เปิดมติมส. แนวทางจัดการ ‘พระสงฆ์’ ทำผิดพระธรรมวินัย ‘ครุกาบัติ’
ตามที่มหาเถรสมาคม (มส.) ได้ประชุมวาระพิเศษ เนื่องจากเกิดกรณีมีพระสงฆ์เข้าไปมีสัมพันธ์กับ "สีกากอล์ฟ" จนต้องลาสิกขาไปจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้กระทบต่อความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน โดยการประชุม มส. วาระพิเศษ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2568 มีมติ ดังนี้
1.มส.น้อมรับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชให้ดำเนินการโดยเร่งด่วน โดย มส.และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลและพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ทั้งนี้ มส.มีหน้าที่ธำรงรักษาพระธรรมวินัยและจริยาของคณะสงฆ์ หากปรากฏว่า รูปใดต้องอาบัติปาราชิก ถือว่าสิ้นสุดความเป็นพระภิกษุทางวินัย และต้องสละสมณเพศตามกฎหมายโดยทันที ส่วนในกรณีที่แม้อาบัติยังไม่ถึงขั้นปาราชิก แต่มีความร้ายแรงรองลงมา เช่น อาบัติสังฆาทิเสสทั้ง 13 ข้อ หากผู้ต้องอาบัตินั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะพระสังฆาธิการ หรือเป็นผู้ได้รับสมณศักดิ์ เมื่อความปรากฏ หรือกระบวนการนิคหกรรมพิสูจน์แล้วว่าต้องอาบัติดังกล่าว แม้จะยังคงสถานะภิกษุอยู่ ก็ถือว่าเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง มส.จะดำเนินการปลดจากตำแหน่งเจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกรูป และจะมีมติขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดสมณศักดิ์ต่อไป
2.ในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ตั้งแต่ระดับเจ้าคณะใหญ่จนถึงเจ้าอาวาส ตลอดจนพระวินยาธิการ ต้องสำนึกในหน้าที่และทำตามหน้าที่ให้สมกับตำแหน่งที่ดำรงอยู่ โดยให้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ทุกระดับ ดำเนินการตรวจสอบ ดูแล และกำกับพฤติกรรมของพระภิกษุในปกครองอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง มติคณะสงฆ์ และพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช หากปรากฏพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายละเมิดพระธรรมวินัย ให้เร่งดำเนินการสอบสวนตามกฎมหาเถรสมาคมโดยมิชักช้า แล้วรายงานต่อ มส.โดยเร็ว
3.นโยบายกรณีพระภิกษุถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ ดังนี้
3.1 กรณีพระภิกษุกระทำความผิดทางพระธรรมวินัย หากปรากฏว่ามีมูลหรือเข้าข่ายละเมิดพระธรรมวินัย ให้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ตามลำดับชั้น ออกคำสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินการตามพระธรรมวินัยและกฎหมาย และเป็นหน้าที่ของ มส. พระสังฆาธิการตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 24-27 โดย พศ.จะเป็นผู้รับผิดชอบในการประสานงานและสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว
3.2 ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่มิใช่เจ้าคณะพระสังฆาธิการ ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ปกครอง หรือมิใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยกิจการพระพุทธศาสนาและการคณะสงฆ์ แต่พบเห็นพยานหลักฐาน หรือพฤติการณ์กรณีพระภิกษุกระทำความผิดทางพระธรรมวินัย และมีกุศลเจตนาต่อการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ เข้าบูรณาการความร่วมมือกับเจ้าคณะพระสังฆาธิการ พระวินยาธิการ และพศ. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนทางพระธรรมวินัย กฎหมาย และกฎมหาเถรสมาคม
3.3.ในกรณีที่ยังไม่มีคำพิพากษา การลงโทษตามกระบวนการนิคหกรรม หรือหลักฐานยืนยันความผิดอย่างชัดเจน ทั้งตามกฎหมายบ้านเมืองและพระธรรมวินัย พึงระมัดระวังการให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชน และสาธารณชน ด้วยเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาย่อมถูกสันนิษฐานว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะต้องคำพิพากษา หรือคำตัดสินว่ากระทำความผิด
4.ให้เร่งปรับปรุงกลไกการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปอย่างเข้มงวดรวดเร็ว รอบคอบ และรัดกุม โดยพศ. ต้องทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานหลักระหว่างคณะสงฆ์ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหา ชอบด้วย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้ พศ.ทำหน้าที่รับเรื่องราว ประมวลข้อมูล ข้อเท็จจริง พร้อมเสนอแนวทางการดำเนินการต่อ มส. เพื่อประกอบดำริในการตรากฎหมาย กฎ ระเบียบ ออกคำสั่ง หรือมีมติ หรือนำความกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช เพื่อขอประทานพระวินิจฉัย
5. กระบวนการทั้งปวงต้องจัดลำดับความสำคัญของการตรากฎหมาย กฎ ระเบียบ ออกคำสั่งหรือมีมติ ตามหลักความสำคัญเชิงนโยบาย ดังนี้
5.1 หลักพระธรรมวินัย
5.2 หลักความยุติธรรม ปราศจากอคติ รอบคอบ รัดกุม รวดเร็ว เป็นอิสระ คำนึงถึงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
5.3 หลักการปกครองคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง และมติเจ้าคณะพระสังฆาธิการผู้ปกครองคณะสงฆ์ตามลำดับ สิ้นสุดที่ มส. และพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ทั้งนี้ การปกครองบังคับบัญชาคณะสงฆ์ ตัองกระทำโดยผู้มีอำนาจตามพระธรรมวินัยและกฎหมายเท่านั้น
5.4 หลักการบังคับใช้พระธรรมวินัย กฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง และมติ อันเป็นส่วนปกครองคณะสงฆ์ อย่างเข้มงวด จริงจังต่อผู้ละเมิดพระวินัย โดยได้ดุลยภาพกับการปกป้องคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ หรือผู้ถูกสันนิษฐานว่ายังบริสุทธิ์ มิให้ได้รับผลร้ายจากกระบวนการอันมิชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง และมติคณะสงฆ์ อีกทั้งความเสียหายจากกระแสข้อมูลข่าวสารอันคลาดเคลื่อน
6.แนวทางการทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบของคณะสงฆ์ว่าด้วยการกระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ มส.เห็นควรขอประทานพระวินิจฉัยสมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาโปรดให้แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อคุ้มครองพระพุทธศาสนาขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีหน้าที่ศึกษาและทบทวนกฎมหาเถรสมาคมที่เกี่ยวข้องกับนิคหกรรม อำนาจตามกฎหมายของพระสังฆาธิการ พระวินยาธิการ และข้าราชการ พศ. ขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน แนวทางการสื่อสารกับสาธารณชน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพระภิกษุผู้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา หรือถูกสันนิษฐานว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมถึงแนวทางบูรณาการภารกิจร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย