20 วัตถุโบราณ"ไทย" ส่งคืนให้ "กัมพูชา" มีที่มาอย่างไร คมจบให้
เรียกว่าประเด็นอะไรที่เกี่ยวโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง "กัมพูชา" ในห้วงแห่งความอ่อนไหวนี้ก็พูดถึงไปหมด ล่าสุดในโลกออนไลน์มีการเปิดประเด็นที่รัฐบาลไทย ส่งมอบวัตถุโบราณคืนให้กับ "กัมพูชา" จำนวน 20 รายการ จนเป็นพูดถึงกัน ซึ่งวัตถุโบราณดังกล่าวนั้นมีที่มาแบบไหน "คมจบให้" มาเล่าให้ทราบกัน
จุดเริ่มต้นส่งมอบวัตถุโบราณคืน"กัมพูชา"
ปี พ.ศ.2543 กรมศุลกากรได้ตรวจยึดโบราณวัตถุเขมรที่นำเข้าโดยผิดกฎหมายซึ่งนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ จำนวน 43 รายการ
ต่อมากรมศิลปากรได้มีการตรวจสอบและมอบโบราณวัตถุคืนให้กัมพูชา ตามมติ ครม. (24 ก.พ.2552 และ 13 ม.ค.2558) แล้ว จำนวน 23 รายการ คงเหลือโบราณวัตถุอีก 20 รายการ
ปี พ.ศ.2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. มีมติอนุมัติให้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมศิลปากร มอบโบราณวัตถุ 20 รายการ คืนให้ราชอาณาจักรกัมพูชา
"…เพื่อเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงทวิภาคีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และกัมพูชา รวมทั้งเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและกัมพูชา และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นภาคีที่ยึดมั่นและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในความตกลงทวิภาคีอย่างเคร่งครัด…"
กรมศิลปากร
"กรมศิลปากร" ได้ตรวจสอบแล้วไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่มีถิ่นกำเนิดในกัมพูชาหรือไม่ เนื่องจากโบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ เป็นโบราณวัตถุที่สามารถพบได้ในโบราณสถานทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา
คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2558 ให้กรมศิลปากรแจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวให้รัฐบาลกัมพูชาทราบ โดยหากรัฐบาลกัมพูชาประสงค์จะขอรับโบราณวัตถุดังกล่าวคืน ขอให้รัฐบาลกัมพูชาจัดส่งหลักฐานยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าโบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ เป็นโบราณวัตถุที่มีถิ่นกำเนิดในกัมพูชา
"…"รัฐบาลกัมพูชา" ได้ส่งคำร้องเพื่อขอรับคืนโบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ พร้อมทั้งส่งเอกสารและหลักฐานยืนยันสิทธิเรียกร้องในโบราณวัตถุดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของกรมศิลปากร ยืนยันได้ว่า โบราณวัตถุทั้ง 20 รายการเป็นวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในกัมพูชา กระทรวงวัฒนธรรม จึงขออนุมัติมอบโบราณวัตถุ 20 รายการ คืนให้กัมพูชา…"
- 1. ส่วนองค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
- 2. ส่วนองค์พระพุทธรูปยืน ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
- 3. ส่วนองค์เทวรูป ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
- 4. ส่วนองค์เทวรูป ศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 18
- 5. ส่วนองค์พระพุทธรูปปางประทานอภัย ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
- 6. ส่วนองค์เทวรูป ศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17
- 7. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน – นครวัด พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
- 8. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
- 9. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
- 10. กลีบขนุนรูปฤาษี ศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17
- 11. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
- 12. กลีบขนุนรูปฤาษี ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
- 13. กลีบขนุนรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
- 14. กลีบขนุนรูปฤาษี ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
- 15. กลีบขนุนรูปพระยมทรงกระบือ ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
- 16. กลีบขนุนรูปพระวรุณทรงหงส์ ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
- 17. นาคปักรูปครุฑยุดนาค ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
- 18. นาคปักรูปครุฑยุดนาค ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
- 19. กลีบขนุนรูปเทพธิดายืนอยู่ในซุ้มใบระกา ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
- 20. กลีบขนุนรูปเทพธิดายืนอยู่ในซุ้มใบระกา ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
ทั้งนี้ 25 เมษายน 2568 เว็บไซต์เนชั่นทีวี ได้อัปเดตข้อมูลว่า "โฆษกรัฐบาล ได้ส่งข้อความชี้แจงของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร มายังผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี ระบุว่า
"ภายหลังมติ ครม. เมื่อปี 2567 ให้ส่งมอบวัตถุโบราณ 20 ชิ้นที่เหลือ ซึ่งพิสูจน์ได้แล้วว่าเป็นของกัมพูชา ให้กับทางกัมพูชานั้น ทางกระทรวงวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศได้ประสานงานกันเพื่อเตรียมการด้าน logistics ของการส่งมอบ ซึ่งจะเป็นการส่งมอบทางบก ผ่านไปทางเมืองเสียมราฐ ในชั้นนี้คาดว่าจะเป็นช่วงเดือน ก.ค. 2568"