ความริเริ่มระดับภูมิภาคอินโดจีน ภายใต้ ‘อนุสัญญาแรมซาร์’
ความริเริ่มระดับภูมิภาคอินโดจีน ภายใต้ "อนุสัญญาแรมซาร์" (Indo – Burma Ramsar Regional Initiative: IBRRI)
ความริเริ่มระดับภูมิภาคอินโดจีน-พม่า ภายใต้ อนุสัญญาแรมซาร์ (IBRRI) เป็นเครือข่ายความร่วมมือระดับภูมิภาคระหว่างประเทศภาคีสมาชิกจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และราชอาณาจักรไทย
ได้รับการสนับสนุนจาก IUCN ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขาธิการของคณะทำงานผ่านสำนักงานภูมิภาคเอเชียในแต่ละประเทศ
วัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์และแผนยุทธศาสตร์ของประเทศภาคีทั้ง 5 ประเทศ เสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานด้านพื้นที่ชุ่มน้ำในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนโครงสร้างและการดำเนินงานที่ยั่งยืน เพื่อให้การประสานงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ใน 4 ด้าน ได้แก่
- ด้านวิทยาศาสตร์และความรู้ : ส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคโดยการสนับสนุนการวิจัยร่วมกันในการจัดการและการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดในพื้นที่ชุ่มน้ำ
- ด้านการกำหนดและการจัดการพื้นที่ : การพัฒนาหรือสนับสนุนการพัฒนาแผนการจัดการและ กฎระเบียบ/เครื่องมือการจัดการสำหรับพื้นที่ชุ่มน้ำ
- ด้านนโยบายและการสนับสนุน : ส่งเสริมการเจรจาระดับภูมิภาคในการพัฒนานโยบายการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ โดยการแลกเปลี่ยนนโยบายที่มีอยู่และการทำงานร่วมกันเพื่อการปรับปรุง
- ด้านการเสริมสร้างศักยภาพและการรับรู้ : สนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถโดยการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมและโครงการและหลักสูตรการศึกษา
สำหรับบทบาทของประเทศไทยในการเป็นประเทศสมาชิกนั้น ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำได้รับการรับรองให้เป็นประธาน IBRRI ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2567 และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี
โดยเมื่อวันที่ 18–21 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักเลขาธิการ IBRRI (องค์การะหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ : IUCN) จัดการประชุมความริเริ่มระดับภูมิภาคอินโดจีน–พม่า ภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ (IBRRI) ครั้งที่ 8 ขึ้น ณ สำนักงาน IUCN โรงแรมฮอลิเดย์ อิน กรุงเทพมหานคร และศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี จังหวัดสมุทรปราการ
ทั้งนี้ การประชุมฯ และกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก การกำหนดยุทธศาสตร์และพิจารณาแผนการดำเนินงาน ทั้งในเชิงนโยบาย วิชาการ สนับสนุนการสร้างขีดความสามารถ อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำในภูมิภาค อินโดจีน–พม่า ตามกรอบอนุสัญญาแรมซาร์ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อรวบรวมความเห็น ซึ่งผลการพิจารณาจะนำเสนอในการประชุม cop15 ต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- การบูรณาการเพื่อความยั่งยืน ของ ‘พื้นที่ชุ่มน้ำ’
- 'บางปู' พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ
- พื้นที่ชุ่มน้ำ 'รากฐานของชีวิตและวัฒนธรรม'
ติดตามเราได้ที่