว - ก็ - ตามนั้น
ส่วนอีกฐานความผิดหนึ่งอยู่ในมาตรา 144 วรรคหนึ่ง
“ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ … สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการมิได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้ (2) ดอกเบี้ยเงินกู้ (3) เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย“
มีประโยคขึ้นต้นว่า “ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ…“ คล้าย ๆ ประโยคขึ้นต้นของวรรคสองเหมือนกัน
ขอหมายเหตุเป็นข้อสังเกตตรงนี้ไว้สักนิดว่า ทั้ง 2 ฐานความผิดนี้บัญญัติเป็นบทต้องห้ามอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ทว่ามีเพียงแต่บทให้สส.หรือสว.เข้าชื่อเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาได้เฉพาะการกระทำตามมาตรา 144 วรรคสอง (มีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่าย) เท่านั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 7 วัน อันแสดงให้เห็นว่าน่าจะมีเจตนารมณ์ให้ผลการวินิจฉัยเสร็จสิ้นก่อนร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายมีผลใช้บังคับ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดก็มีผลให้การกระทำนั้น ๆ สิ้นผลไป ไม่ได้มีบทลงโทษรุนแรงพร้อมทั้งให้เรียกเงินคืนบวกดอกเบี้ยที่เพิ่งเขียนเพิ่มเติมเข้ามาในครึ่งหลังของมาตรา 144 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ 2560 แถมยังเพิ่มเติมวรรคห้ากำหนดอายุความเรียกเงินคืน 20 ปีเข้ามาอีก ซึ่งน่าจะเป็นอีกเจตนารมณ์หนึ่ง เพราะการเขียนไว้เช่นนี้ย่อมพิจารณาได้ว่าสามารถยื่นร้องได้หลังพระราขบัญญัติงบประมาณมีผลบังคับใช้แล้วด้วย จึงได้มีการใช้จ่ายงบประมาณนั้น ๆ ออกไป การต่อเชื่อมบทบัญญัติเก่ากับใหม่ที่มีเจตนารมณ์ไม่เหมือนกันเสียทีเดียวเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดปัญหาในการตีความเพื่อบังคับใช้ได้ ขอฝากไว้โดยย่อเท่านี้ก่อน
การเสนอเรื่องการกระทำผิดตามมาตรา 144 สู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมี 2 ทางจากบุคคล 2 ประเภท
ทางที่ 1 มาตรา 144 วรรคสาม - จากสส.หรือสว.
“ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา…ฯลฯ…“
เน้นตรงคำว่า “…บทบัญญัติตามวรรคสอง” !
จะเห็นได้ว่าสส.หรือสว.ยื่นร้องได้เฉพาะความผิดตามมาตรา 144 วรรคสอง (มีส่วนใช้งบประมาณรายจ่าย) เท่านั้น วรรคหนึ่ง (แปรญัตติตัดงบใช้หนี้) ยื่นร้องไม่ได้
เป็นบทบัญญัติที่แปลก ทำไมไปจำกัดเช่นนั้น ?
ทางที่ 2 มาตรา 144 วรรคสี่และวรรคหก - จากเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่าย (และรวมถึงประชาชนทั่วไป ?)
“เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือ หรือมีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทราบ ให้พ้นจากความรับผิด” - วรรคสี่
“ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้รับแจ้งตามวรรคสี่ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแหงชาติดำเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน หากเห็นว่ากรณีมีมูล ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการต่อไปตามวรรคสาม…” - วรรคหก
จากบทบัญญัติในทั้ง 2 วรรค จะเห็นได้ว่ามีประเด็นต้องพิจารณาอยู่อย่างน้อย 2 เรื่อง
เรื่องหนึ่ง การแจ้งต่อป.ป.ช.ของเจ้าหน้าที่ฯทำได้ทั้ง 2 ฐานความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เรื่องนี้ไม่มีข้อสงสัย เพราะตัวบทบัญญัติไว้ชัดเจน
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากไม่แพ้ประเด็นอื่น ก็คือประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ จะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อป.ป.ช.ได้หรือไม่ ?
เพราะหากอ่านเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 144 วรรคสี่และวรรคหก จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐฯเท่านั้น ไม่มีบุคคลประเภทอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
คำตอบของประเด็นนี้ไม่ได้อยู่ในแค่มาตรา 144 แต่ต้องมีมาตรา 88 ด้วย
ไม่ใช่รัฐธรรมนูญมาตรา 88
หากแต่เป็นมาตรา 88 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561
เรามาดูตัวบทกัน…
“เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการป.ป.ช. หรือเมื่อคณะกรรมการป.ป.ช.ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 144 วรรคสี่ ให้คณะกรรมการป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน…“
คีย์เวิร์ดอยู่ที่ประโยคขึ้นต้นเลย
“เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการป.ป.ช….“
เป็นประโยคที่ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 144 วรรคสี่หรือวรรคใด ๆ
ประโยคเดียว - จบข่าว !
คดีตามมาตรา 144 ที่ตกเป็นข่าวดังมากกว่าและสร้างความตื่นตะลึงมากกว่าคดีที่ศาลรัฐธรรมเพิ่งรับไปเมื่อ 17 กรกฎาคม 2568 เพราะจากการแถลงข่าวของคณะผู้ยื่นคำร้องเกี่ยวพันกับทั้งสส., กรรมาธิการของสส., สว. และโดยเฉพาะอย่างยิ่งครม. การใช้ช่องทางร้องผ่านป.ป.ช.ตามมาตรา 144 วรรคสี่ จึงไม่มีปัญหาแต่ประการใด เพราะยื่นเมื่อใด ก็ต้องถือว่า “ความปรากฎต่อคณะกรรมการป.ป.ช.” ตามมาตรา 88 แล้วเมื่อนั้น ต้องดำเนินการต่อทีนที
หากป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูล เมื่อยื่นต่อมายังศาลรัฐธรรมนูญ กรณีก็จะเข้ามาตรา 144 วรรคหกที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่รับไว้พิจารณาตามมาตรา 144 วรรคสาม ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าเรื่องที่ยื่นมานั้นเกิดขึ้นในช่วงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย หรือในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนั้นมีผลบังคับใช้แล้ว
ก็เพราะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 88 รองรับและขยายความรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 ไว้อย่างนี้นี่เองผมจึงตั้งชื่อหัวเรื่องพูดคุยวันนี้ว่า…
“144 - 88 รหัสล้างบางนักการเมือง”
คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
ฐานความผิดตามมาตรา 144 มีขอบเขตกว้างขวางมาก โดยเฉพาะคำว่า “การกระทำด้วยประการใด ๆ … ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม” ในวรรคสอง
โทษของความผิดก็ร้ายแรงมาก โดยบัญญัติไว้ในวรรคสาม สำหรับกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นสส.หรือสว.ให้ “…สิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย” และ “เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” และถ้าเป็นกรณีคณะรัฐมนตรีก็ให้ “พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย” ยกเว้นรัฐมนตรีคนที่พิสูจน์ได้ว่าไม่อยู่ในที่ประชุมในขณะกระทำความผิด และทั้ง 2 กรณีจะต้องใช้เงินคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ย มีอายุความ 20 ปี
ในกรณีคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเพราะเหตุนี้ มาตรา 168 (2) บัญญัติว่าจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้
นี่ยังไม่นับโทษทางอาญาที่จะตามมาอีก !
เราจึงอาจจะได้เห็นปลัดกระทรวงปฏิบัติหน้าที่แทนคณะรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง และปลัดกระทรวงประชุมกันคัดเลือกกันเองให้ปลัดกระทรวงคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคสองที่ยังไม่เคยใช้เหมือนกัน
สมมติฐานนี้ไม่ได้ห่างไกลความจริงนัก
และอาจจะมีปฏิกิริยาลูกโซ่ตามมาให้เห็นอีก
จะมากจะน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
คำนูณ สิทธิสมาน