นายกเมืองพัทยาทุ่มงบ สร้างป้าย 3 D Walking Street หวังรักษาศูนย์รวมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
หลายคนคงหลงลืมกันไปแล้วว่าตามแผนการฟื้นฟูบูรณะเมืองพัทยานั้น คณะรัฐมนตรี โดยคณะ กรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีมติอนุมัติงบประมาณให้ถมทะเลเพื่อพัฒนาท่าเรือบาลีฮายในปี 2541 พร้อมยังระบุให้มีการรื้อถอนอาคารในส่วนที่รุกล้ำลงไปบนชายหาดจำนวน 101 รายในพื้นที่ Walking Street ฝั่งชายทะเล ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารครอบครองที่ถูกต้อง หรือไม่มีเอกสารสิทธิเลย แต่จนถึงปัจจุบันก็ทำให้เห็นได้ว่านอกจากที่ท้องถิ่นจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งแล้ว ยังริเริ่มจัดสร้างโครงการใหม่ๆขึ้นมาโดยตลอด
โดยระบุว่าเป็นการพัฒนา Walking Street พัทยา ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอันดับ 1 ให้มีสีสันตลอดเวลา ขณะที่หลายคนมองภาพและตั้งข้อสงสัยว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการกระทำที่มีภาคธุรกิจและการเมืองแอบแฝงหรือไม่ จึงมีความพยายามอำพรางมติของรัฐ แล้วมีความพยายามในการปกป้องพื้นที่ปัญหาโดยให้สังคมมองว่าเป็นพื้นที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวที่ไม่สมควรจะถูกรื้อถอนไป แม้ว่าในอดีตพื้นที่แห่งนี้จะมีลักษณะเป็นหมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็ก จนกระทั่งมาถึงยุคของการพัฒนาการท่องเที่ยวจึงมีการรุกล้ำพื้นที่ชายทะเลเพิ่มเติมจากเดิมที่มีหมู่บ้านประมงกลายมาเป็นการต่อเติมสร้างบังกะโลที่พักอาศัย และเปิดกิจการร้านค้า ร้าน อาหาร บาร์เบียร์จำนวนมากในปัจจุบัน
นอกจากนี้แม้จะยังไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่งนานหลายสิบปี แต่ก็ยังปล่อยให้มีการซื้อขายผลัดมือเจ้าของผู้ครอบครอง มีการก่อสร้างต่อเติมอาคารกันอย่างมากมาย
ปัญหาพื้นที่รุกล้ำชายหาด Walking Street พัทยาใต้นั้น ที่ผ่านมายังเคยถูกสรุปให้เป็นพื้นที่ที่ขาดความใส่ใจในเรื่องคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ชายหาดตลอดแนวพัทยาเหนือถึงพัทยาใต้ มีปัญหาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำทะเลสกปรก เสื่อมโทรม และยังมีปัญหาการกัดเซาะอีก จนคาดการณ์ว่าชายหาดพัทยาจะหมดไปในช่วง 30 ปีหลังการสำรวจประมาณปี 2532 โดย “ไจก้า” หรือ เจแปน อินเตอร์เนชั่นแนล เอเจนซี่ ได้รับการมอบหมายจากรัฐบาลไทย ให้เข้ามาศึกษาและวางแผนแม่บทพัฒนาเมืองพัทยา ซึ่งต่อมามีการระบุว่าการก่อสร้างอาคารบนชายหาดพัทยาใต้ หรือ Walking Street นั้น ส่งผลให้ชายหาดขาดความสมดุล เป็นต้นเหตุทำให้หาดพัทยาแคบลงและมีการกัดเซาะกินพื้นที่บริเวณกว้าง จึงเสนอให้ทำการรื้อถอนอาคารที่รุกล้ำเพราะก่อสร้างโดยไม่ถูกกฎหมาย
อย่างไรก็ตามต่อมา คณะกรรมธิการท่องเที่ยวและคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรได้มาสำรวจก่อนมีความเห็นว่าให้ชะลอการรื้อถอนอาคารที่รุกล้ำ 101 รายออกไปตามการเรียกร้องจากกลุ่มนักธุรกิจเจ้าของอาคาร เพราะอยู่ระหว่างการเสนอให้คณะรัฐมนตรี ทบทวนมติกรณีคำสั่งรื้อถอนในปี 2541 โดยให้ถือว่าอาคารเหล่านั้นเป็นเอกลักษณ์ของเมืองพัทยาซึ่งเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยหากมีการรื้อถอนจะส่งผลประทบต่อเศรษฐกิจของเมืองพัทยาเป็นอย่างมาก
แต่ประเด็นที่ทุกฝ่ายควรคำนึงถึงเป็นสำคัญคือ ชายหาดพัทยาใต้ถือเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ประชาชนกลับไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะผู้ประกอบการบางรายไม่มีเอกสารสิทธิครอบครอง ขณะที่บางรายแม้จะมีเอกสารครอบครองแต่การถือสิทธิไม่ใช่การพักอาศัย แต่กลับมีการให้เช่าต่อ ทั้งอาคารที่ผู้เช่าก็เป็นชาวต่างชาติที่ใช้พื้นที่เปิดสถานบริการ ทั้งบาร์รัสเซีย อินเดีย อะโกโก้ ร้านอาหารทะเล ฯเป็นจำนวนมาก และหนาแน่นยิ่งขึ้นจนถึงปัจจุบัน ขัดแย้งกับคำสั่งห้ามก่อสร้างต่อเติมอาคารใดๆในพื้นที่พิพาทนี้อย่างสิ้นเชิง แต่สุดท้ายก็ไม่มีการดำเนินการใดๆจะมีก็แต่ความพยายามจะผลักดันแนวทางพัฒนาเพิ่มเพื่อเสริมศักยภาพพื้นที่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเท่านั้น
ในยุคสมัยหนึ่งเคยมีการนำเสนอโครงการถมทะเลหรือการสร้างถนน พื้นที่สาธารณะเพิ่มหลังแนวอาคารออกไปในทะเลในระยะ 40-50 เมตร แต่สุดท้ายเมื่อมีการยื่นรายงาน EIA เพื่อพิจารณาผลกระทบสิ่งแวด ล้อม ที่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ก็ไม่สามารถดำเนินการให้ได้เพราะถือว่าขัดแย้งกับมติคณะรัฐมนตรีที่มีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารในปี 2541 ที่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการยกเลิกมติดังกล่าวนี้แต่อย่างใด
เมืองพัทยา เองมีแนวคิดว่าพื้นที่ของโครงการนี้ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองพัทยาที่อยู่คู่กันมาเป็นเวลานาน จึงมีแนวคิดในการพัฒนาปรับปรุงเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น แต่จากมติของ ครม.นั้น ที่ผ่านมาเมืองพัทยา จึงได้ทำหนังสือทวงถามไปยังกรมโยธาธิการ และผังเมืองซึ่งรับผิดชอบว่าจะดำเนินการประกาศพระราชกฤษฎีกาเวนคืนเพื่อรื้อถอนอาคารทั้ง 101 รายหรือไม่ เนื่องจากพบว่าในจำนวนนี้ยังมีเจ้าของอาคารที่มีเอกสารสิทธิครอบครองอย่างถูกต้องจำนวนหนึ่ง ส่งผลให้ปัจจุบันยังคงถือเป็นกรณีที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการไปในทิศทางใด จึงได้มีการควบคุม และเฝ้าระวังกลุ่มผู้ประกอบการให้อยู่ในกรอบเดิม โดยไม่มีการอนุญาตให้มีการก่อสร้างต่อเติมใดๆเพิ่ม
สุดท้ายปรากฏว่าที่ผ่านมามีการร้องเรียนผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบ การหลายรายฝ่าฝืนคำสั่ง ด้วยการลักลอบก่อสร้างต่อเติมอาคารในพื้นที่ 101 รายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ก่อนสั่งการผ่านมายังจังหวัดชลบุรี พร้อมมอบหมายให้เมืองพัทยา ร่วมกับสำนักงานเจ้าท่า สำนักงานที่ดิน และอำเภอบางละมุง เข้าร่วมทำการสำรวจและรวบรวมหลักฐานเพื่อส่งกลับไปยังส่วนกลางพร้อมเร่งรัดการดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด
กระทั่งผลการตรวจสอบพบว่ามีผู้กระทำผิดจำนวน 12 ราย เมืองพัทยาจึงมีความจำเป็นต้องออกคำสั่งให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากถือเป็นกรณีตัวอย่างที่มีการเปรียบเทียบกับปัญหาการรุกล้ำทั่วประเทศ จนมาถึงกระบวนการของการออกคำสั่งการรื้อถอนอาคาร หรือ ค.7 ซึ่งมีระยะเวลา 45 วัน โดยคำสั่งดังกล่าวผู้ประกอบการทั้ง 12 ราย ก็สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งได้หากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่ผู้ประกอบการร้องขอให้เมืองพัทยาออกหนังสือประกอบคำร้องอุทธรณ์ว่าพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ควรสงวนไว้ โดยทั่วไปแล้วคงไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเมืองพัทยาอยู่ในฐานะที่เป็นโจทก์ที่ดำเนินคดีต่อเจ้าของอาคาร ดังนั้นการจะแสดงตัวในการปกป้องคงไม่ใช่หน้าที่และถือเป็นเรื่องที่ผิดวิสัย แต่ถึงที่สุดผ่านมาจวบจนปัจจุบันการดำเนินการรื้อถอน ระงับการใช้อาคารก็ขาดความชัดเจน อีกทั้งยังมีโครงการในการพัฒนาต่อเนื่อง
ในยุคปัจจุบันพบว่ามีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน อย่างระบบสายไฟลงดิน การปรับทัศนีย ภาพของพื้นที่ รวมทั้งการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียใหม่ เพื่อรองรับในส่วนของผู้ประกอบการ Walking Street เป็นการเฉพาะ หรือการจัดระเบียบป้ายโฆษณาต่างๆ สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นคำถามที่น่าสงสัยว่าใครบ้างเป็นผู้มีสิทธิตัดสินใจว่าควรจะพัฒนาไปในทิศทางใด การวางแผนศึกษาหรือพัฒนาเมืองพัทยานั้นมีการรับฟังความคิดเห็นจากใครหรือคนกลุ่มใดบ้าง หรือจะจำกัดเป็นการเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการ 101 ราย และชุมชนทั้ง 44 แห่งเท่านั้น จนทำให้หลายคนสงสัยว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาพัวพันหรือมีการเมืองเข้ามาสอดแทรกหรือไม่ ส่วนภาคประชาชนที่มีสิทธิ มีเสียง ได้ร่วมพิจารณาและเลือกแนวทางเหล่านี้ด้วยหรือไม่ อย่างไร
ล่าสุด นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ดำเนินโครงการปรับปรุงจอ LED วอล์คกิ้งสตรีทเมืองพัทยา เพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้มีความทันสมัย สวยงาม สมกับเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก จำนวน 2 จุด ทั้งทางเข้าและทางออก เปลี่ยนเป็นจอ LED ขนาดใหญ่ ที่มีภาพคมชัดสวยงามทั้งกลางวันกลางคืน ปรับเปลี่ยนสีได้ โดยกำหนดกรอบดำเนินงาน 120 วัน เริ่ม 24 เมษายน - 21 สิงหาคม 2568 ในงบประมาณหลายสิบล้านบาท โครงการนี้ทำให้มองเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้เมืองพัทยายังคงให้ความสำคัญเพราะเล็งเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่สร้างประโยชน์ที่ควรรักษาไว้ และเมืองพัทยาในฐานะผู้ดูแลต้องคอยปกป้อง พัฒนากันต่อไป แม้จะมีคำสั่งค้ำคอจากภาครัฐว่าให้ดำเนินการอย่างไรตามมติ ครม.ในปี 2541 สุดท้ายจะตอบกันได้เต็มปากหรือไม่ว่า Walking Street ควรจะให้เดินกันไปทางไหน มีแผนจะเอาพื้นที่สาธารณะคืนเพื่อให้ประชาชนหรือปล่อยให้ทำประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ หรือจำเป็นต้องรักษาไว้เพราะเห็นผลว่าเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และนี่เป็นคำตอบใช่หรือไม่ว่าโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นมากมายเป็นการทำเพื่อส่วนรวมไม่ใช่ประโยชน์เฉพาะด้าน