กทม. ผนึกกำลังรัฐ-เอกชน จับมือต่อยอด ‘สารหน่วงไฟจากขยะเปลือกหอย’
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. น.ส.ทวิดา กมลเวชช และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ร่วมกิจกรรมงาน "โรงเรียนปลอดภัย ห่างไกลอัคคีภัยด้วยนวัตกรรมจากขยะอาหาร" ณ ศูนย์เด็กปฐมวัยเมอร์ซี่ (HDF Mercy Centre) เขตคลองเตย
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า โครงการนี้ทำ 1 เรื่อง แต่ได้ 3 เรื่องพร้อมกัน ประกอบด้วย เรื่องความปลอดภัย เรื่องการช่วยลดขยะอาหาร และเรื่องของการพัฒนาเด็ก สำหรับเรื่องเด็กปฐมวัยมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือส่วนที่เป็นโรงเรียน ส่วนนี้ กทม. ดูแลได้เต็มที่ เพราะเป็นพื้นที่ราชการ สามารถนำงบประมาณลงไปพัฒนาได้ แต่อีกส่วนที่พยายามกันเต็มที่คือเรื่องศูนย์เด็กเล็ก ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ชุมชน ภาครัฐไม่สามารถเอางบประมาณลงไปพัฒนาได้เพราะเป็นที่เอกชน แต่นับว่าโชคดีมากที่ได้ความร่วมมือจากเอกชนหลาย ๆ พันธมิตรมาร่วมในการพัฒนา
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และภาคเอกชน เปิดตัวโครงการ "โรงเรียนปลอดภัย ห่างไกลอัคคีภัยด้วยนวัตกรรมจากขยะอาหาร" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ในการนำนวัตกรรมจากขยะอินทรีย์มาใช้ประโยชน์ เพื่อยกระดับความปลอดภัยในศูนย์เด็กปฐมวัยแห่งนี้
โครงการนี้ริเริ่มจากแนวคิดการลดขยะอินทรีย์ของโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค โดยเฉพาะเปลือกหอยนางรมที่เหลือทิ้งจากห้องอาหารบุฟเฟต์ ซึ่งมีปริมาณมากถึง 1 ตันต่อเดือน ด้วยระบบการจัดการและแยกขยะอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถส่งต่อวัสดุเหลือใช้ให้ทีมวิจัยนำไปพัฒนาต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทีมวิจัยแปรรูปเปลือกหอยนางรมเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตเพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตนาโนแคลเซียมฟอสเฟต ที่สามารถเตรียมให้อยู่ในรูปแบบของแข็งลักษณะเป็นผง และของเหลวได้
ตัวอย่างการใช้งานของนาโนแคลเซียมไฮโดรเจนฟอสเฟต สามารถทำให้กระจายตัวในน้ำสำหรับฉีดพ่นบนพื้นที่ต้องการให้มีคุณสมบัติหน่วงไฟ ซึ่งผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน UL94V-0 และสามารถดับไฟได้เองภายใน 10 วินาที โดยไม่มีเปลวไฟหยด และได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เบเยอร์ จำกัด ในการนำดังกล่าวไปวิเคราะห์ และทดสอบเพื่อต่อยอดเป็น "สีหน่วงไฟ" ที่พัฒนาจากขยะอาหารเปลือกหอยนางรมสำหรับครัวเรือน เพื่อใช้ทาอาคารเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพิ่มมูลค่าจากขยะและใช้ในพื้นที่ที่มีกลุ่มเปราะบาง.