ยอมแลกอะไรบ้าง? ส่องดีลภาษีทรัมป์ "เวียดนาม - อินโดนีเซีย" 2 ชาติอาเซียน แซงหน้าประเทศไทย
UPDATE : "ภาษีทรัมป์" กับ "10 ชาติอาเซียน"
ส่องข้อตกลงการค้า สหรัฐฯ กับ "เวียดนาม" และ "อินโดนีเซีย"
นับถอยหลังสู่เส้นตาย 1 สิงหาคม 2568 วันที่ "ภาษีทรัมป์" จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำแห่งสหรัฐฯ ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ หรือต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ไปยังคู่ค้าต่างๆทั่วโลก ที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดอันดับต้นๆในการเรียกเก็บภาษีครั้งนี้ โดยล่าสุดประเทศไทยถูกเรียกเก็บที่อัตรา 36 % ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชีย และทั่วโลก (อ้างอิงจาก SCBEIC) โดยเฉพาะการถูกเปรียบเทียบกับกลุ่มชาติอาเซียนด้วยกัน เพราะจะกระทบกับขีดความสามารถด้านการแข่งขัน เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลักที่สำคัญของประเทศไทย และเราพึ่งพารายได้จากการส่งออก
ล่าสุดประเทศอินโดนีเซียและสหรัฐฯ ไปประกาศบรรลุข้อตกลงทางการค้า หรือปิดดีลภาษีเป็นที่เรียบร้อยเป็นชาติที่ 2 ของอาเซียนต่อจากเวียดนาม (16 กรกฎาคม 2568) โดยได้ลดภาษีเหลือ 19% จากเดิม 32% ภายใต้ข้อตกลงการค้า คือ อินโดนีเซียจะยอมเปิดเสรีตลาดให้แก่สินค้าจากสหรัฐฯ หรือเรียกเก็บภาษี 0% ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเนื้อหมู พร้อมกันนี้ยังทำสัญญาเตรียมซื้อสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มเติมอีก ทั้งพลังงาน วงเงิน 15,000 ล้านดอลลาร์, สินค้าเกษตร วงเงิน 4,500 ล้านดอลลาร์ และสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 50 ลำ รวมไปถึงรุ่น 777 อีกด้วย
ขณะที่ชาติแรกของอาเซียนที่สามารถปิดดีลภาษีทรัมป์ได้สำเร็จ คือ ประเทศเวียดนาม โดยได้ลดภาษีเหลือ 20% จากเดิมอยู่ที่ 46% ภายใต้ข้อตกลงสำคัญ คือ เปิดเสรีตลาดให้แก่สหรัฐฯ ยกเว้นภาษี หรือเก็บภาษี 0% แต่อย่างไรก็ตามหากเวียดนามส่งออกสินค้าทางผ่าน Transshipment ไปยังสหรัฐฯ จะยังคงถูกเก็บภาษีนำเข้าที่อัตรา 40% รวมไปถึงเวียดนามจะต้องเพิ่มการสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ให้มากกว่าเดิมด้วย
ดังนั้นเมื่อกลับมามองที่ภาพรวมของ 10 ชาติอาเซียนตอนนี้ ประเทศไทยอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก จากการอยู่ในอันดับต้นๆของตารางที่ถูกเรียกภาษีในอัตราที่สูงกว่าชาติอื่นๆ หากเราต่อรองเจรจาไม่สำเร็จ ประเทศไทยจะเป็นรองเพียงแค่เมียนมาและลาว ที่ถูกเรียกเก็บภาษีที่ 40 %
"ไทย" ลุ้นสหรัฐฯปิดดีลก่อนเส้นตาย 1 สิงหาคม 2568 คาด 20% ตามภูมิภาค
ความคืบหน้าและความหวังในการเจรจาการค้ากับทางสหรัฐฯ ล่าสุดนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวคณะเจรจาทีมไทยแลนด์ เปิดเผยว่า หลังจากมีพูดคุยกับผู้แทนทางการค้าสหรัฐฯ USTR เป็นครั้งที่ 2 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อคืนวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยการหารือใช้เวลา 30 นาทีเต็มตามกรอบเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า พบว่าการบรรยากาศการเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่นและสร้างสรรค์
โดยฝ่ายไทยได้ส่งข้อเสนอที่ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติม ซึ่งสะท้อนความตั้งใจในการตอบสนองข้อกังวลของสหรัฐฯ ครอบคลุมทั้งเรื่องภาษีนำเข้า การเปิดตลาด การค้าผ่านแดน การลงทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงระบบของเศรษฐกิจไทยอย่างสมดุล
ขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯมีท่าทีเป็นบวก และเห็นพ้องกับหลักการสำคัญของไทยหลายประการ โดยเฉพาะแนวทางที่เน้นการสร้างสมดุลผลประโยชน์ระหว่างภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก (SMEs) และการเปิดตลาดนำเข้า ซึ่งเป็นจุดแข็งของข้อเสนอรอบนี้
สำหรับสินค้าบางรายการที่ยังคงเป็นประเด็นกังวล รัฐบาลจะมีมาตรการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งในรูปแบบของมาตรการปกป้องภายในประเทศ และการเจรจาเชิงลึกกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย พร้อมย้ำว่า ข้อเสนอของไทยไม่ใช่การยอมถอย แต่เป็นแนวทางแบบ “Win-Win” ที่ไทยเองต้องเติบโตและแข่งขันได้ในตลาดโลกไปพร้อมกัน
รัฐมตรีคลังย้ำว่าการเปิดตลาดไม่ได้หมายถึงแค่ลดการขาดดุล แต่มองไปที่การสร้างโอกาสเชิงรุกให้เศรษฐกิจไทยโตได้อย่างยั่งยืน การเปิดตลาดควรทำควบคู่กับการยกระดับประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ทั้งในด้านต้นทุน คุณภาพสินค้า และนวัตกรรม
ขณะที่ตัวเลขของอัตราภาษีนำเข้าที่ไทยจะได้รับพิจารณาใหม่นั้น นายพิชัยระบุว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจากฝั่งสหรัฐฯ แต่จากบรรยากาศของการเจรจาที่เป็นไปอย่างดี ขณะที่ข้อเสนอเพิ่มเติมถือว่าเป็นข้อเสนอที่ดีมาก คาดว่าไทยจะได้รับอัตราภาษีนำเข้าในระดับเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาค หรือคาดว่าจะไม่เกิน 20% ตามทิศทางของภูมิภาค และหากเป็นไปได้ตามนี้ ก็ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของการเจรจาครั้งนี้
นายพิชัย กล่าวว่า "จากท่าทีและบรรยากาศโดยรวมเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าไทยจะได้รับอัตราภาษีในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เราคุยกันบนหลักการที่ชัดเจน ไม่มีอะไรคลุมเครือ และข้อเสนอของไทยถือว่ามีความคืบหน้าอย่างมาก เมื่อถามว่าอะไรที่ส่งสัญญาณว่าบรรยากาศเป็นไปด้วยดี ก็เพราะเขาพูดว่า Very Substantial Improvement”
ทั้งนี้ ประเทศไทยคาดว่า ผลการเจรจารอบนี้จะถูกรายงานต่อผู้บริหารระดับสูงสูงของสหรัฐฯโดยตรง และคาดว่าจะได้รับคำตอบภายในเร็วๆนี้ ซึ่งก่อนขีดเส้นตายวัน 1 สิงหาคม 2568
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อัพเดท “ภาษีทรัมป์” ชาติเอเชีย ไทยเจอภาษีสูงสุดอันดับ 2
- หอการค้ามอง"ภาษีทรัมป์"โอกาสสินค้าเกษตร
- "บลูมเบิร์ก" เผยไทยยื่นข้อเสนอใหม่ "ภาษีทรัมป์" ยกเลิกภาษีสินค้าอเมริกัน 90 % จากเดิม 60%
- "พิชัย" คุย USTR รอบสอง มั่นใจข้อเสนอใหม่ตรงเป้า "ภาษีทรัมป์" ย้ำบาลานซ์อุตสาหกรรมไทย
- "เวียดนาม" เร่งปฎิรูปตลาดการเงิน หวังยกสถานะสู่ตลาดเกิดใหม่ในปี 2568 ดูดเงินลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์